ม็อบแรงงานปิดถนน ต้องใช้นิติรัฐและนิติธรรม
บทบรรณาธิการ
การปิดถนนประท้วงของสหภาพแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะยุทธวิธีดังกล่าวกำลังกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบลุกลามในขณะนี้ เนื่องจากสามารถเรียกร้องความสนใจของคนทั่วไปและกดดันรัฐบาลหรือนายจ้างอย่างได้ผล แต่การเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาล นายจ้าง ให้รับข้อเสนอของตนด้วยการเอาประชาชนที่สัญจรไปมาบนท้องถนนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวด้วยต้องกลายมาเป็นตัวประกันได้รับความเดือดร้อน เป็นการไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น แม้ว่าความเดือดร้อนของผู้ชุมนุม ประท้วงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้องมาดูแล แต่วิธีที่นำมาใช้นั้นอาจจะกลายเป็นดาบสองคม จากความเห็นอกเห็นใจจะกลายเป็นความไม่เข้าใจของคนในสังคม
แม้วิธีปิดถนนถือเป็นไม้ตายเพื่อขอให้นายจ้างจ่ายโบนัสประจำปีที่เป็นแฟชั่นกำลังกลายเป็นปัญหาเผชิญหน้ากันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล มีข้อมูลกันคนละชุด ในการรักษาสิทธิของตัวเอง ฝ่ายลูกจ้างก็อ้างสิทธิที่ตัวเองควรได้รับเมื่อผลประกอบการของบริษัทมีกำไร ขณะที่ทางฝ่ายนายจ้างอ้างผลประกอบการขาดทุนและในปีหน้าอาจถึงขั้นปิดโรงงาน จึงไม่สามารถจ่ายโบนัสให้ได้ ความจริงเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาภายในระหว่างฝ่ายนายจ้างกับลูกจ้างที่ต้องทำความเข้าใจกัน หันหน้ามาพูดคุยกัน แต่การที่ลูกจ้างกดดันด้วยการนัดหยุดงานปิดถนนประท้วง นอกจากสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นแล้ว ยังสร้างความหวั่นไหวให้กับนักลงทุนต่างชาติถึงขั้นอาจจะต้องมีการทบทวนการลงทุนในประเทศไทย
นั่นหมายความว่าการชุมนุมประท้วงด้วยการปิดถนนเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองในสายตาของ นักลงทุนต่างชาติเห็นว่าเป็นมาตรการรุนแรง เป็นการใช้กฎหมู่เพื่อกดดัน หากได้ผลก็จะกลายเป็นเงื่อนไขในการต่อรองของบรรดาสหภาพ แรงงานจนการเป็นประเพณีปฏิบัติอันจะส่งผลกระทบตามมามากมาย ตั้งแต่ประสิทธิภาพ การผลิต ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของบรรดาเจ้าของกิจการ การที่นักลงทุนต่างชาติออกมาในลักษณะข่มขู่ ว่าอาจจะทบทวนแผนการ ลงทุน ชะลอการลงทุน กระทั่งอาจจะย้ายการลงทุนหนีจากประเทศไทยไปอยู่ประเทศอื่นแทน เป็นเรื่องที่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบรรดาสหภาพแรงงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงรัฐบาลจะมองข้ามไม่ได้ เพราะไทยยังมีประเทศคู่แข่งอีกหลายประเทศที่เป็นทางเลือก
ด้วยความเคารพในสิทธิทั้งสองฝ่าย เห็นใจทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เข้าใจความรู้สึกของลูกจ้างควรจะได้รับสิทธิในสิ่งที่ตัวเองควรได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับค่าจ้างแรงงาน เงินโบนัส แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง สถานะที่แท้จริงของบริษัท ฝ่ายนายจ้างเองต้องมีความรู้สึกว่า บริษัทเติบโตมาได้ก็เพราะลูกจ้างมีส่วนร่วม สิ่งที่ลูกจ้างได้รับต้องสมเหตุสมผล ฉะนั้นทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างต้องหันหน้ามาคุยกัน ต้องพูดความจริงกัน หากไม่สามารถคุยกันได้ต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้ามาแก้ปัญหา เพื่อความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย แต่ไม่สมควรใช้การต่อรองโดยใช้กฎหมู่แทนที่จะใช้กฎหมาย เพราะสิ่งที่ได้รับอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย แต่ที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมจะต้องเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง
หน้า 2
ที่มา : matichon.co.th