หลักในการเขียนข้อบังคับการทำงานสำหรับนายจ้าง ตอนที่ 7
หลักในการเขียนข้อบังคับการทำงานสำหรับนายจ้าง
ตอนที่ 7.........
8. มีรายการต่างๆ ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด
ข้อบังคับนั้นอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการดังต่อไปนี้
- วันทำงาน เวลาทำงานปกติ และเวลาพัก
- วันหยุด และหลักเกณฑ์การหยุด
- หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด
- วันและสถานทีจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด
- วันเวลาและหลักเกณฑ์การลา
- วินัยและโทษทางวินัย
- การร้องทุกข์
- การเลิกจ้าง ค่าชดเชย และค่าชดเชยพิเศษ
ดังนั้นในการเขียนข้อบังคับการทำงานของนายจ้างต้องมีเนื้อหาต่างๆ ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายได้กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น จึงจะชอบด้วยกฎหมาย
- การใช้ภาษาให้ยึดถือถ้อยคำตมตัวบทกฎหมาย
เพื่อป้องกันการสับสนว่าสิ่งที่เรากำลังพูดหรือกล่าวถึงในข้อบังคับการทำงานว่าเป็นสิ่งเดียวกับที่กฎหมายกล่าวถึงหรือไม่ ดังนั้นในเรื่องหรือสิ่งเดี่ยวกันเมื่อเขียนลงในข้อบังคับการทำงาน นาจ้างจึงควรใช้ถ้อยคำของกฎหมายเมื่อเขียนในข้อบังคับการทำงานนั้น เช่น บางสถานประกอบการใช้คำว่า ค่าทำงานเกินเวลาหรือใช้ทับศัพท์ว่า OVER TIME ซึ่งที่ถูกต้องแล้วควรใช้คำว่า “ค่าทำงานล่วงเวลา” บางสถานประกอบการใช้คำว่า “ลาพิเศษ” ซึ่งไม่ทราบจริงๆ แล้วคือลาประเภทใด แต่ครั้นอ่านในรายละเอียดก็รู้ว่าเป็นเรื่องของการลากิจตามมาตรา 34 ของกฎหมายคุ้มครอง บางสถานประกอบการใช้คำว่า “วันหยุดนักขัตฤกษ์” แต่ที่ถูกต้องแล้วตามกฎหมายใช้คำว่า “วันหยุดตามประเพณี” สถานประกอบการจำนวนไม่น้อยเขียนข้อบังคับการทำงานว่า “หากลูกจ้างขาดงานเป็นเวลาสามวันติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม และไม่มีเหตุอันสมควร ให้เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย” ซึ่งในเจตนารมณ์ของนายจ้างก็คือต้องการเขียนให้ล้อม มาตรา 119(5) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ความว่า “ละทิ้งหน้าที่ เป็นเวลาสามวันติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร” นั่นเอง ดังนั้นนายจ้างจึงควรใช้คำว่า “ละทิ้งหน้าที่” แทนคำว่า “ขาดงาน” ซึ่งจะสอดคล้องกับตัวบทกฎหมายและกินความหมายลึกกว่าคำว่า ขาดงานมากมายนัก
- ใช้ถ้อยคำให้เป็นระเบียบภาษาเดียวกันทั้งหมด
คำที่มีความหมายอย่างเดียวกัน ควรใช้ถ้อยคำอย่างเดียวกันตลอดข้อบังคับการทำงาน นายจ้างบางสถานประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเงินและการธนาคารใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า “บริษัท” บ้าง “ธนาคาร"”บ้าง สับสนไปหมดในข้อบังคับการทำงานฉบับเดียวกัน ในกรณีนี้ควรใช้อย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นระเบียบภาษาเดียวกันซึ่งถ้าใช้คำว่า “ธนาคาร” น่าจะเหมาะสมที่สุด ระเบียบย่อยแม้ต่างฉบับกันแต่ถ้ากล่าวถึงเรื่องเดียวกัน ควรใช้คำหรือวลีเดียวกันเพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกัน มีสถานประกอบการแห่งหนึ่งไปลอกข้อบังคับการทำงานบางส่วนมาจากพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับวินัยและการลงโทษ ระบุว่า “ ข้อ45 โทษทางวินัยดังนี้ ฯลฯ .....
5) ให้ออก
6) ปลดออก
7) ไล่ออก”
ให้ออก ปลดออก ไล่ออก สำหรับข้าราชการพลเรือนมีความหมายหนักเบาแตกต่างกันและยังผูกโยงกับบำเหน็จบำนาญที่ข้าราชการผู้ถูกดำเนินการทางวินัยจะพึงได้รับหรือไม่ ตมความหมายหนักเบาของความผิดที่กระทำลงไป (ปัจจุบันสำหรับราชการเหลือเพียง ให้ออก และไล่ออกเท่านั้น) แต่งานเอกชนไม่มีสิ่งดังกล่าว จึงไม่มีความแตกต่างกันระหว่างคำว่า “ให้ออก” “ปลดออก” และ “ไล่ออก” สามารถยุบลงเหลือเพียงคำว่า “เลิกจ้าง” ก็ได้ ส่วนจะเป็นการเลิกจ้างโดยจ่ายหรือไม่จ่ายค่าชดเชย เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ที่มา : สมบัติ ลีกัล
เรื่องโดย : เกรียงไกร เจียมบุญศรี
4/5/2549