การจ้างแรงงาน ภายนอกการบินไทยเป็นการขาดธรรมมาภิบาลจริงหรือ? ตอนที่ 2


684 ผู้ชม


การจ้างแรงงาน ภายนอกการบินไทยเป็นการขาดธรรมมาภิบาลจริงหรือ? ตอนที่ 2




การจ้างแรงงานภายนอกการบินไทยเป็นการขาดธรรมมาภิบาลจริงหรือ?

 

ตอนที่ 2 ความหมายของ นายจ้าง ตาม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน

 

          หากพิจารณาให้ลึกซึ้งขึ้นอีกในมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แล้ว ที่บัญญัติว่า นายจ้างหมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึง

(1)    ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง

(2)    ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย

(3)    ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรงโดยมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับช่วงไป ควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่งก็ดี มอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดการหาลูกจ้างมาทำงาน อันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางานก็ดี โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใด หรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ให้ถือว่าผู้ประกอบการเป็นนายจ้างของลูกจ้างดังกล่าวด้วย

จากมาตรา 5 ที่กล่าวมีประโยชน์ทางกฎหมายกล่าวคือ ช่วยแบ่งนายจ้างออกเป็น 4 ประเภทคือ

      ประเภทที่หนึ่ง คือ นายจ้างตัวจริง เสียงจริง หรือนายจ้างแท้ๆ คือผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และมีอำนาจบังคับบัญชาโดยตรงต่อลูกจ้าง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Management Right คือเป็นอำนาจของนายจ้างในการสั่งเกี่ยวกับการทำงาน การติดตามงาน และการให้คุณให้โทษแก่ลูกจ้าง ซึ่งการจะพิจารณาว่านิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องสองฝ่ายว่าเป็นนายจ้างกับลูกจ้างกันหรือไม่ต้องดูที่ว่า นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชานี้หรือไม่เป็นสำคัญ การดูว่านายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาหรือไม่ให้พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า นายจ้างนั้น มีข้อบังคับการทำงาน ระเบียบปฏิบัติงาน คำสั่งมีกำหนดการให้ลูกจ้างทำงานตามวัน เวลาที่กำหนดหรือไม่ ถ้าไม่มาทำงานตามวัน เวลาทำงานนั้นต้องลากิจ ลาป่วย หรือลาลักษณะอื่นหรือไม่อย่างไร และหากลูกจ้างกระทำผิดข้อบังคับการทำงานนายจ้างมีอำนาจลงโทษลูกจ้างหรือไม่เป็นต้น ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีการับรองไว้มากมาย เช่น ฎีกาที่ 352/2524,2848/2525,2707/2531,51/2537,4644/2540 และ 2418/2544 เป็นต้น

       ประเภทที่สองคือ นายจ้างรับมอบ ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนนายจ้างตัวจริง เช่น เจ้าของอู่รถมอบหมายให้นาย ก เป็นผู้จัดการอู่ และมีอำนาจในการว่าจ้างและปกครองบังคับบัญชาลูกจ้างอื่นๆ ภายในอู่รถนั้น เป็นต้น

      ประเภทที่สามคือ นายจ้างตัวแทน หมายถึงในกรณีที่นายจ้างตัวจริงเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด ก็ต้องมีกรรมการบริษัทเป็นผู้มีอำนาจแสดงเจตนาแทนนายจ้างตัวจริงที่เป็นนิติบุคคลนั้น และยังรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากกรรมการบริษัทนั้นให้กระทำการแทนด้วย เช่น กรรมการมอบหมายให้นาย ข ผู้จัดการทั่วไปซึ่งเป็นลูกจ้างคนหนึ่งให้เป็นผู้กระทำการแทนในกิจการทั้งปวงของบริษัทก็ถือว่า นาย ข. เป็นนายจ้างตัวแทนเช่นกัน แต่นายจ้างตัวแทนเหล่านี้ไม่ต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัว ทั้งนี้ตามนัยยะคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3121-3461/2539

      ประเภทที่สี่ นายจ้างรับถือ เช่น บริษัท a ประกอบกิจการผลิตรถยนต์แต่ไม่ต้องการว่าจ้างลูกจ้างด้วยตนเอง จึงว่าจ้างให้บริษัท b ให้นำอุปกรณ์ ชิ้นส่วน เครื่องยนต์ มาประกอบเป็นรถยนต์ ด้วยวิธีเหมาค่าแรงและกำหนดให้บริษัท b จ่ายค่าจ้างและปกครองบังคับบัญชาการทำงานของลูกจ้างเอง แม้ลูกจ้างจะเป็นลูกจ้างของบริษัท b แต่กฎหมายก็ถือว่า ลูกจ้างนั้นเป็นลูกจ้างของบริษัท a ด้วย (เพื่อประโยชน์บางอย่างแก่ลูกจ้างดังที่จะได้กล่าวต่อไป) และจากการแบ่งประเภทของนายจ้างเป็นสี่ประเภทใหญ่ ๆ ดังกล่าวก็เกิดประโยชน์อยู่ 3 ประการคือ

1)      ช่วยให้รู้ตัวว่าบุคคลใดเป็นนายจ้างตลอดจนตัวบุคคลผู้แสดงเจตนากระทำการแทนนายจ้างในกรณีการตกลงว่าจ้าง หรือเลิกสัญญาจ้าง ซึ่งมีผลให้ลูกจ้างเกิด สิทธิเรียกร้อง ใน เงินค่าชดเชย และเงินอื่นๆ ตาม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน

2)      มีประโยชน์ในการหาตัวบุคคลผู้รับผิดชอบในทางอาญา

3)      มีประโยชน์ในการหาตัวบุคคลผู้รับผิดชอบทางแพ่งเพื่อ การจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานวันหยุด ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย และ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

โดย..เกรียงไกร  เจียมบุญศรี

นิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) (ม.ร.) ประกาศนียบัตรบัณฑิตกฎหมายธุรกิจ (ม.ธ.),MPA (จุฬาฯ)

ทนายความที่ปรึกษากฎหมายในคดีแรงงาน

 

11/5/2549


อัพเดทล่าสุด