ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการแรงงานสัมพันธ์


727 ผู้ชม


ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการแรงงานสัมพันธ์




คดีแดงที่  779/2519

บริษัท เอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด โดยนายเบญจะ ดิสวัฒน์ ผู้รับมอบอำนาจ จ.
นายดำริ น้อยมณี ที่ 1 กับพวกรวม 9 คน ล.

 

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการแรงงานสัมพันธ์
ป.วิ.พ. มาตรา 84

ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์ ประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 นั้น มีผลบังคับอย่างกฎหมาย และประกาศดังกล่าวก็รับกันโดยปริยายว่าได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงไม่จำต้องสืบพยานถึงประกาศนั้นอีก

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๒/๒๕๑๖ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖

จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ให้การว่า การพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และคำชี้ขาดที่ ๒/๒๕๑๖ ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

จำเลยที่ ๘ ที่ ๙ ให้การว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ ๒/๒๕๑๖ ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ แต่จำเลยที่ ๘ ที่ ๙ มิได้มีส่วนในการออกคำสั่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยาน และวินิจฉัยว่า การพิจารณาชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ในเรื่องนี้ได้กระทำไปโดยฝ่าฝืนบทกฎหมาย คำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์คือจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์ ข้อ ๗๕ โจทก์ไม่จำต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดนี้ คำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์นั้น กฎหมายบัญญัติให้ถึงที่สุดเฉพาะแต่ในกรณีที่ทำการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการแรงงานสัมพันธ์ ข้อ ๑๔ (๒) และข้อ ๒๒ (๔) เท่านั้น ส่วนการวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีที่เกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามข้อ ๗๕ นั้น กฎหมายหาได้บัญญัติให้เป็นที่สุดแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ได้ ส่วนคำฟ้องที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๘ ที่ ๙ นั้น คำขอบังคับของโจทก์มีแต่เฉพาะขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ เท่านั้น ไม่มีคำขอบังคับถึงจำเลยที่ ๘ ที่ ๙ ด้วย คำฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๘ ที่ ๙ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ พิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ตามคำชี้ขาดที่ ๒/๒๕๑๖ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ นั้นเสีย ให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๘ ที่ ๙

จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องแรงงานสัมพันธ์ มิใช่เป็นกฎหมายอันจะถือว่าทุกคนจำต้องทราบ หากเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำสืบ แต่คดีนี้ตามคำฟ้อง คำให้การจำเลยและข้อที่คู่ความแถลง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์ที่จะใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยมีว่าอย่างไร เห็นสมควรดำเนินการสืบพยานฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประกาศดังกล่าวเสียก่อน พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ที่ให้เพิกถอนคำชี้ขาดที่ ๒/๒๕๑๖ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ นั้นเสีย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานตามนัยที่กล่าวข้างต้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ และข้อ ๑๔ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๐๓ ซึ่งข้อ ๔ บัญญัติว่า "ให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจกำหนดการแรงงานสัมพันธ์ดังต่อไปนี้ ฯลฯ " และข้อ ๑๔ บัญญัติว่า ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้จะไม่ใช้บังคับทั้งหมดหรือบางส่วนแก่ส่วนราชการหรือกิจการใดให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด" ดังนี้ เห็นได้ว่าตามข้อบัญญัติของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้อำนาจแก่กระทรวงมหาดไทยที่จะออกประกาศตามที่กำหนดไว้ในข้อดังกล่าวให้มีผลบังคับอย่างกฎหมาย และประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เป็นปัญหาข้างต้นก็ได้เป็นที่รับกันโดยปริยายว่ามีอยู่และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ถือได้ว่าเป็นที่ทราบกันทั่วไป ไม่จำต้องสืบพยานถึงประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์อีก

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาตามประเด็นที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ อุทธรณ์แล้วพิพากษาใหม่

 

(ผสม จิตรชุ่ม - ยงยุทธ เลอลภ - มงคล วัลยะเพ็ชร์ )

 

ศาลแพ่ง - นายกิตติ บูรพรรณ์

ศาลอุทธรณ์ - นายแต่ง ทองภักดี


อัพเดทล่าสุด