มาตรฐานแรงงานสากล ปัญหาการจ้างงานชั่วคราว และบทบาทสหภาพแรงงาน ตอน 3


858 ผู้ชม


มาตรฐานแรงงานสากล ปัญหาการจ้างงานชั่วคราว และบทบาทสหภาพแรงงาน ตอน 3




เมื่อวันที่ 4 – 5 .. 51 ที่ศูนย์ฝึกอบรมชุมชนน้ำใจและไมตรี จ.สุพรรณบุรี ศูนย์กลางศึกษาสหภาพแรงงาน, โครงการรณรงค์สากล ICEM เรื่องปัญหาการจ้างงานชั่วคราว และโครงการ ICEM MNCs & Social Dialogue ได้ทำการจัดเสวนาเรื่อง มาตรฐานแรงงานสากล ปัญหาการจ้างงานชั่วคราว บทบาทสหภาพแรงงาน โดยมีการเสวนาในประเด็นของปัญหาสหภาพแรงงานและปัญหาการต่อสู้ของแรงงานจ้างเหมาค่าแรง

 

มาตรฐานสากลสำหรับนักสหภาพแรงงาน

ก่อนเข้าสู่หัวข้อการบรรยาย ยูน โฮวัน ผู้ประสานงาน ICEM ได้เกริ่นแนะนำถึงองค์กร ICEM หรือชื่อเต็มคือ ็มInternational Chemical, Energy, Mine and General Workers ซึ่งเป็นสมาพันธ์แรงงานระดับโลก (Global Union Federation) ที่จัดตั้งบนฐานของอุตสาหกรรมโดยการรวมตัวกันจัดตั้งของคนงานในภาคต่างๆ โดย ICEM เป็นองค์กรของของคนงานอย่างแท้จริงและมีเป้าหมายหลักคือการสร้างพลังสมานฉันท์แรงงานในทางปฏิบัติ  

 

สมาชิกของ ICEM เป็นสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมราว 379 สหภาพฯ ใน 123 ประเทศ ICEM เป็นหนึ่งในองค์กรหลักๆของการจัดตั้งขบวนการแรงงานนานาชาติซึ่งเป็นขบวนการเดียวในโลกที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบเพื่อต่อสู้กับทุนระดับโลก ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

 

จากนั้นยูนได้นำเสวนาในประเด็นมาตรฐานแรงงานสากล โดยยูนกล่าวว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเพื่อให้การปฏิบัติต่อคนงานในสถานประกอบการเป็นไปอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เช่นการเคารพสิทธิลูกจ้าง, ค่าจ้าง-สวัสดิการที่เท่าเทียม, สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อสหภาพแรงงาน, การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของนายจ้างให้กับสหภาพแรงงาน,

 

ทั้งนี้มาตรฐานแรงงานสากลมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับนายจ้างที่เป็นบรรษัทข้ามชาติที่ไปลงทุนดำเนินกิจการในประเทศต่างๆจำเป็นต้องดำเนินกิจการบนพื้นฐานหรือมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

มาตรฐานสากลสำหรับนักสหภาพแรงงาน ที่ควรทราบได้แก่

 

มาตรฐานสากลขององค์กรสหประชาชาติ (UN Global Compact)

UN Global Compact เป็นมาตรฐานสากลที่ริเริ่มขึ้นโดยนายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ โดยมาตรฐานสากล UN Global Compact นี้มีการประกาศที่เวทีการประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เมื่อวันที่ 31 มกราคม 1999

 

เป้าหมายของ UN Global Compact ก็คือการรวมเอาองค์กรธุรกิจ หน่วยงานของยูเอ็น แรงงาน ประชาสังคม และรัฐบาลต่างๆ เพื่อพัฒนาและรับหลักปฏิบัติสากล 10 ประการในด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการคอร์รัปชัน Global Compact จะมุ่งให้ความสำคัญกับหลักปฏิบัติ 10 ประการเหล่านี้ในกิจกรรมทางธุรกิจทั่วโลกและกระตุ้นการดำเนินการต่างๆ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของยูเอ็นผ่านทางอำนาจในการดำเนินการร่วมกัน

 

UN Global Compact มีสาระสำคัญด้วยเรื่องที่ควรทราบได้แก่

·        สนับสนุนและเคารพการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

·        การกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

·        เสรีภาพในการสมาคมและการยอมรับสิทธิการเจรจาต่อรองร่วม

·        ขจัดการใช้แรงงานบังคับทุกรูปแบบ

·        ยกเลิกการใช้แรงงานเด็ก

·        ขจัดการเลือกปฏิบัติในอาชีพและการจ้างงาน

·        สนับสนุนมาตรการ/วิธีการที่ป้องกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

·        ส่งเสริมแนวทาง/มาตรการที่ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

