ลดภาษีเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ


846 ผู้ชม


ลดภาษีเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ




ลดภาษีเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
   
ตามที่รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 466) พ.ศ. 2550 ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้แก่  ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อันได้แก่ ท้องที่ 4 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสตูล กับท้องที่ 4 อำเภอในเขตจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอ เทพา
   
ทั้งนี้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการในท้องที่ดังกล่าว และเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจดังนี้
   
1. การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ คงเหลือเพียง 0.1% ของเงินได้พึงประเมินดังกล่าว ระหว่างปี 2550-2552
   
2. ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เหลือเพียง 3% ของกำไรสุทธิสำหรับปี 2550-2552
   
3. ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีการขายอสังหา ริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ลงเหลือ 0.1% ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวระหว่างปี 2550-2552
   
4. ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้า หรือหากำไรที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษ เฉพาะกิจ ระหว่างปี 2550-2552 ลงเหลือ 0.1% ของรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ ดังกล่าว
   
เมื่อวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติขยายเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล อัตราภาษีเงินได้หัก ณ  ที่จ่าย และอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับสถานประกอบกิจการ หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ที่ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 นี้ออกไปอีก 3 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ทั้งนี้ เนื้อหาของการลดอัตรายังคงเดิมตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 466) ทุกประการ.

ที่มา ;dailynews.co.th

อัพเดทล่าสุด