ผลการวิเคราะห์ค่าจ้าง รายได้ และชั่วโมงการทำงาน
รายงานผลการวิเคราะห์ค่าจ้าง รายได้ และชั่วโมงการทำงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดทำรายงานผลการวิเคราะห์ ค่าจ้าง รายได้ และชั่วโมงทำงาน ปี 2546 ขึ้น โด0ยนำข้อมูลจากโครงการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาสที่ 3 : กรกฎาคม – กันยายน 2546 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาทำการศึกษาวิเคราะห์ค่าจ้าง รายได้ ชั่วโมงทำงาน ผลประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ เฉพาะกลุ่มลูกจ้างเอกชน ผลการศึกษา สรุปได้ดังนี้
1. ลูกจ้างเอกชนส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง กล่าวคือ เป็นเพศชาย ร้อยละ 55.2 และเพศหญิง ร้อยละ 44.8 ลูกจ้างส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20 - 49 ปี คิดเป็นร้อยละ 84.7 ของลูกจ้างเอกชนทั้งหมด ส่วนลูกจ้างที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนต่ำสุด คิดเป็นร้อยละ 2.2 สำหรับการศึกษาของลูกจ้างพบว่า ส่วนใหญ่ลูกจ้างจบการศึกษาระดับประถมศึกษา หรือต่ำกว่า คิดเป็นร้อยละ 51.9 ส่วนลูกจ้างที่จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย และระดับอนุปริญญามีสัดส่วนค่อนข้างน้อยซึ่งมีเพียงร้อยละ 9.2 และ 5.2 ตามลำดับ
ลูกจ้างส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน คิดเป็นร้อยละ 44.1 รองลงมาเล็กน้อยเป็นลูกจ้างรายเดือน คิดเป็นร้อยละ 44.0 ส่วนลูกจ้างงานเหมา คิดเป็นร้อยละ 11.9 ลูกจ้างส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต คิดเป็นร้อยละ 31.2 เมื่อพิจารณาอาชีพ หรือตำแหน่งงานของลูกจ้างพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ปฏิบัติงานในธุรกิจด้านความสามารถทางฝีมือ และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คิดเป็นร้อยละ 22.6 ส่วนอาชีพผู้จัดการมีสัดส่วนต่ำสุด คิดเป็นร้อยละ 2.0
หากพิจารณาจำแนกตามพื้นที่ พบว่า ลูกจ้างส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร คิดเป็นร้อยละ 23.4 ส่วนพื้นที่ที่พบว่ามีสัดส่วนของลูกจ้างต่ำสุด คือ 5 จังหวัดรอบกรุงเทพฯ คิดเป็นร้อยละ 10.9
2. ลูกจ้างเอกชนได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน 5,840 โดยลูกจ้างรายวันได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อวัน 152 บาท ลูกจ้างรายเดือนได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน 8,800 บาท ลูกจ้างงานเหมาได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน 3,529 บาท เมื่อพิจารณาค่าจ้างของลูกจ้างจำแนกตามอุตสาหกรรม พบว่า ลูกจ้างในกิจการการเป็นตัวกลางทางการเงิน ได้รับค่าจ้างสูงสุดเฉลี่ยต่อเดือน 16,642 บาท ส่วนลูกจ้างในกิจการเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้ ได้รับค่าจ้างต่ำสุดเฉลี่ยต่อเดือน 2,346 บาท
เมื่อพิจารณาค่าจ้างของลูกจ้างเอกชน โดยจำแนกตามอาชีพ พบว่า อาชีพผู้จัดการ ได้รับค่าจ้างสูงสุดเฉลี่ยต่อเดือน 32,582 บาท ส่วนอาชีพผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตรและการประมง ได้รับค่าจ้างต่ำสุดเฉลี่ยต่อเดือน 2,454 บาท
เมื่อพิจารณาค่าจ้างของลูกจ้างเอกชนจำแนกตามพื้นที่ พบว่า ลูกจ้างในกรุงเทพมหานครได้รับค่าจ้างสูงสุดเฉลี่ยต่อเดือน 9,899 บาท โดยลูกจ้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับค่าจ้างต่ำสุดเฉลี่ยต่อเดือน 3,358 บาท และหากพิจารณารายจังหวัดพบว่า ลูกจ้างจังหวัดนนทบุรี ได้รับค่าจ้างสูงสุดเฉลี่ยต่อเดือน 11,144 บาท และจังหวัดนราธิวาส ได้รับค่าจ้างต่ำสุดเฉลี่ยต่อเดือน 2,312 บาท
