พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน เฟ้นคนเก่ง หาคนดี


855 ผู้ชม


พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน เฟ้นคนเก่ง หาคนดี




*ปฏิวัติ HR ราชการ ว่าด้วย พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน
       
       *ยกเลิก "ซี" แบ่งงานตามทักษะ ปรับเงินเดือนเป็นขั้นสูง ต่ำ ตามความสามารถ
       
       *สร้างกฎระเบียบเทียบมาตรฐานสากล ดึงคนเก่ง ดี แห่เข้าวงการ
       
       *เป็นบรรทัดฐานอาชีพ ปลายทางหวังเป็น employee of choice
       
        จากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน หรือ พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา จากแนวคิดของการปรับปรุง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมุ่งที่การเปลี่ยนมุมมองต่อระบบบริหารข้าราชการเน้นให้ข้าราชการเป็นผู้รู้รอบ รู้ลึก และเป็นแรงผลักดันที่สำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร
       
        ส่งผลต่อตัวแปรที่สำคัญคือ การปรับระบบจำแนกตำแหน่งหรือยกเลือกระบบ “ซี” การเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการเพื่อเป็นกลไกให้ระบบราชการมีระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมตามลักษณะงาน ผลงาน และความรู้ความสามารถ ทั้งกระบวนการสรรหา การบรรจุแต่งตั้ง
       
        ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือการเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาคาดจะผ่านการเห็นชอบ และกรม กระทรวงต่างๆ จะใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบใหม่ภายใน 1 ปี และจะสามารถใช้ระบบใหม่ทั้งหมดได้ก่อนสิ้นปี 2551
       
        ทั้งนี้ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ได้หยิบยกประเด็นของ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ที่ดึงดูดผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงานในสู่วงการข้าราชการและข้าราชการที่ต้องพัฒนาศักยภาพตามตัวชี้วัดที่ระบุ
       
        ปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กล่าวว่า พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ เมื่อประกาศเป็นกฎหมายจะเป็นกฎหมายที่เปลี่ยนโฉมทรัพยากรบุคคลหรือ HR ในวงราชการใหม่ทั้งหมดโดยได้คำนึงถึงหลักคุณธรรม หลักความรู้ความสามารถ หลักผลงาน หลักการกระจายอำนาจและหลักความสมดุลระหว่างคุณภาพชีวิตและการทำงานโดยกระจายอำนาจไปยังหน่วยงานของกรม กระทรวง บริหารงานบุคคลในสังกัด
       
        เช่น การกำหนดตำแหน่ง การกำหนดจรรยา ฯลฯ ซึ่งจากเดิมอำนาจเหล่านี้จะขึ้นกับ ก.พ.ทั้งสิ้น ทั้งนี้เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ส่วนราชการในการปฏิบัติงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคลากรภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันข้าราชการพลเรือนมีทั้งสิ้น 4 แสนคน การดูแลบุคลากรในสังกัดจะส่งผลต่อการคุมคุณภาพ มาตรฐานงาน
       
        ทั้งนี้ สาระสำคัญในการปรับปรุง พ.ร.บ.ได้ทำการปรับปรุงระบบตำแหน่งและประเภทตำแหน่งให้เหมาะกับลักษณะงานโดยเลิกระบบ "ซี" แบ่งเป็น 4 ประเภท 1.บริหาร 2.อำนวยการ 3.วิชากร และ 4.ทั่วไป เพื่อจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ซึ่งเท่ากับเป็นการแยกทักษะการทำงานให้ความสำคัญกับประเภทของงาน
       
        "เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าพอมีการประกาศขึ้นเงินเดือนจะเป็นการขึ้นเงินเดือนกันทุกตำแหน่งในประเทศ คนที่ไม่เก่งก็ได้เงินเดือนขึ้น"
       
        นอกจากนี้คือการจัดระบบเงินเดือนใหม่ จากเดิมเป็นขั้นก็จะยกเลิกเป็นระบบเงินเดือนขั้นสูง ขั้นต่ำ ซึ่งปรับขึ้นตามเปอร์เซ็นต์ตามระบบสากลเหมือนที่ภาคเอกชนได้ทำกัน แต่กับระบบใหม่นี้จะใช้บัญชีเงินเดือนเดิมเพื่อปรับให้เข้าระบบจากนั้นในอนาคตจะมีตัวชี้วัดทั้งผลงาน และจรรยาที่นำมาใช้ในการพิจารณาตำแหน่งเงินเดือน
       
