ก.แรงงานรับแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวให้นายจ้าง


708 ผู้ชม


ก.แรงงานรับแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวให้นายจ้าง




 กระทรวงแรงงานรับหนังสือจากผู้แทนภาคเกษตรกร จำนวน 24 คน เพื่อขอให้แก้ไขเกี่ยวกับการจัดระบบ - ระเบียบแรงงานต่างด้าวของจังหวัดระยองและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างมาก  และต้องการให้หน่วยงานภาครัฐมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว
                      วันนี้ 14   มีนาคม 2551 นายไพโรจน์  สุขสัมฤทธิ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน  เผยหลังรับหนังสือร้องทุกข์จากผู้แทนภาคแรงงานว่า วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นางอุไรวรรณ  เทียนทอง) ติดภารกิจสำคัญ  จริงๆ แล้วท่านอยากฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้วยตัวของท่านเองจะได้ช่วยแก้ไขได้ตรงประเด็น  ทราบว่าผู้แทนภาคเกษตรเดือดร้อนในเรื่องปัญหาของการขาดแคลนแรงงาน ทั้งแรงงานไทย แรงงานต่างด้าว รวมทั้งโรคติดต่อร้ายแรงที่มากับแรงงานต่างด้าว   ซึ่งข้อเสนอที่ได้แนะนำมานั้น กระทรวงแรงงานรับไว้   และได้มอบให้กรมการจัดหางานแจ้งเป็นหนังสือชี้แจงท่าน  ภายใน 7 วัน ขอยืนยันว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดจะได้รับคำตอบแน่นอน
                      นายวีรพล  แสงฉวี แกนนำกลุ่มเกษตรกรจังหวัดระยอง  กล่าวว่า  " วันนี้มีผู้แทนจากภาคเกษตรผู้ปลูกสับปะรด  มันสำปะหลัง สวนผลไม้ และภาคประมง มาขออนุญาตหารือ ขอให้ท่านรัฐมนตรี ช่วยแก้ปัญหาจริงๆ  แล้วไม่ได้อยากทำให้มีปัญหา  และไม่อยากมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ เพราะใครๆ ก็รักประเทศชาติ  แต่ทุกวันนี้ประสบปัญหามากไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันแพง  ราคาปุ๋ย  ยาแพง  ผลผลิตราคาตกต่ำ  แรงงานขาดแคลนอย่างมาก  อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องโรคติดต่อ  อาทิมาเลเรีย และวัณโรค จากแรงงานต่างด้าวอีกด้วย"
                     ทั้งนี้ภาคเกษตรกรได้เสนอแนะเกี่ยวกับการจัดระบบ-ระเบียบแรงงานต่างด้าว  อาทิ  เปิดให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีบัตรประจำตัวต่างด้าว หรือไม่เคยมี ทร.38 จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวใหม่ทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย    และสามารถจดทะเบียนแรงงานด้าวได้ตลอดปี  ผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวทุกคน  เช่น  ภรรยา  ลูก ให้นำมาจดทะเบียนและตรวจโรคโดยเก็บค่าใช้จ่ายทั้งหมด   ควรมีการสแกนลายนิ้วมือ เพื่อจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้มีการตรวจโรคก่อนทุกครั้งที่จะทำบัตรใหม่  และทุกปีควรออกกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ชัดเจน  แน่นอน  กรณีเปลี่ยนนายจ้างโดยไม่มีเหตุผล ควรกำหนดห้ามเปลี่ยนนายจ้างภายในระยะเวลา 1 ปี ควรกำหนดให้บัตรประชาชนของแรงงานต่างด้าวมีสีที่แตกต่างกันในแต่ละอาชีพ เช่น ภาคอาชีพเกษตร  ภาคอาชีพประมง  ภาคอุตสาหกรรมอาหาร  และเปิดโอกาสให้มีเวทีเพื่อให้นายจ้างแต่ละสาขาได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นก่อนดำเนินการกำหนดนโยบายแต่ละครั้ง  เป็นต้น
                     อนึ่ง มีการประชุมของคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) เรื่อง การจัดระบบการจ้างแรงงานต่าวด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2551  โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่งผลสำรวจจากทุกจังหวัดพบว่าในปี 2551 นายจ้างมีความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือประมาณ 1.2 ล้านคน มีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักร  และมีใบอนุญาตทำงานในปี 2550 จำนวน 546,272 คน และเพื่อให้เศรษฐกิจของกิจการที่จ้างคนต่างด้าวได้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง (ไม่ทุกกิจการ)  ซึ่งรวมถึงกิจกรรมที่ไม่สามารถจัดหาแรงงานไทยเข้ามาทำงานทดแทนแรงงานต่างด้าว  จึงควรพิจารณาผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่ไม่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในระบบการจ้างงานต่อไป  โดยนายจ้างยังมีความขาดแคลนแรงงานอีกกว่า 600,000 คน แม้จะมีการนำเข้าแรงงานใหม่จากลาว  และกัมพูชา  ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานระหว่างรัฐ (MOU) ก็ยังมีจำนวนไม่พอเพียง จึงควรแก้ไขปัญหาด้วยการเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองทั้งสามสัญชาติที่เคยรายงานตัวทำทะเบียนประวัติไว้กับกรมการปกครอง (มี ท.ร.38/1) แต่ปัจจุบันมีสถานภาพเป็นคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับการผ่อนผันเพราะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของประกาศกระทรวงมหาดไทย ได้กลับเข้าสู่ระบบการผ่อนผันและได้รับอนุญาตให้ทำงานต่อไป

ที่มา : mol.go.th


อัพเดทล่าสุด