สาระสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 ที่แก้ไขเพิ่มเติม (๒๕๕๑)
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานที่แก้ไขเพิ่มเติม(๒๕๕๑)
1. สถานะปัจจุบันของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน
เนื่องจากได้มีการประกาศ พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 โดยพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว (“พรบ.แก้ไขฯ) มีเนื้อหาเป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการประกาศใช้ พ.ร.บ ทั้ง 2 ฉบับในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 ส่งผลใด้มีผลใช้บังคับดังต่อไปนี้
(1) พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2551
(2) พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551
จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551
2. สรุปสาระสำคัญจากพ.ร.บ. แก้ไขฯ
2.1 พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 (“พรบ.แก้ไขฯ ฉบับที่2”)
แก้ไขนิยามคำว่า “นายจ้าง” ตามมาตรา 5
นิยามของคำว่านายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นั้นจะอยู่ในมาตรา 5 ซึ่งพรบ.แก้ไขฯ ฉบับที่ 2 ได้ทำการแก้ไขนิยามดังกล่าว โดยทำการตัดข้อความใน (3) เรื่องเกี่ยวกับการจ้างโดยวิธีเหมาค่าแรง ออก
แต่อย่างไรก็ตาม การตัดออกดังกล่าว พรบ.แก้ไขฯ ฉบับที่ 2 ได้ไปกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวใน มาตรา 11/1 โดยอธิบายให้ชัดเจนขึ้นว่าการจ้างเหมาค่าแรงที่จะถือว่าเป็นนายจ้าง มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง และการฝ่าฝืนมาตราดังกล่าวจะส่งผลให้มีโทษตามมาตรา 144/1 คือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท การบัญญัติแยกออกมาดังกล่าวก็ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการใช้และตีความกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
แก้ไขการห้ามเรียกหลักประกัน และหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ตามมาตรา 10
แต่เดิมการห้ามเรียกหลักประกัน และหลักประกันความเสียหายในการทำงาน มาตรา 10 นั้น ห้ามเฉพาะการเรียกที่เป็นเงินเท่านั้น แต่ตาม พรบ.แก้ไข ฉบับที่ 2 ได้มีการกำหนดการห้ามดังกล่าว ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยห้ามการเรียกดังกล่าว ทั้งที่เป็นเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือการค้ำประกันด้วยบุคคลของลูกจ้าง แต่การห้ามนั้นก็ยังคงอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 51 ในการห้ามเรียกหลักประกันจากลูกจ้างที่เป็นเด็ก เหมือนเดิม
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องของกฎหมายในการแก้ไขจึงได้ให้กฎเกณฑ์ และวิธีการที่ประกาศกำหนดโดยรัฐมนตรีนั้น กำหนดประเภทของหลักประกัน และจำนวนของหลักประกันด้วย
เพิ่มบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองลูกจ้างในการทำสัญญาจ้าง ในมาตรา 14/1
ในพรบ.แก้ไขฯ ฉบับที่ 2 ได้ทำการเพิ่มเติม มาตรา 14/1 เข้ามาควบคุมสัญญาจ้าง โดยกำหนดให้สัญญาจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างจะต้องไม่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร
แก้ไขบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองลูกจ้างจากการคุกคามทางเพศ ในมาตรา 16
ในมาตรา 16 เดิมได้ทำการบัญญัติไว้เพื่อคุ้มครองการคุกคามทางเพศแก่ลูกจ้างเด็ก และลูกจ้างที่เป็นหญิงเท่านั้น แต่เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงได้มีการแก้ไขให้การคุ้มครองดังกล่าวครอบคลุมไปถึงลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งรวมถึงลูกจ้างชายด้วย
สัญญาจ้างทดลองงาน ตามมาตรา 17
พรบ. แก้ไขฯ ฉบับที่ 2 กำหนดให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งต้องทำการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือเป็นเวลา 1 ช่วงค่าจ้าง
เพิ่มเติมการกำหนดในเรื่องเวลาทำงาน ตามมาตรา 23
โดย พรบ.แก้ไขฯ ฉบับที่ 2 ได้เพิ่มเติมรายละเอียดในการตกลงเวลาทำงาน โดยกำหนดให้ในกรณีที่เวลาทำงานวันหนึ่งวันใดมีเวลาทำงานน้อยกว่า 8 ชั่วโมง นายจ้างและลูกจ้างสามารถที่จะตกลงกันให้นำเวลาทำงานส่วนที่เหลือจาก 8 ชั่วโมงนั้นไปรวมกับเวลาทำงานในวันทำงานปกติอื่นได้ แต่อย่างไรก็ตาม การรวมดังกล่าวจะต้องไม่ทำให้วันที่ถูกรวมเวลาทำงานนั้นมีเวลาทำงานเกินวันละ 9 ชั่วโมง
ในกรณีที่มีการตกลงดังกล่าว พรบ.แก้ไขฯ ฉบับที่ 2 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนสำหรับลูกจ้างรายวันหรือลูกจ้างรายชั่วโมง ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน ตามจำนวนชั่วโมงที่ทำเกิน และสำหรับ ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้ในชั่วโมงที่ทำเกิน
แก้ไขในส่วนลูกจ้างหญิงที่มีครรภ์ โดยเพิ่มเติมในมาตรา 39/1