        แต่อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้เพิ่มหมวดการรักษาจรรยา ซึ่งไม่ใช่วินัยเพราะไม่มีบทลงโทษ แต่ถ้าใครมีความประพฤติตามบทจรรยานั้นผู้บังคับบัญชาต้องส่งเสริมสนับสนุนนำมาใช้ในทางที่เป็นคุณ เช่น ในการเลื่อนตำแหน่งต้องพิจารณาจากการมีจรรยา เรื่องเงินเดือน เป็นรูปธรรมในเชิงสร้างสรรค์
       
        ซึ่งอำนาจต่างๆ เหล่านี้ ก.พ.จะเป็นผู้วางโครงหรือหลักให้แต่ในรายละเอียดทางกรม กระทรวง โดยอธิบดี ปลัดกระทรวงจะเป็นผู้พิจารณา เมื่อปรับกระจายอำนาจออกไป สิ่งที่คนกลัวคือไม่ได้รับความเป็นธรรม ใน พ.ร.บ. ระบุเสนอคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมเป็นองค์กรที่ ก.พ.เป็นเลขาและมีคณะกรรมการ 7 คน ทำหน้าที่กึ่งตุลาการ กึ่งศาล การได้มาของคณะกรรมการ จะไม่ใช้คนในระบบราชการเป็นคนที่ถูกเลือกมาจากองค์กรอิสระ สร้างความเชื่อมั่นให้กับราชการในการได้รับความเป็นธรรมและดูแลอย่างเป็นระบบ
       
        ปรีชา กล่าวว่า ด้วยระบบใหม่นี้จะทำให้งานราชการเป็นที่สนใจและสามารถดึงผู้มีความสามารถหลากหลายสาขาเข้าสู่วงการข้าราชการมากขึ้นเพราะระบบการบริหาร ผลตอบแทนตามความสามารถ ซึ่งไม่แตกต่างจากสิ่งที่เอกชนเสนอให้ ทั้งนี้มุ่งหวังให้เป็นองค์กรราชการเป็น employee of choice
       
        นนทิกร กาญจนะจิตรา ที่ปรึกษาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กล่าวว่า หลักจากมีการปรับนำระบบใหม่ไปใช้ และมีระบบการจัดการเรื่อง competency base , performance base สักระยะหนึ่ง จะทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่เตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงานเห็นระบบการทำงานราชการว่าไม่ต้องใช้เส้น ไม่ต้องมีนามสกุลที่ใหญ่โต แต่สามารถเติบโตได้ด้วยความสามารถ
       
        ซึ่งไม่ปฏิเสธว่าระบบข้าราชการพลเรือนใหม่นี้ว่าด้วยการปรับอัตราค่าจ้าเงินเดือนเป็นส่วนสำคัญด้วย ไม่แตกต่างจากภาคเอกชน และวัดกันที่ผลงานจะเป็นแรงจูงใจให้คนเก่ง คนที่มีความสามารถเข้ารับสมัครงานราชการเพิ่มขึ้น และสิ่งสำคัญเปิดโอกาสการเติบโตของอาชีพในสายวิชาการได้เร็วขึ้นจากเดิมที่ต้องรอระบบซีซึ่งการไต่เต้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นต้องใช้ระยะเวลานาน ทำให้ดูเส้นทางการเติบโตในอาชีพยาวไกลมาก ไม่มีความหวังโดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีเส้นสาย แต่ ระบบใหม่จะเห็นความก้าวหน้าที่ชัดเจนเพราะพิสูจน์กันที่ผลงาน
       