เมื่อพิจารณาค่าจ้าง จำแนกตามเพศ พบว่าลูกจ้างเพศชายได้รับค่าจ้างสูงกว่าลูกจ้างเพศหญิง เฉลี่ยเดือนละ 912 บาท คิดเป็นร้อยละ 17.1 ของค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างหญิง โดยลูกจ้างชายได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน 6,249 บาท ในขณะที่ลูกจ้างหญิงได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน 5,336 บาท และเมื่อพิจารณาค่าจ้างของลูกจ้างเอกชน จำแนกตามอายุ พบว่า ลูกจ้างที่มีอายุระหว่าง 35 – 39 ปี ได้รับค่าจ้างสูงสุดเฉลี่ยต่อเดือน 7,044 บาท และยังพบว่าลูกจ้างที่มีอายุระหว่าง 15 – 19 ปี ได้รับค่าจ้างต่ำสุดเฉลี่ยต่อเดือน 3,371 บาท หากพิจารณาค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับจำแนกตามระดับการศึกษาพบว่าลูกจ้างที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ได้รับค่าจ้างสูงสุดเฉลี่ยต่อเดือน 17,213 บาท สำหรับลูกจ้างที่ไม่มีการศึกษาเลยได้รับค่าจ้างต่ำสุดเฉลี่ยต่อเดือน 2,650 บาท
3. เมื่อพิจารณาค่าจ้างของลูกจ้างเปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ พบว่า ลูกจ้างส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คิดเป็นร้อยละ 66.2 และลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คิดเป็นร้อยละ 26.8 ส่วนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีเพียงร้อยละ 7.0 เท่านั้น หากคำนวณค่าจ้างเฉลี่ยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ พบว่า ลูกจ้างกลุ่มดังกล่าวได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน 3,372 บาท โดยลูกจ้างรายวันได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อวัน 122 บาท ลูกจ้างรายเดือนได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน 3,685 บาท โดยพบว่าลูกจ้างจังหวัดสมุทรปราการ ได้รับค่าจ้างสูงสุดเฉลี่ยต่อเดือน 4,305 บาท ส่วนลูกจ้างจังหวัดมุกดาหาร ได้รับค่าจ้างต่ำสุดเฉลี่ยต่อเดือน 2,077 บาท
4. รายได้รวมของลูกจ้างซึ่งคำนวณจากค่าจ้างและผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานต่าง ๆ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน เช่น โบนัส ค่าล่วงเวลา อาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า และอื่น ๆ เช่น ค่าครองชีพ ยานพาหนะรับส่ง เบี้ยขยัน ที่นายจ้างช่วยจ่ายให้ พบว่าลูกจ้างเอกชนมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 6,626 บาท โดยลูกจ้างรายวัน มีรายได้เฉลี่ยต่อวัน 166 บาท ลูกจ้างรายเดือน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,199 บาท ส่วนลูกจ้างงานเหมา มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 3,682 บาท
เมื่อพิจารณาจากรายได้ของลูกจ้างเอกชนจำแนกตามอุตสาหกรรม พบว่า ลูกจ้างในกิจการการเป็นตัวกลางทางการเงิน มีรายได้สูงสุดเฉลี่ยต่อเดือน 18,973 บาท ส่วนกิจการที่พบว่า ลูกจ้างมีรายได้ต่ำสุด คือกิจการเกษตรกรรม การล่าสัตว์และการป่าไม้ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 2,436 บาท และหากพิจารณารายได้ของลูกจ้างเอกชน จำแนกตามอาชีพ พบว่าลูกจ้างอาชีพผู้จัดการ มีรายได้สูงสุดเฉลี่ยต่อเดือน 35,540 บาท ส่วนอาชีพผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตรและการประมง มีรายได้ต่ำสุดเฉลี่ยต่อเดือน 2,593 บาท
เมื่อพิจารณารายได้ของลูกจ้างเอกชนจำแนกตามพื้นที่ พบว่า ลูกจ้างในกรุงเทพมหานคร มีรายได้สูงสุดเฉลี่ยต่อเดือน 11,154 บาท ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ลูกจ้างมีรายได้ต่ำสุดเฉลี่ยต่อเดือนเพียง 3,666 บาท