·        ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

·        ขจัดการคอรัปชั่นทุกรูปแบบ รวมถึงการติดสินบนและการใช้อำนาจบังคับ

 

 

มาตรฐานแรงงานหลักขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO เป็นองค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานแรงงานสากลในรูปแบบที่รู้จักกันในนามของอนุสัญญา ILO เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิง ด้านสิทธิแรงงานสำหรับสหภาพแรงงานเพื่อใช้ในการส่งเสริมสิทธิของลูกจ้างในการเจรจาต่อรองกับนายจ้างและรัฐบาล โดย ILO มีนโยบายว่าอนุสัญญาหลักมีผลบังคับใช้สำหรับทุกประเทศและทุกบริษัท รวมถึงประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาหลักของ ILO อนุสัญญาหลักมี 4 เรื่อง (8 อนุสัญญา) ได้แก่

 

เสรีภาพในการสมาคมและการยอมรับสิทธิการเจรจาต่อรองร่วม(อนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98)

·        การตั้งองค์กรและการเข้าเป็นสมาชิก เป็นสิทธิการตัดสินใจของคนงานโดยไม่ต้องขออนุญาตใคร

·        การร่างข้อบังคับและกฎขององค์กร เป็นสิทธิการตัดสินใจของคนงาน

·        การเลือกผู้แทนขององค์กร เป็นสิทธิการตัดสินใจของคนงาน

·        การดำเนินกิจการขององค์กร เป็นสิทธิการตัดสินใจของคนงาน

·        ภาครัฐจะต้องไม่แทรกแซงใดๆ อันส่งผลต่อการจำกัดสิทธิ

·        ภาครัฐไม่มีสิทธิยุบหรือพักการดำเนินกิจการขององค์กร

·        การรวมองค์กรเข้าด้วยกัน เป็นสิทธิการตัดสินใจของคนงานและองค์กร

 

การยกเลิกการใช้แรงงานภาคบังคับทุกรูปแบบ(อนุสัญญาฉบับที่ 29 และ 105)

 

การยกเลิกการใช้แรงงานเด็ก (อนุสัญญาฉบับที่ 138 และ 182)

 

การขจัดการเลือกปฏิบัติในอาชีพและการจ้างงาน (อนุสัญญาฉบับที่ 100 และ 111)

 

แนวทางปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติขององค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา OCDE

องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา  (OECD) เป็นองค์กรที่เน้นแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติที่ไปลงทุนในประเทศต่างๆเพื่อคุ้มครองคนงานทุกคนที่อยู่ภายใต้การบริหารของบรรษัทข้ามชาติในทุกโรงงานในทุกประเทศให้ได้รับการปฏิบัติไม่แตกต่างกัน ปัจจุบัน OECD มีสมาชิก 30 ประเทศเช่น ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, เบลเยี่ยม, แคนาดา, เช็ค, เดนมาร์ค, ฟิลแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, กรีช, ฮังการี, ไอซ์แลด์, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลี, ลักเซมเบิร์ก, เม็กซิโก, เนอเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, นอรเวย์, โปแลนด์, โปรตุเกส, สโลวัก, สเปน, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, ตุรกี, อังกฤษสหรัฐอเมริกา โดย OECD มีสาระสำคัญสำหรับนักสหภาพแรงงานได้แก่

 

การเปิดเผยข้อมูล ที่นายจ้างต้องเปิดเผยข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร ประกอบด้วย

·        สถานการณ์ทางการเงินและผลประกอบการ

·        วัตถุประสงค์ของบริษัท

·        ผู้ถือหุ้นรายใหญ่และสิทธิการออกเสียง

·        สมาชิกของบอร์ด ผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งสำคัญและเงินเดือนของพวกเขา

·        ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถระบุได้

·        ประเด็นที่เกี่ยวกับลูกจ้างและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ

·        โครงสร้างการบริหารงาน

·        นโยบายทางสังคม สิ่งแวดล้อมและจริยธรรม

·        นโยบายการลงทุนและแรงงาน

·        จรรยาบรรณของบริษัท

·        ระบบสำหรับลดความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎหมาย

 

การจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ สาระสำคัญที่สมาชิกOECD ต้องปฏิบัติมีดังนี้

·        เคารพสิทธิคนงานในการเข้าร่วมสหภาพแรงงานและการเลือกตั้งผู้แทนของตนเอง

·        เข้าร่วมการเจรจาทั้งเงื่อนไขของบริษัทเดียวหรือผ่านองค์กรนายจ้างด้วยทัศนคติที่ต้องการทำข้อตกลงสภาพการจ้าง

·        ห้ามใช้แรงงานเด็ก

·        ขจัดการใช้แรงงานบังคับ

·        ไม่เลือกปฏิบัติต่อคนงานในการจ้างงานและอาชีพ

·        ส่งเสริมความเสมอภาคในด้านโอกาสของการจ้างงาน

·        จัดอำนวยความสะดวกให้กับสหภาพแรงงานและตัวแทนของคนงานเพื่อการเจรจาต่อรองที่มีประสิทธิภาพ

