สิทธิหน้าที่ของลูกจ้าง : Employee's Right & Duty


704 ผู้ชม


สิทธิหน้าที่ของลูกจ้าง : Employee's Right & Duty




สิทธิหน้าที่ของลูกจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ของลูกจ้างไว้ใน บรรพ 3 ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน มาตรา 575 – 586 สรุปได้ดังนี้

1. ลูกจ้างต้องทำงานตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง
คำสั่งที่นายจ้างสั่งแล้วลูกจ้างจะต้องทำ หมายความเฉพาะที่เกี่ยวกับงานเท่านั้น เช่น
- คำสั่งที่เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ซึ่งอาจปรากฏในรูป คำสั่ง ประกาศ ข้อบังคับ หรือระเบียบ
- คำสั่งที่เกี่ยวกับการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่

2. ลูกจ้างต้องทำงานด้วยตนเอง
สัญญาจ้างแรงงานถือว่าคุณสมบัติของลูกจ้างเป็นสาระสำคัญของสัญญา นายจ้างจะต้องพิจารณาแล้วเห็นว่าลูกจ้างมีความประพฤติ มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติงานได้ จึงจ้างเข้าทำงาน ดังนี้ลูกจ้างจะให้บุคคลอื่นทำงานแทนตนไม่ได้ เว้นแต่ ได้รับความยินยอมจากนายจ้าง

3. ลูกจ้างต้องทำงานให้ปรากฏฝีมือตามที่แสดงไว้
หากลูกจ้างได้แสดงออกโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย ว่าตนเป็นผู้มีฝีมือพิเศษ เมื่อเข้าทำงานให้แก่นายจ้างแล้ว จะต้องแสดงฝีมือให้ปรากฏตามที่แสดงไว้ก่อนเข้าทำงาน มิฉะนั้นนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นได้

4. ลูกจ้างต้องไม่ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร
คำว่า “ละทิ้งหน้าที่” หมายถึง ลูกจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างแล้วไม่มาปฏิบัติงาน เช่น ตกลงว่าจะมาทำงานในวันหยุดแล้วไม่มา ถือว่าละทิ้งหน้าที่ การละทิ้งหน้าที่ในกรณีอื่นๆ มีตัวอย่าง ด้งนี้
- ลูกจ้างไม่มาทำงานในวันทำงาน
- ลูกจ้างหยุดงานโดยลาป่วยเท็จ
- ลูกจ้างลาไม่ถูกต้องและไม่มาทำงาน
- ลูกจ้างลงชื่อเข้าทำงาน แต่ไม่ปฏิบัติงานตามหน้าที่ หรือหลบออกไปภายนอก
- ลูกจ้างนัดหยุดงานโดยไม่ชอบ

ทั้งนี้ เว้นแต่การละทิ้งหน้าที่นั้น เกิดขึ้นโดยมีเหตุอันควร เช่น
- การละทิ้งหน้าที่ เกิดจากเหตุสุดวิสัย เช่น น้ำท่วม ทางขาด แผ่นดินถล่ม ทำให้ลูกจ้างมาทำงานไม่ได้
- การละทิ้งหน้าที่เกิดจากสุขภาพร่างกาย เช่น เจ็บป่วย หรือประสบอันตรายจนไม่สามารถมาทำงานได้
- การละทิ้งหน้าที่เกิดจากเหตุทางครอบครัว เช่น ไปช่วยงานศพมารดาของสามี คอยดูแลบุตรที่ป่วยหนัก ไปจัดงานสมรสบุตรของตน

5. ลูกจ้างต้องไม่ทำผิดร้ายแรง
หากลูกจ้างทำผิดร้ายแรง นายจ้างมีสิทธิเลิกสัญญาจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งนี้ การทำผิดร้ายแรงหรือไม่นั้น พอสรุปเป็นแนวทางได้ดังนี้
- ลูกจ้างกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นนายจ้างลูกจ้าง เช่น ทำธุรกิจแข่งขันกับนายจ้าง ให้ลูกค้าซื้อสินค้าคู่แข่งของนายจ้าง ชกต่อยผู้บังคับบัญชา ด่าและท้าชกผู้บังคับบัญชาต่อหน้าลูกจ้างอื่น
- ลูกจ้างทุจริต เช่น ยักยอกเงินของนายจ้าง เบิกเงินเบี้ยเลี้ยงโดยไม่มีสิทธิ ละทิ้งหน้าที่แล้วกลับมาตอกบัตรเพื่อให้ได้เบี้ยขยัน
- ลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับสำคัญ เช่น เมาสุราขับรถเครน สูบบุหรี่ข้างที่เก็บกระดาษในโรงงานกระดาษ ยามดื่มสุราขณะปฏิบัติหน้าที่

6. ลูกจ้างต้องไม่กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต
คำว่า “กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต” นั้นหมายถึง กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งลูกจ้างที่ดีโดยทั่วไป ไม่สมควรที่จะกระทำ เช่น
- ใช้เวลาประกอบธุรกิจส่วนตัว
- มาสายเป็นประจำ
- พูดจาหยาบคาย ด่าว่าพนักงานอื่น
- ซ่อมรถบริษัทและโอนขายให้ตนเองในราคาถูก
- ขายสินค้าได้ต่ำกว่าเป้าเพราะไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่

ที่มา : HRMLAWER


อัพเดทล่าสุด