หากพิจารณาความแตกต่างของรายได้ ระหว่างลูกจ้างเพศชายกับเพศหญิง พบว่าลูกจ้างชายมีรายได้มากกว่าลูกจ้างหญิง เฉลี่ยเดือนละ 975 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.0 ของค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างหญิง โดยลูกจ้างชายมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 7,063 บาท ขณะที่ลูกจ้างหญิงมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 6,088 บาท และเมื่อพิจารณารายได้ของลูกจ้างเอกชน จำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า ลูกจ้างจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลับ มีรายได้สูงสุดเฉลี่ยต่อเดือน 19,172 บาท และพบว่าลูกจ้างที่ไม่มีการศึกษามีรายได้ต่ำสุดเฉลี่ยต่อเดือน 2,926 บาท และเมื่อพิจารณารายได้ของลูกจ้าง จำแนกตามอายุ พบว่า ลูกจ้างที่มีอายุระหว่าง 35 – 39 ปี มีรายได้สูงสุดเฉลี่ยต่อเดือน 8,032 บาท และพบว่าลูกจ้างอายุ 15 – 19 ปี มีรายได้ต่ำสุดเฉลี่ยต่อเดือน 3,948 บาท
5. สำหรับผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานอื่น ๆ ทั้งที่เป็นตัวเงิน ได้แก่ โบนัส ค่าล่วงเวลา เงินอื่น ๆ และที่เป็นสิ่งของ ได้แก่ สวัสดิการด้านอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และสวัสดิการด้านอื่น ๆ เช่น ยานพาหนะรับส่ง พบว่า ลูกจ้างที่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานในรูปเงินโบนัสมีสัดส่วนสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 16.1 และลูกจ้างที่ได้รับสวัสดิการอื่น ๆ มีสัดส่วนต่ำสุด คิดเป็นร้อยละ 3.4 และเมื่อคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนในรูปสิ่งของ เมื่อคำนวณเป็นตัวเงินแล้ว พบว่า ลูกจ้างได้รับค่าอาหาร เฉลี่ยเดือนละ 845 บาท ค่าเสื้อผ้า เฉลี่ยเดือนละ 231 บาท ค่าที่อยู่อาศัย เฉลี่ยเดือนละ 995 บาท และสวัสดิการอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นตัวเงิน เฉลี่ยเดือนละ 658 บาท และหากพิจารณาการจัดสวัสดิการให้แก่ลูกจ้าง จำแนกตามขนาดสถานประกอบกิจการ พบว่า สถานประกอบกิจการที่มีขนาดเล็ก มีลูกจ้าง 1 – 4 คน จัดสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย และอาหารให้แก่ลูกจ้างสูงสุด ส่วนสถานประกอบกิจการที่มีขนาดใหญ่ มีลูกจ้างตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ให้สวัสดิการด้านเงินโบนัส และค่าล่วงเวลาสูงสุด
6. เมื่อพิจารณาจำนวนชั่วโมงทำงานจริงต่อสัปดาห์ของลูกจ้างเอกชน พบว่า ลูกจ้างทำงานโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 48.9 ชั่วโมง โดยลูกจ้างรายเดือนมีชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์สูงสุดคือ 50.6 ชั่วโมง รองลงมาได้แก่ ลูกจ้างรายวันและลูกจ้างงานเหมา เฉลี่ยสัปดาห์ละ 48.5 และ 44.0 ชั่วโมง ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาจำนวนชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ของลูกจ้าง จำแนกตามอุตสาหกรรม พบว่า ลูกจ้างในกิจการการประมง มีจำนวนชั่วโมงทำงานสูงสุดเฉลี่ยสัปดาห์ละ 61.7 ชั่วโมง ส่วนกิจการการศึกษา มีจำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ต่ำสุดเพียง 39.3 ชั่วโมง และหากพิจารณาจำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ของลูกจ้าง จำแนกตามอาชีพหรือตำแหน่งงาน พบว่า พนักงานบริการและพนักงานขายในร้านค้าและตลาด มีจำนวนชั่วโมงทำงานสูงสุดเฉลี่ยสัปดาห์ละ 54.0 ชั่วโมง ส่วนลูกจ้างผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตรและการประมง มีจำนวนชั่วโมงทำงานต่ำสุดเฉลี่ยสัปดาห์ละ 42.1 ชั่วโมง
เมื่อพิจารณาจำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ของลูกจ้าง จำแนกตามพื้นที่ พบว่า ลูกจ้างในพื้นที่ 5 จังหวัดรอบกรุงเทพฯ มีจำนวนชั่วโมงทำงานสูงสุดเฉลี่ยสัปดาห์ละ 50.5 ชั่วโมง ส่วนลูกจ้างในภาคใต้ มีจำนวนชั่วโมงทำงานต่ำสุดเฉลี่ยสัปดาห์ละ 44.7 ชั่วโมง
ที่มา : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน , รายงานผลการศึกษาค่าจ้าง รายได้ และชั่วโมงทำงานปี 2546