สถานการณ์ผู้รับงานไปทำที่บ้าน
เศรษฐกิจนอกระบบเติบโตย่างรวดเร็วมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องมาจากการค้าเสรีและการแข่งขันทางธุรกิจระดับโลกที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ส่งผลให้การค้าธุรกิจต่างๆ จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัทจำนวนมากจึงเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินการมากขึ้น มาตรการที่สำคัญคือ ธุรกิจใช้วิธีจ้างเหมางานให้บุคคลภายนอกทำงานในกระบวนการผลิตของตนในรูปแบบเหมาค่าแรง การจ้างงานเหมาช่วง การกระจ่ายหน่วยการผลิตและการบริหารจัดการออกไปสู่แหล่งต่างๆ โดยไม่จดทะเบียน เป็นต้น สถานการณ์ดังกล่าวขยายตัวไปทั่วทุกมุมโลก และส่งผลกระทบต่อมาตรฐานแรงงาน สิทธิมนุษยชนและความมั่นคงในอาชีพ
1.1 สถานการณ์ผู้รับงานไปทำที่บ้านในระดับสากล
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ได้ให้ความหมาย
ของ “เศรษฐกิจนอกระบบ” (informal economy) หรือ “ภาคนอกระบบ” (informal sector) ว่าหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกประเภททั้งการผลิตการบริหารหรือการจ้างงาน ที่ไม่ได้รับการรับรองคุ้มครองและควบคุมโดยกฎหมายหรือธรรมเนียมปฏิบัติในแต่ละสังคม หรือมีการรับรอง คุ้มครองหรือควบคุม ไม่เพียงพอหรือต่ำกว่ามาตรฐาน
กลุ่มแรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบหมายถึง ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้รับเหมาช่วงงานอุตสาหกรรมไปทำที่บ้าน (Industrial Outworkers) คนงานที่ทำงานไม่ประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างชั่วคราวตามฤดูกาล และลูกจ้างที่ทำงานไม่เต็มเวลา (Part-time workers) ลูกจ้างในโรงงานห้องแถว (Sweatshop) และคนงานที่ทำกิจการของตนเองอยู่ที่บ้าน (Own Account Workers) และโรงงานที่ไม่มีการจดทะเบียน นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงแรงงานอิสระที่ทำงานเพื่อความอยู่รอด เช่น หาบเร่ริมทาง คนขัดรองเท้า คนเก็บขยะ และแรงงานรับใช้ในบ้าน เป็นต้น
เศรษฐกิจนอกระบบมีบทบาทเป็นทั้งแหล่งป้อนปัจจัยการผลิต และแหล่งรองรับหรือเติมเต็มช่องว่างต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการผลิตรวม เป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามหาศาล เกี่ยวพันกับคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้หญิงและคนจนที่ด้อยโอกาส เนื่องจากไม่เข้มงวดในเรื่องคุณสมบัติและมีความหลากหลายสูง เศรษฐกิจนอกระบบ จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศ โดยมีบทบาททำให้เศรษฐกิจในภาพรวมเติบโต รวมทั้งเป็นสัดส่วนที่สำคัญในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDF (Gross Domestic Product)
แต่เมื่อพิจารณาความเป็นของแรงงานนอกระบบ พบว่า สังคมยังขาดข้อมูล แรงงานเหล่านี้เข้าข่าย “ไม่มีตัวตน” มีเงื่อนไขการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม มีรายได้ไม่แน่นอน ขาดการคุ้มครองทั้งทางด้านแรงงานและหลักประกันทางสังคม ต้องเผชิญความเสี่ยงในทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรงและบ่อยรั้งกว่าแรงงานในระบบ ในขณะที่มีความสามารถในการจัดการความเสี่ยงน้อยที่สุด