        และด้วยระบบใหม่นี้ จะส่งเสริมให้การสรรหาคนมีความหลากหลายขึ้น สามารถทดแทนในสายงานที่ขาดแคลนในวงราชการได้ เช่น สายงานคอมพิวเตอร์ ด้วยค่าตอบแทนภาครัฐและเอกชนแตกต่างกันมาก หรือในสายวิทยาศาสตร์ เด็กที่จบก็ยาก จะดึงเข้าราชการก็ยิ่งยาก คนกลุ่มนี้ ในแง่ของการทำงานโอกาสพัฒนาตัวในระบบใหม่มีมาก เพราะระบบนี้ได้มีการจัดเตรียมความก้าวหน้า ค่าตอบแทน การเติบโตด้วยความรู้ ความสามารถ เกิดความพึงพอใจในงาน ตามการวิจัยส่วนนี้สำคัญกว่าเงิน
       
        "จึงทำให้มองได้ว่าระบบใหม่ ไม่ใช่แค่การแก้ไขเรื่องความเป็นธรรม แต่เป็นการปรับทั้งระบบไม่มุ่งแก้จุดนั้นจุดนี้ แต่เป็นการเปลี่ยนระบบบริหารทรัพยากรบุคคลทั้งระบบ"
       
        ขณะเดียวกัน เมื่อระบบใหม่จูงใจให้กลุ่มคนที่มีความสามารถเข้าสู่วงราชการได้ง่ายขึ้นนั้น สอดคล้องกับนโยบายที่จะผลักดันต่อไป คือราชการสามารถเลือกใช้โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด เพื่อปรับโครงสร้างอายุคนในหน่วยงาน ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนถ่ายอายุคนเข้ามาใหม่ได้ง่านขึ้น นอกจากนี้ยังมองลึกถึงการดึงคนคุณภาพเข้ามาแทนทีได้อีกด้วย
       
        นอกจากนี้กฎหมายปัจจุบันเปิดช่องให้บรรจุผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกได้ ในวุฒิปริญญาตรี โท เอก สามารถสมัครราชการในระดับ 3 ระดับ 4 และระดับ 5 ตามลำดับ
       
        ซึ่งตลอดทั้งปี 2549 และ 2550 ทาง ก.พ. ได้ทำความเข้าใจกับทุกกรม กระทรวงอธิบายถึงระบบใหม่ ฉะนั้นสิ่งที่พูดฉะนั้นสิ่งที่พูดใน พ.ร.บ.ใหม่ ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่เป็นเรื่องที่รู้มาแล้ว รู้บทบาทแล้ว เป็นการเปลี่ยนจากบทบาทที่เป็นผู้ทำตามระเบียบ รักษากฎเกณฑ์ ต้องกลายเป็น strategic HR จะต้องมาคิดแล้วว่าจะต้องดึงคนเก่งๆ เข้ามาในองค์กรเขาอย่างไร จะรักษาคนกลุ่มนี้อย่างไร จะรีวอร์ดอย่างไร
       
        ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้เล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรบุคคลได้มีการพัฒนามาก่อนหน้านี้ เช่น กรมราชทัณฑ์ กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงการต่างประเทศ โดย ก.พ.ถือเป็นพี่เลี้ยงในการจัดเตรียม จัดหาผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการเข้าช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ
       
        "หน่วยงานบางที่เก่งเรื่องกำลังคนที่ดี ข้อมูล หรือโครงการราชการใสสะอาด ด้านคุณธรรม จริยธรรม หรือเก่งรีคูส อย่างกระทรวงต่างประเทศ เพราะกล้าลงทุนอยู่กับเขาจนเกษียณ เป็นนักการทูต ลงทุนไปรีคูสถึงต่างประเทศ กรมที่มีความพร้อมก็ทำไปได้ก่อน และที่ผ่านมาก็มีทำไปแล้ว"
       
        นนทิกร กล่าวในตอนท้ายว่า การปรับระบบใหม่เหมือนการย้ายบ้าน จะย้ายทันทีหรือค่อยๆ ย้าย แต่ขณะนี้ที่ทำคือได้ซื้อบ้านไว้แล้วและทยอยนำของเข้าทั้งของใหม่และของเก่า แต่ใน 5-10 ปีปีสิ่งที่เกิดในบ้านหลังนี้คือของใหม่หมด นั่นคือทยอยปรับเข้าสู่ระบบใหม่ที่วัดกันที่ผลของงาน

 

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์

อัพเดทล่าสุด