พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน : การจ้างโดยวิธีเหมาค่าแรง


10,449 ผู้ชม


พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน : การจ้างโดยวิธีเหมาค่าแรง




คำชี้แจงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑
เรื่องที่ ๔
การจ้างโดยวิธีเหมาค่าแรง
กฏหมายที่เกี่ยวข้อง (มาตรา ๑๑/๑)
มาตรา ๑๑/๑ ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว
ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
เจตนารมณ์ของกฎหมาย
กำหนดให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างรับเหมาค่าแรง โดยให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของลูกจ้างรับเหมาค่าแรง และเพื่อให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญา
จ้างโดยตรงของผู้ประกอบกิจการ ได้รับสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมจากผู้ประกอบกิจการ โดย
ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
คำชี้แจง
มาตรา ๑๑/๑ วรรคหนึ่งบัญญัติให้ถือว่า ผู้ประกอบกิจการที่มอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่ง
อาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ที่ไม่ใช่ผู้รับอนุญาตจัดหางาน จัดหาคนมาทำงานในกระบวนการผลิต
หรือธุรกิจในความรับผิดชอบของตน ไม่ว่าบุคคลซึ่งจัดหาคนมาทำงานนั้น จะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงาน
หรือเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม เป็นนายจ้างของคนที่มาทำงาน
ดังกล่าว
ผู้ประกอบกิจการที่จะถือว่าเป็นนายจ้างของคนที่ถูกจัดหามาทำงานให้แก่ตนจะต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้
๑. ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ได้รับมอบหมาย อาจเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ และการมอบหมายอาจทำเป็นหนังสือสัญญาชัดเจน หรือโดยพฤตินัยก็ได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดหาคนงานนั้น จะได้เข้ามาเป็นผู้ควบคุมงาน หรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตามแต่บุคคลที่ได้รับมอบหมายต้องมิใช่ผู้ประกอบธุรกิจจัดหางาน และการมอบหมายนั้น ต้องมิใช่ลักษณะของการประกอบธุรกิจจัดหางานตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘
ทั้งนี้ เพราะหากเป็นการดำเนินการในลักษณะของการประกอบธุรกิจจัดหางาน ผู้ประกอบกิจการธุรกิจ
จัดหางานมีหน้าที่เพียงแต่จัดหาคนหางานส่งให้ผู้ประกอบกิจการโดยตรงเท่านั้น ผู้ประกอบธุรกิจจัดหางาน
หาได้มีนิติสัมพันธ์กับคนหางานในลักษณะของนายจ้าง และลูกจ้างกันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ
แต่อย่างใด และในกรณีเช่นนี้ ผู้ประกอบกิจการย่อมมีฐานะเป็นนายจ้างโดยตรงของคนงานที่เข้าไปทำงาน
ให้ตนอยู่แล้ว
๒. การทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ
หากคนที่มาทำงานนั้นไม่ได้ทำงานในส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ ย่อมถือไม่ได้ว่า ผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนงานดังกล่าว เช่น
(๑) บริษัทผลิตรถยนต์ว่าจ้างให้บริษัทภายนอกจัดส่งคนงานเข้ามาทำงานในกระบวนการผลิตรถยนต์ร่วมกับลูกจ้างของบริษัทผลิตรถยนต์โดยให้คนงานเหล่านี้รับค่าจ้างจากผู้รับจ้างเหมา กรณีเช่นนี้ต้องถือว่า ผู้ประกอบกิจการ (บริษัทผลิตรถยนต์) เป็นนายจ้างของลูกจ้างเหล่านี้
(๒) การจ้างบุคคลภายนอกซึ่งประกอบธุรกิจรับจ้างให้บริการรักษาความปลอดภัย และทำความสะอาด โดยให้ผู้รับจ้างส่งลูกจ้างของตนเข้ามาทำงานดังกล่าวในสถานประกอบกิจการของเจ้าของสถานประกอบกิจการนั้น เห็นว่า การทำงานของลูกจ้างดังกล่าวไม่เป็นการทำงานส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ กรณีเช่นนี้ ผู้ประกอบกิจการไม่เป็นนายจ้างของลูกจ้างผู้รับจ้างให้บริการรักษาความปลอดภัย และทำความสะอาด
(๓) งานนำส่งรถยนต์ไปยังตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศโดยว่าจ้างบริษัทขนส่งโดยใช้อุปกรณ์พิเศษเป็นลักษณะงานขนส่ง เมื่อไม่ใช่ธุรกิจหรือกระบวนการผลิตของผู้ประกอบกิจการแล้ว ผู้ประกอบกิจการก็ไม่ใช่นายจ้างของลูกจ้างในส่วนนี้
(๔) งานบรรจุชิ้นส่วนรถยนต์รวมกล่องเป็น CKD (Complete Knocked Down) เพื่อส่งออกลักษณะของการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตโดยใช้เครื่องมือของผู้ประกอบกิจการ ผู้ประกอบกิจการจึงเป็นนายจ้างของลูกจ้างที่ทำงานในส่วนนี้
เมื่อพิจารณาครบองค์ประกอบทั้งสองข้อข้างต้นแล้ว กฎหมายให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว ดังนี้ ผู้ประกอบกิจการก็ต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ต่อคนที่มาทำงานดังกล่าว เสมือนเป็นลูกจ้างของตนด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าคนที่มาทำงานนั้นจะมีสถานะเป็นลูกจ้างของบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากผู้ประกอบกิจการให้จัดหาคนมาทำงานในสถานประกอบกิจการด้วยหรือไม่ก็ตาม
บทบัญญัติตามมาตรานี้ มุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองลูกจ้างรับเหมาค่าแรง (Contract Labour)
