สิทธิประโยชน์ด้านแรงงานสัมพันธ์
1. การรวมตัวเป็นองค์การ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 กำหนดให้สิทธินายจ้างและ ลูกจ้างรวมตัวกันได้ในหลายรูปแบบ 1.1 ในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ลูกจ้างอาจจัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้นได้ และนายจ้างต้องจัดให้มีการประชุมหารือกับคณะกรรมการลูกจ้างอย่างน้อย 3 เดือน / ครั้ง 1.2 ลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป สามารถยื่นคำขอจัดตั้งสหภาพ แรงงานได้ 1.3 นายจ้างตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป สามารถยื่นคำขอจัดตั้งสมาคม นายจ้างได้ 1.4 การจัดตั้งสหพันธ์นายจ้าง และสหพันธ์แรงงาน (1) สหพันธ์นายจ้าง เกิดจากสมาคมนายจ้างตั้งแต่สองสมาคม ขึ้นไป ที่มีสมาชิกประกอบกิจการประเภทเดียวกันรวมกันจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหพันธ์นายจ้างได้ มีสภาพเป็นนิติบุคคล (2) สหพันธ์แรงงาน เกิดจากสหภาพแรงงานตั้งแต่สองสหภาพขึ้นไปที่มีสมาชิกเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกันหรือมีสมาชิกทำงานในกิจการประเภทเดียวกัน รวมกันจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหพันธ์แรงงาน มีสภาพเป็นนิติบุคคล 1.5 การจัดตั้งสภาองค์การนายจ้างและสภาองค์การลูกจ้าง (1) สภาองค์การนายจ้าง เกิดจากสมาคมนายจ้างหรือสหพันธ์นายจ้างไม่น้อยกว่า 5 แห่ง รวมกันจดทะเบียนจัดตั้ง สภาองค์การนายจ้าง มีสภาพเป็นนิติบุคคล (2) สภาองค์การลูกจ้าง เกิดจากสหภาพแรงงานหรือสหพันธ์แรงงานไม่น้อยกว่า 15 แห่ง รวมกันจดทะเบียนจัดตั้ง สภาองค์การลูกจ้าง และ มีสภาพเป็นนิติบุคคล 2. การเจรจาต่อรอง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้สิทธิแก่ลูกจ้าง นายจ้าง และองค์การตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กำหนดหรือเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังนี้ 2.1 ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป จัดให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้เป็นหนังสือ หากไม่มี ให้ถือว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง 2.2 การยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้ยื่นเป็นหนังสือแจ้งอีกฝ่ายหนึ่งทราบ โดย (1) ลูกจ้าง 15 % สามารถเข้าชื่อกัน ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างหรือสหภาพแรงงานที่มีสมาชิก 20 % ของลูกจ้างทั้งหมด สามารถยื่นข้อเรียกร้องแทนลูกจ้างที่เป็นสมาชิกได้ (2) ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างต้องเริ่มเจรจากันภายใน 3 วัน นับแต่วันรับข้อเรียกร้อง 2.3 หลังจากยื่นข้อเรียกร้องแล้ว (1) กรณีนายจ้างและลูกจ้างเจรจาตกลงกันได้ ให้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือ และติดประกาศโดยเปิดเผย และนายจ้างต้องนำข้อตกลงไปจดทะเบียนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ตกลงกันได้ (2) กรณีนายจ้างและลูกจ้างเจรจาตกลงกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเจรจากันแล้วภายใน 3 วัน หรือไม่มีการเจรจากันให้ถือว่ามีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น ให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องแจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ภายใน 24 ชม. 2.4 พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน จะดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ตกลงกันภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าตกลงกันได้ ให้ทำข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือและนำไปจดทะเบียน หากตกลงกันไม่ได้ ถือว่าเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ 2.5 กรณีเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ทั้ง 2 ฝ่าย อาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ (1) นายจ้าง ลูกจ้าง ให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไกล่เกลี่ยต่อไปจนยุติ (2) ตกลงกันตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานโดยสมัครใจ (3) นายจ้างจะปิดงาน หรือลูกจ้างจะนัดหยุดงานได้ แต่ต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งและแจ้งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อน 24 ชั่วโมง 2.6 ในขณะที่ลูกจ้างนัดหยุดงาน หรือนายจ้างปิดงาน ทั้งสองฝ่ายจะให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไกล่เกลี่ยหรือ เจรจากันเองจนยุติได้ หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เห็นว่าการใช้สิทธิดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศหรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจเป็น ภัยต่อความมั่นคงของประเทศ มีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างเลิกนัดหยุดงานและนายจ้างเลิกปิดงานและสั่งให้บุคคลอื่นเข้าทำงานแทน และสั่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานโดยทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาด 2.7 ระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยหรือการชี้ขาด ห้ามมิให้เลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง หรือสมาชิกสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดโดยเจตนา แก่นายจ้าง หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ฯลฯ |
แหล่งข้อมูล : กระทรวงแรงงาน