ค้ำประกันหนี้ในอนาคตบังคับได้เสมอจริงหรือ?


1,293 ผู้ชม


ค้ำประกันหนี้ในอนาคตบังคับได้เสมอจริงหรือ?




ดำเนิน ทรัพย์ไพศาล บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้อ่านคำพิพากษาฎีกาที่ 1797/2549 ซึ่งศาลได้ตัดสินว่า สัญญาค้ำประกันที่เป็นแบบฟอร์มสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งเขียนครอบคลุมให้ลูกหนี้ต้องรับผิดต่อหนี้ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ซึ่งไม่ตรงกับเจตนาของคู่สัญญา ไม่สามารถใช้บังคับได้ ผมเห็นว่าคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้แตกต่างจากแนวคำพิพากษาฎีกาในเรื่องทำนองเดียวกัน และน่าจะมีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ จึงขอหยิบยกเรื่องนี้มาเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบดังนี้ครับ

คำพิพากษาฎีกาฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาโดยย่อดังนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1797/2549 สัญญาค้ำประกันที่โจทก์ (ผู้ค้ำประกัน) ทำให้ไว้แก่จำเลย (ธนาคารพาณิชย์) ข้อ (1) ระบุว่า "ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันหนี้สินทุกชนิดบรรดาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ได้เป็นหนี้ต่อธนาคารอยู่แล้วก่อนวันทำสัญญานี้ และหรือเป็นหนี้อยู่ในขณะทำสัญญานี้ และรวมทั้งหนี้สินที่ลูกหนี้จะได้เป็นหนี้ต่อธนาคารหลังจากวันทำสัญญานี้เป็นต้นไป ....." สัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นแบบฟอร์มของสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยทำขึ้น เพื่อใช้เป็นหนังสือค้ำประกันได้ทุกประเภท ข้อความในสัญญามีลักษณะเขียนครอบคลุมให้ลูกหนี้ต้องรับผิดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งอาจไม่ตรงกับเจตนาของคู่สัญญา เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีเจตนาเพียงค้ำประกันหนี้ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ขอให้จำเลยออกหนังสือค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคาก่อสร้างหรือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาก่อสร้างเท่านั้น มิได้มีเจตนาที่ค้ำประกันหนี้สินอย่างอื่นที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. มีต่อจำเลย การที่จำเลยนำเงินฝากประจำของโจทก์ไปหักชำระหนี้เงินกู้และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. จึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์

ปัญหาข้อนี้ โจทก์มีผู้จัดการธนาคาร พนักงานสินเชื่อ สมุห์บัญชี เบิกความตรงกันว่า การที่โจทก์ทำหนังสือค้ำประกันต่อจำเลย โจทก์มีเจตนาเพียงค้ำประกันหนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการยื่นซองประกวดราคาก่อสร้างหรือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาก่อสร้างเท่านั้น มิได้มีเจตนาที่ค้ำประกันหนี้สินอย่างอื่นแต่อย่างใด แบบหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นแบบฟอร์มของสัญญาสำเร็จรูป ข้อความในสัญญามีลักษณะเขียนครอบคลุมให้ลูกหนี้ต้องรับผิดในภาระหนี้ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งอาจไม่ตรงกับเจตนาของคู่สัญญา

ในคดีดังกล่าวข้างต้น ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มีคำพิพากษาตรงกันให้จำเลยซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์คืนเงินที่นำไปหักชำระหนี้เงินกู้และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน

ผมเข้าใจว่า ในคดีนี้ศาลฎีกาได้ใช้แนวการตีความการแสดงเจตนาตามมาตรา 171 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่า ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร และเนื่องจากในคดีนี้ผู้จัดการธนาคาร พนักงานสินเชื่อและสมุห์บัญชีต่างก็เบิกความเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายจำเลย ศาลจึงได้มีคำพิพากษาในทำนองดังกล่าว

ก่อนคดีนี้ ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาในหลายคดีด้วยกัน ซึ่งนักกฎหมายก็ได้ถือเป็นแนวในการวินิจฉัยข้อกฎหมายมาโดยตลอดว่า หากสัญญาค้ำประกันมีข้อความระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าผู้ค้ำประกันตกลงยินยอมที่จะค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่จะเกิดขึ้นหลังจากวันที่ทำสัญญาค้ำประกัน (หนี้ในอนาคต) ด้วย ผู้ค้ำประกันก็จะต้องรับผิดตามที่ทำสัญญาไว้

ตัวอย่างเช่น

คำพิพากษาฎีกาที่ 3698/2545 หนังสือสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ค้ำประกันระบุว่า เป็นการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 อันเกิดจากนิติกรรมใดๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไว้แล้วในขณะทำสัญญาค้ำประกัน และหนี้เกิดจากนิติกรรมใดๆ ต่อไปในภายหน้าด้วย การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์ว่า มีข้อความเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 1 ศาลย่อมไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นแตกต่างจากข้อความในหนังสือสัญญาค้ำประกันได้

นอกจากนี้ ในกรณีที่สัญญามีข้อความชัดเจน (ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่น) ว่า ลูกหนี้ตกลงที่จะรับผิดชอบต่อหนี้ในอนาคตด้วยแล้ว ศาลฎีกาก็ได้วางแนวไว้ว่าศาลไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้

ตัวอย่างเช่น

คำพิพากษาฎีกาที่ 5384/2548 เมื่อสัญญาจำนองที่ดินพิพาทมีข้อความชัดเจนว่า เป็นการจำนองหนี้ในอนาคตด้วย หามีข้อสงสัยที่จะต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 แต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ตัดสินตามแนวมาตรา 10 และ 11 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า เมื่อข้อความในเอกสารอาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ให้ถือเอานัยนั้นดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล และในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น

จากคำพิพากษาฎีกาที่ 1797/2549 ข้างต้น ผมมีความเห็นว่า ธนาคารพาณิชย์อาจต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในการใช้สัญญาสำเร็จรูป เพื่อให้ผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองลงนามค้ำประกัน หรือจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ในอนาคต โดยอาจให้ผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองลงนามย่อกำกับไว้ ณ ประโยคที่มีการระบุความรับผิดถึงหนี้ในอนาคตไว้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้มีการโต้เถียงในภายหลังได้ว่า ผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองไม่มีเจตนาที่จะค้ำประกันหรือจำนองเป็นประกันหนี้ในอนาคตด้วย เพราะอย่างน้อยลายมือชื่อที่ลงนามกำกับไว้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ลงนาม ณ ประโยคหรือบรรทัดดังกล่าวได้อ่านและเข้าใจข้อความดังกล่าวแล้วจึงได้ลงลายมือชื่อไว้ ส่วนจะช่วยได้มากน้อยเพียงใด คงต้องรอดูแนวคำพิพากษาฎีกาต่อไปในอนาคตครับ

--------------------

บทความนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่

ที่มา : .bangkokbiznews.com

อัพเดทล่าสุด