เท่านั้น ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงต้องพิจารณาเสียก่อนว่า การที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปจัดหาคนมาทำงานให้นั้น ผู้ประกอบกิจการมุ่งประสงค์ต่อการจัดหาแรงงาน (Supply of Labour) มิใช่มุ่งประสงค์ต่อการได้รับสินค้าหรือบริการ (Supply of Goods and Service) เพราะหากผู้ประกอบกิจการมุ่งประสงค์ต่อสินค้าหรือบริการแล้ว นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบกิจการและคู่สัญญาจะมีลักษณะเป็น
สัญญาจ้างทำของ (Job Contracting) หรือจ้างเหมาบริการ (Contract for Service) ซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับ
ของบทบัญญัติมาตรานี้
เมื่อผู้ประกอบกิจการรายใดที่มีการดำเนินการตามมาตรา ๑๑/๑ วรรคหนึ่ง ซึ่งกฎหมายให้ถือว่า เป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าวแล้ว หากสถานประกอบกิจการนั้น มีคนที่ทำงานในลักษณะงานเดียวกันรวมกันอยู่สองประเภท กล่าวคือ ลูกจ้างซึ่งผู้ประกอบกิจการจ้างเองโดยตรงประเภทหนึ่ง (มาตรา ๑๑/๑ วรรคสองเรียกว่า ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง) กับคนงานที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดหามาให้อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งตามมาตรา ๑๑/๑ วรรคสอง เรียกว่า ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงเช่นนี้ ผู้ประกอบกิจการดังกล่าว มีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ที่ทำงานในลักษณะเดียวกับลูกจ้างซึ่งผู้ประกอบกิจการจ้างเองโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
คำว่า “งานในลักษณะเดียวกัน” หมายความถึง งานที่ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงกับงานที่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของผู้ประกอบกิจการทำมีลักษณะเดียวกัน โดยอาจพิจารณาจากลักษณะงานตำแหน่งงาน หน้าที่การงาน หรืออำนาจหน้าที่ เช่น งานตัด งานเย็บ งานประกอบ งานตรวจสอบคุณภาพ งานบัญชี งานธุรการ งานช่าง งานเก็บข้อมูล งานขาย เป็นต้น
คำว่า “สิทธิประโยชน์” (Benefits) และคำว่า “สวัสดิการ” (Welfare) หมายความรวมถึง ค่าตอบแทน หรือรางวัลที่นายจ้างจ่ายให้แก่พนักงาน หรือลูกจ้าง ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจ และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน ตลอดจนช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตแก่ลูกจ้าง เช่น ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา เบี้ยขยัน ค่ากะ ค่าอาหาร ค่าครองชีพ หอพัก สิทธิ ในการได้หยุดพักผ่อนประจำปีเพิ่มขึ้นตามอายุงาน สิทธิการได้รับเงินโบนัส หรือเงินพิเศษอื่น การได้โดยสารรถรับส่งที่นายจ้างจัดให้ การได้รับชุดทำงานจากนายจ้าง เป็นต้น
คำว่า “เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ” หมายถึง การปฏิบัติต่อลูกจ้างรับเหมาค่าแรงและลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงบนพื้นฐานของหลักคุณธรรมในการจ้างงาน โดยไม่ปฏิบัติต่อลูกจ้างทั้งสองประเภทดังกล่าวแตกต่างกัน หรือด้อยกว่ากัน ในลักษณะที่ไม่สัมพันธ์กับหลักคุณธรรม หรือเงื่อนไขของงาน หรือโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
สำหรับแนวทางการพิจารณา “เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ” อาจพิจารณาได้จากลักษณะงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ คุณวุฒิ ประสบการณ์ ระยะเวลาทำงาน ทักษะฝีมือ คุณภาพของงานหรือปริมาณของงาน เป็นต้น ดังนั้น หากลูกจ้างทั้งสองประเภทมีคุณสมบัติเหมือนกันจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการภายใต้เงื่อนไขอย่างเดียวกัน เช่น ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงและลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงทำงานในลักษณะเดียวกัน มีหน้าที่ความรับผิดชอบเหมือนกัน ผลิตผลของงานอยู่ใน ระดับเดียวกัน เมื่อนายจ้างจัดสวัสดิการชุดทำงานให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงปีละ ๒ ชุด ก็ต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสวัสดิการชุดทำงานปีละ ๒ ชุด เช่นกัน มิฉะนั้นอาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและเป็นการเลือกปฏิบัติ
ตัวอย่าง
บริษัท ยานยนต์ จำกัด ประกอบกิจการรับจ้างทำเบาะหนังรถยนต์ ส่งให้แก่บริษัทประกอบรถยนต์ทั่วไป เนื่องจากปริมาณงานมีเป็นจำนวนมาก และงานมีความเร่งด่วน ลูกจ้างโดยตรงของบริษัทฯที่มีอยู่ในแผนกตัดหนังทำงานไม่ทัน บริษัท ยานยนต์ จำกัด จึงได้มอบหมายให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ยิ่งรวยจัดหาคนงานเข้ามาทำงานในแผนกตัดหนังเพิ่มขึ้นอีกจำนวน ๕๐ คน เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่า บริษัท ยานยนต์จำกัด เป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานทั้ง ๕๐ คน ตามมาตรา ๑๑/๑ วรรคหนึ่ง และหากลูกจ้างรับเหมาค่าแรงดังกล่าวมีหน้าที่รับผิดชอบและคุณสมบัติเหมือนกับลูกจ้างโดยตรงของบริษัทฯ ดังนี้ บริษัท ยานยนต์ จำกัด มีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงทั้ง ๕๐ คน ดังกล่าว ได้รับสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการ ภายใต้เงื่อนไขอย่างเดียวกัน ตามมาตรา ๑๑/๑ วรรคสอง

ที่มา : bloggang.com


อัพเดทล่าสุด