ILO ประมาณว่า ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมีการจ้างงานภาคนอกระบบมากกว่าในระบบ และประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีภาคนอกระบบใหญ่กว่าภาคในระบบมาก โดยมีกำลังแรงงานอยู่ในภาคนอกระบบถึงร้อยละ 80-90 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
จากการรายงานของ ILO พบว่า ข้อมูลสถิติจำนวนแรงงานนอกระบบของประเทศกำลังพัฒนาที่มักการบันทึกมีเพียง 14 ประเทศเท่านั้น ทั้งๆ ที่งานที่รับไปทำที่บ้านครอบคลุมการผลิตในสาขาต่างๆ มากมาย เช่น สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป งานทอพรม งานทำรองเท้า งานปอกกุ้ง งานรับจ้าง ทำความสะอาด และบรรจุปลา งานมวนบุหรี่ ทำธูป เตรียมอาหาร และผลิตชิ้นส่วนอีเลคทรอนิค งานพิมพ์ดีด งานส่งเอกสาร และงานแปล เป็นต้น
1.2 สถานการณ์ผู้รับงานไปทำที่บ้านในประเทศไทย
สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทำโครงการสำรวจการรับงานไปทำที่บ้านขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2542 ครั้งที่สอ
ในปี 2545 และครั้งที่สามในปี 2548 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ เกี่ยวกับการรับงานไปทำที่บ้านให้มีข้อมูลที่ต่อเนื่องทันสมัย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนงาน และกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับ หรือเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ
ผลการสำรวจการรับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2548 สรุปได้ดังนี้
(1) จำนวนครัวเรือน และผู้รับงานไปทำที่บ้าน
มีจำนวน 348,964 ครัวเรือน และประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไปที่รับงานไปทำที่บ้านมีจำนวนทั้งสิ้น
549,803 คน ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตเทศบาลร้อยละ 68.7 ในเขตเทศบาลร้อยละ 31.5
(2) สถานภาพของผู้รับงานไปทำที่บ้าน
ผู้รับงานไปทำที่บ้านเป็นหญิงมากกว่าชาย (หญิงร้อยละ 76.3 และชายร้อยละ 23.7)
อายุของผู้รับงานไปทำที่บ้าน ส่วนใหญ่ระหว่าง 30 – 49 ปี (ร้อยละ 60.5)
สถานภาพสมรส เพราะลักษณะของการรับงานไปทำที่บ้านมีความยืดหยุ่น และเอื้ออำนวยกับผู้ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานบ้าน จึงพบว่าร้อยละ 77.7 สมรสแล้ว
การศึกษา ส่วนใหญ่จบการศึกษาไม่เกินระดับประถมศึกษา คือร้อยละ 81.5 สูงกว่าระดับประถมศึกษาหรือตั้งแต่มัธยมศึกษาขึ้นไป ร้อยละ 18.5
(3) ประเภทของงานที่รับไปทำที่บ้าน
มีแทบทุกสาขาการผลิตและบริการ ประเภทอุตสาหกรรมที่มีการรับไปทำที่บ้านมากที่สุด คือ สาขาการ
ผลิต คิดเป็น 461,754 คน หรือร้อยละ 84 (โดยเป็นกิจการเสือผ้า เครื่องแต่งกายและสิ่งทอ ร้อยละ 45.8 เครื่องประดับเพชรพลอย ร้อยละ 8.8 ผลิตภัณฑ์จากไม้และกระดาษ ร้อยละ 7.5 ดอกไม้ประดิษฐ์ ร่มไม้กวาด ฯลฯ ร้อยละ 7.3) กิจการขนส่ง ขายปลีก ร้อยละ 14.3
(4) การกำหนดค่าตอบแทน
ผู้กำหนดค่าตอบแทนส่วนใหญ่ คือ ผู้ว่าจ้าง ซึ่งมีจำนวนมากถึงร้อยละ 82.04 รองลงมา คือ ผู้รับงาน
กำหนดเองเพียงร้อยละ 9.5 หัวหน้ากลุ่มร้อยละ 3.8 ส่วนการกำหนดร่วมกันระหว่างผู้รับงานและผู้ว่าจ้าง ร้อยละ 3.5
(5) ชั่วโมงการทำงาน
ผู้รับงานส่วนใหญ่ใช้เวลาทำงานแต่ละวันอยู่ระหว่าง 5 ถึง 11 ชั่วโมง (ร้อยละ 72.3) และมีจำนวน
ชั่วโมงเฉลี่ย 7.7 ชั่วโมง แม่บ้านที่เป็นผู้รับงานจะมีชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อวันเป็นปกติใกล้เคียงกับการทำงานในระบบทั่วไป แต่ชั่วเวลาทำงานนั้นแตกต่างกันไป เนื่องจากผู้รับงานอาจต้องการดูแลครอบครัวและทำงานบ้านด้วย
