สหภาพข้าราชการ
--------------------------------------------------------------------------------
แนวคิดการจัดตั้งสหภาพข้าราชการตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 64 ได้บัญญัติให้สิทธิ์ไว้ เป็นเรื่องที่กล่าวขวัญกันมากในวงราชการอีกเรื่องหนึ่ง
เนื้อหาของบทบัญญัติดังกล่าวคือการระบุว่า
บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น
ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเช่นเดียว กับบุคคลทั่วไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน และความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งและวรรคสองจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดตัดตอนในทางเศรษฐกิจ
หน่วยงานหนึ่งที่เริ่มเคลื่อนไหวในเรื่องอย่างเป็นรูปธรรมคือ สมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย
ในการประชุมคณะกรรมการสมาคมเมื่อตอนกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้มีการหารือ เกี่ยวกับการจัด ตั้งสหภาพข้าราชการด้วย
ทั้งนี้ นายจาดุร อภิชาตบุตร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ นายกสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ สรุปประเด็นความเห็นจากการประชุมแจ้งว่า
สมาคมฯควรเป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะมีส่วนร่วมในการจัดตั้งองค์กร เพื่อรวมกลุ่มของข้าราชการตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว
แต่ชื่อที่จะเรียกองค์กรนั้นไม่จำเพาะแต่เพียงคำว่า “สหภาพข้าราชการ” แต่อาจจะเรียก ชื่ออย่างอื่น ซึ่งเมื่อฟังแล้วเกิดทัศนคติที่ดีต่อกันกับทุกฝ่าย
โดยจะยึดเอาวัตถุประสงค์ขององค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ให้ ้มีประสิทธิภาพ ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนอย่างแท้จริงเป็นสำคัญ
พร้อมกับต้องดูแลสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรม เพื่อความภาคภูมิใจในเกียรติภูมิของอาชีพข้าราชการด้วย
ส่วนการทำงานในการจัดตั้งองค์กรของข้าราชการตามรัฐธรรมนูญนั้น ควรจะต้องศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ รวมทั้งจะต้องศึกษาและกำหนดโครงสร้าง และอำนาจหน้าที่ขององค์กรให้ชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการ
ในการประชุมดังกล่าวมีสมาชิกแสดงความคิดเห็นอันเฉียบคมที่จะนำมา เสนอต่อไป.
“ซี.12”
ที่มา : thairath.co.th