รมว.แรงงานมอบนโยบาย 14 จังหวัดใต้ขับเคลื่อน 16 นโยบายด้านแรงงาน


834 ผู้ชม


รมว.แรงงานมอบนโยบาย 14 จังหวัดใต้ขับเคลื่อน 16 นโยบายด้านแรงงาน




วันที่  19 มีนาคม  2551 เวลา 09.00 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  มอบนโยบายแก่ผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานใน 14  จังหวัดภาคใต้  ณ โรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า  จังหวัดสงขลา
                    นางอุไรวรรณ  เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า  กระทรวงแรงงานได้เตรียมความพร้อมรองรับทุกสถานการณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านแรงงาน  ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าภาวะด้านแรงงานมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลถึงความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ นักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ  เกิดภาวะการชะลอการลงทุน ชะลอการขยายกิจการ ชะลอการจ้างงาน ในขณะที่การผลิตคนเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานของภาคการศึกษายังมีอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ของการเปลี่ยนแปลงของภาวะด้านแรงงาน
                            จากการที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 18  กุมภาพันธ์ 2551 นั้น  มีนโยบายหลายด้านที่มีความเกี่ยวโยงหรือสัมพันธ์กับภารกิจหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน  นำมาสู่การกำหนดนโยบาย 16 ข้อ  ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ  ได้แก่  1.) การเร่งนำข้อเรียกร้องขององค์กรแรงงานในวันแรงงาน แห่งชาติมาพิจารณาดำเนินการให้สำเร็จ ลุล่วง  2.) ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานทั้งในด้านค่าจ้างความปลอดภัยสุขภาพ    สวัสดิการต่าง ๆ  3.) การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 4.) เร่งดำเนินการจัดโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม 5.) การคุ้มครองดูแลในเรื่องสิทธิ  สวัสดิการและผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานที่เหมาะสมแก่แรงงานนอกระบบ  6.) เร่งส่งเสริมการขยายตลาดแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ  7.) ให้เร่งดำเนินการจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าว 8.) ให้เร่งดำเนินการ ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและ สภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ   9.) การแก้ไขปัญหาการเลิกจ้าง  10.) อาสาสมัครแรงงาน  11.) ค่าจ้าง  12.) แรงงานผู้สูงอายุ  13.) การแก้ไขกฎหมาย โดยมีการเร่งรัดดำเนินการนำร่างกฎหมายที่ค้าง การพิจารณาให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการประกาศใช้บังคับโดยเร็ว  เช่น ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  พ.ศ. ....  ร่างพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองแรงงาน  (ฉบับที่...)  พ.ศ....     โดยให้เร่งรัดปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ คำสั่งต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ ที่ปรับปรุงแก้ไขใหม่ซึ่งได้ประกาศใช้บังคับแล้วเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว   14.) การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  15.) สิทธิประโยชน์  แรงงานด้านต่างๆ  ให้ทุกหน่วยงานได้ส่งเสริมให้แรงงานได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการต่าง ๆ     ในเรื่องที่มีผลกระทบเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของแรงงานตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ   พ.ศ. 2550  16.) การวางระบบเตือนภัยด้านแรงงานให้ดำเนินการจัดทำระบบเตือนภัยด้านแรงงาน   โดยมีดัชนีเครื่องชี้วัดด้าน แรงงานเพื่อชี้นำและเตือนภัยในระดับต่าง ๆ   เช่น  ระดับปกติ ระดับเตือน   หรือระดับอันตราย เพื่อใช้ในการบริหาร วางแผน และกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันและอนาคต
                            ทั้งนี้  สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา  อำเภอจะนะ  นาทวี  เทพา  และสะบ้าย้อย  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบและกระทรวงแรงงานให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ  ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจ้างแรงงานบัณฑิตอาสาสมัครในทุกตำบล ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่  อำเภอ  จะนะ  นาทวี  เทพา  และสะบ้าย้อย จำนวน 294 คน ให้เข้าทำงานในท้องถิ่นของตน  เพื่อนำบริการของกระทรวงแรงงานเข้าสู่ประชาชนได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึง  โดยบุคคลเหล่านี้จะมีรายได้ค่าตอบแทน คนละ 7,630 บาท รวมทั้งเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทนพิเศษรายเดือน และเงินสมทบประกันสังคม  รวมรายได้ทั้งหมดจำนวน 9,252 บาทต่อเดือน 
                            สำหรับข้อมูลด้านกำลังแรงงาน ในจังหวัดสงขลา มีประชากรทั้งหมด จำนวน 1,356,391 คนเป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 759,474 คน  ผู้มีงานทำ 743,196 คน  โดยร้อยละ 36.07 (268,054 คน) ทำงานในภาคเกษตรกรรม และร้อยละ 63.93 (475,142 คน)  ทำงานนอกภาคเกษตรกรรม โดยทำงานในสาขาการขายส่ง การขายปลีก  การซ่อมแซมยานยนต์ มากที่สุด จำนวน 146,590 คน (ร้อยละ 30.85 )  รองลงมาคือสาขาการผลิต จำนวน 78,354 คน(ร้อยละ 16.49) โดยผู้มีงานทำส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษา จำนวน 189,247 คน (ร้อยละ 25.46) และมีสถานภาพการทำงานเป็นลูกจ้างเอกชน  จำนวน 282,224 คน (ร้อยละ 37.97) ทั้งนี้มีแรงงานต่างด้าว ที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับอนุญาตให้ทำงาน จำนวน 1,827 คน   สำหรับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ได้พัฒนาผู้ใช้แรงงานในหลักสูตรต่าง ๆ อาทิ การฝึกเสริมทักษะฝีมือแรงงาน  การฝึกเตรียมเข้าทำงาน  การฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน และการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน  เพื่อเพิ่มศักยภาพฝีมือแรงงานไทยให้มีมาตรฐานฝีมือทัดเทียมประเทศต่าง ๆ ส่วนในด้านของการคุ้มครองลูกจ้าง นายจ้าง ให้ได้รับความเป็นธรรมในการจ้างงาน  การคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความเป็นธรรมจากการจ้างงานภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานเพื่อไม่ให้ลูกจ้างถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุด คือ ให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น   ซึ่งจังหวัดสงขลามีสถานประกอบการ จำนวน 345 แห่ง   รวมทั้งด้านการประกันสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีมีหลักประกัน และมีหลักประกันชีวิตที่มั่นคงเมื่อยามแก่ชรา  พบว่า มีสถานประกอบการและลูกจ้างที่อยู่ในเครือข่ายกองทุนเงินทดแทน จำนวน 7,861 แห่ง มีลูกจ้าง 159,701 คน

ที่มา : https://www.mol.go.th/


อัพเดทล่าสุด