·        ให้ข้อมูลกับสหภาพแรงงานเพื่อการเจรจาต่อรองที่มีความหมาย

·        ส่งเสริมการปรึกษาหารือและความร่วมมือระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและตัวแทนของลูกจ้างในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองฝ่าย

·        ปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระดับนานาชาติในประเทศที่บริษัทลงทุน

·        ส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน

·        จ้างงานคนท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

·        จัดการศึกษาอบรมเพื่อเพิ่มทักษะของคนงาน

·        บอกกล่าวล่วงหน้าและให้ความร่วมมือในกรณีของการเลิกจ้างพร้อมกันหลายคนหรือในกรณีที่บริษัทปิดการดำเนินงาน

·        ร่วมมือกับสหภาพแรงงานและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อลดผลกระทบของการเลิกจ้างในกรณีของการเลิกจ้างพร้อมกันหลายคนหรือในกรณีที่บริษัทปิดการดำเนินงาน

·        ห้ามข่มขู่คนงานว่าจะย้ายฐานการผลิตหรือการผลิตส่วนใดส่วนหนึ่งไปยังประเทศอื่น อันสืบเนื่องมาจากการเรียกร้องของสหภาพแรงงานหรือการนัดหยุดงานของคนงาน

·        เปิดโอกาสให้ผู้แทนคนงานเข้าร่วมปรึกษาหารือกับฝ่ายบริหารที่มีอำนาจในการตัดสินใจ

 

เมื่อบริษัทละเมิดแนวทางของ OECD สหภาพแรงงานหรือใครก็แล้วแต่ หรือองค์กรใดๆสามารถทำเรื่องร้องเรียนไปยัง OECD ได้

 

มาตรฐานความรับผิดชอบและการดูแล (Responsible Care)

มาตรฐานความรับผิดชอบและการดูแล (Responsible Care) เป็นมาตรฐานที่ริเริ่มโดยภาคอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 52 ประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย สุขภาพและสิ่งแวดล้อม อันเชื่อมโยงกับงานการผลิตของนายจ้าง ซึ่งนักสหภาพแรงงานในเอเชียส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องมาตรฐานนี้มากนักจึงยังไม่มีการเข้าไปมีส่วนร่วมเท่าที่ควร ทำให้ประเด็นเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานถูกกำหนดโดยนายจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่สหภาพแรงงานยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมาตรฐานความรับผิดชอบและการดูแลเพื่อเรียกร้องให้นายจ้างมีแนวการปฏิบัติที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องสุขภาพความปลอดภัยของคนงานและชุมชน

 

 

สรุป เราต้องเรียนรู้มาตรฐานแรงงานสากลไปทำไม?

ในตอนท้ายของการบรรยายยูนได้ให้ความสำคัญแก่ความรู้และการเข้าถึงข้อมูล และการทำงานร่วมกันหลายสหภาพ รวมถึงการยกระดับการเจรจากับนายจ้าง โดยสหภาพแรงงานสามารถบรรจุเอาแนวทางมาตรฐานสากลเข้าไปในข้อเรียกร้องได้ และหากสหภาพแรงงานมีเครือข่ายในระดับนานาประเทศก็จะสามารถระดมความร่วมมือ เพื่อกดดันสำนักงานใหญ่ของบรรษัทต่างๆ ในประเทศที่พัฒนา รวมถึงนักการเมืองในประเทศที่พัฒนานั้นๆได้ เช่นกัน

 

ทั้งนี้หากนักสหภาพพบว่ามีการละเมิดมาตรฐานสากล สามารถดำเนินการได้ดังนี้

 

  • รวบรวมหลักฐานที่ชัดเจนเพื่อการสนับสนุนข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดที่เกิดขึ้น

 

  • เขียนรายงานกรณีปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

 

  • ติดต่อสหภาพแรงงาน/สหพันธ์แรงาน/สภาแรงงานที่เป็นต้นสังกัด

- ขอให้สหภาพแรงงาน/สหพันธ์แรงาน/สภาแรงงานที่เป็นต้นสังกัด ติดต่อสหภาพแรงงานสากล เช่น ICEM เพื่อขอความช่วยเหลือหรือขอคำแนะนำ

- ขอให้สหภาพแรงงาน/สหพันธ์แรงาน/สภาแรงงานที่เป็นต้นสังกัด ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังองค์กรสากลต่างๆ เช่น ILO, OECD

 

  • ขอให้สหภาพแรงงานสากลจัดการรณรงค์เพื่อความสมานฉันท์และการเผยแพร่ต่อสาธารณชน

 ที่มา : prachatai.com


อัพเดทล่าสุด