(6) รายได้
รายได้ หมายถึง ค่าตอบแทนทุกอย่าง จากการรับงานไปทำที่บ้านทุกประเภทในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็น
ข้อมูลของผู้รับงานด้วยตนเองและผู้รับช่วงงาน
ผู้รับงานส่วนใหญ่ (ร้อยละ 65.1) มีรายได้น้อย คือต่ำกว่า 30,001 บาทต่อปี ผู้รับงานด้วยตนเองส่วนใหญ่
มีรายได้น้อยกว่าผู้รับช่วงงาน กล่าวคือ ผู้รับงานด้วยตนเองที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท มีร้อยละ 34.9 ขณะที่ผู้รับช่วงงานมีมากถึงร้อยละ 48.5
เมื่อพิจารณาถึงรายได้เฉลี่ย พบว่า ผู้รับงานมีรายได้เฉลี่ยปีละ 47,870 บาท แต่จะแตกต่างกันตาม
ประเภทของผู้รับงาน โดยที่ผู้รับช่วงงานมีรายได้เฉลี่ย 130,011 บาทต่อปี ขณะที่ผู้รับงานด้วยตนเองมีรายได้เฉลี่ยเพียง 47,366 บาทต่อปี
(7) ความต้องการเข้าร่วมในระบบการประกันสังคม
ผู้รับงานมาทำที่บ้านที่ต้องการเข้าร่วมในระบบการประกันสังคม มีเพียงร้อยละ 22.1 และไม่ต้องการเข้า
ร่วมถึงร้อยละ 77.9 ส่วนใหญ่ให้เหตุผลที่ไม่เข้าร่วมว่า เพราะรายได้ไม่แน่นอน (ร้อยละ 30.5) รองลงมา คือ ไม่มีเงินจ่าย (ร้อยละ 27.6)
(8) การรวมกลุ่มของผู้รับงานไปทำที่บ้าน
ผู้รับงานที่มีการรวมกลุ่ม หรือเป็นสมาชิกของกลุ่ม หรือองค์กรที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการผลิต หรือ
ประกอบสินค้ามีเพียงร้อยละ 7.5 ของผู้รับงานทั้งหมด
เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หลัก หรือประเภทอุตสาหกรรมของกลุ่มที่มีการรวมตัวกัน พบว่า เป็น
ผลิตภัณฑ์ในสาขาการผลิตถึงร้อย 95.7 ในจำนวนนี้เป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และสิ่งทอมากที่สุดร้อยละ 41.1 รองลงมาคือ เครื่องประดับเพชรพลอยร้อยละ 27 ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้และกระดาษร้อยละ 9.3 และอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 8.9
(9) ความช่วยเหลือที่ผู้รับงานฯ ต้องการ
ความช่วยเหลือที่ผู้รับงานฯ ต้องการมากที่สุด คือ การหางานให้ทำอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 34.9) รองลงมา
คือ ต้องการให้คุ้มครองเรื่องอัตราค่าตอบแทน (ร้อยละ 30.6) และต้องการให้หาแหล่งเงินทุน (ร้อยละ 23.7)
นอกจากนี้ ยังมีความต้องการให้สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มผุ้รับงาน การฝึกอบรม การแนะนำความรู้ การ
ดูแลสุขภาพ และปฏิบัติงานได้ด้วยความปลอดภัย
สำหรับประเทศไทย สำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์
และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ประมาณการ ขนาดของแรงงานนอกระบบ (ไม่รวมเศรษฐกิจนอกกฎหมาย) ในปี พ.ศ. 2544 ว่ามีสัดส่วนประมาณการ 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด หรือประมาณ 22-23 ล้านคน หรือร้อยละ 73.3 ของผู้มีงานทำทั้งประเทศ เมื่อนำตัวเลขนี้มาคำนวณขนาดรายได้พบว่ามีมูลค่าประมาณ 2.33 ล้านล้านบาท หรือเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP
โดย : ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ และ พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์. ผู้รับงานไปทำที่บ้านในประเทศไทย : สิทธิและการรณรงค์นโยบาย (หน้า 6-8)
ที่มา : สมบัติ ลีกัล