พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534


828 ผู้ชม


พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534




    

พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534


ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534
เป็นปีที่ 46 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้


มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพ คนพิการ พ.ศ. 2534" มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
*[รก.2534/205/18พ/25 พฤศจิกายน 2534]
มาตรา 3 บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ในส่วนที่มีบัญญัติ ไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
"คนพิการ" หมายความว่า คนที่มีความผิดปกติหรือบกพร่องทาง ร่างกาย ทางสติปัญญา หรือทางจิตใจ ตามประเภทและหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน
กฎกระทรวง
"การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ" หมายความว่า การเสริมสร้าง สมรรถภาพหรือการเสริมสร้างความสามารถของคนพิการให้มีสภาพที่ดีขึ้น
โดยอาศัยวิธีการทางการแพทย์ ทางการศึกษา ทางสังคม และการฝึกอาชีพ เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสทำงาน หรือดำรงชีวิตในสังคมทัดเทียมคนปกติ
"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพ คนพิการ
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 5 ให้มีคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวง
กลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวง สาธารณสุข ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดี
กรมการแพทย์ อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ อธิบดีกรมสามัญศึกษา และผู้ทรง คุณวุฒิอีกไม่เกินหกคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ
ให้หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการเป็น เลขานุการและให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในกรมประชา
สงเคราะห์ไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากคนพิการ ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการไม่น้อยกว่าสองคน
มาตรา 6 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) เสนอแนะนโยบายการดำเนินงานและแผนบริหารงานเกี่ยวกับ การสงเคราะห์ การพัฒนา และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการต่อรัฐมนตรี
เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้ส่วน ราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
ต่อไป
(2) ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และความเห็นแก่รัฐมนตรีในการ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
(3) สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์ การพัฒนา และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการแก่ส่วนราชการหน่วยงานของรัฐ
และเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ เงินอุดหนุน สิ่ง อำนวยความสะดวก หรือบริการต่าง ๆ ตามที่เห็นสมควร
(4) จัดทำโครงการเพื่อการสงเคราะห์ การพัฒนา และการฟื้นฟู สมรรถภาพคนพิการ
(5) อนุมัติโครงการหรือแผนงานที่จะใช้เงินกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ คนพิการ และวางระเบียบเกี่ยวกับการบริหารและการใช้จ่ายเงินกองทุน
ดังกล่าว
(6) วางระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดต่าง ๆ ภายในขอบเขต การดำเนินงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์ การพัฒนา และการฟื้นฟ
ูสมรรถภาพ คนพิการ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(7) ปฏิบัติงานอื่นตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
มาตรา 7 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
มาตรา 8 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 7 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) เป็นบุคคลล้มละลาย
(4) เป็นคนไร้ความสามารถ
(5) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิด อันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
มาตรา 9 ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในระหว่างที่
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น การแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อม ให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับ
วาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้วนั้น หรือของ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งตนแทน แล้วแต่กรณี
มาตรา 10 การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือก กรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่ง ให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานใน
ที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา 11 ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคณะหนึ่ง หรือหลายคณะเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
คณะอนุกรรมการแต่ละคณะ ให้มีคนพิการซึ่งได้จดทะเบียนไว้ตาม มาตรา 14 ไม่น้อยกว่าหนึ่งคนเป็นอนุกรรมการ
การประชุมของคณะอนุกรรมการให้นำความในมาตรา 10 มาใช้ บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 12 ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพ คนพิการขึ้นในกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่ใน
การสงเคราะห์การพัฒนา และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ และมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ประสานงานและร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและ เอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศในการดำเนินงานเกี่ยวกับการ
ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ และในการให้คนพิการได้รับการสงเคราะห์ตาม มาตรา 15
(2) รวบรวมและเก็บรักษาข้อมูลเกี่ยวกับคนพิการเพื่อประโยชน์ ในการป้องกันความพิการ การรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
(3) จัดทำแผนงานเกี่ยวกับการป้องกันความพิการ การรักษา และ การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ
(4) ริเริ่มและเร่งรัดให้มีการส่งเสริมกิจกรรมของคนพิการ
(5) จัดให้มีการฝึกอบรมผู้ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์ การพัฒนา และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ โดยร่วมมือกับส่วนราชการ
หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
(6) ส่งเสริมอาชีพและจัดหางานให้แก่คนพิการซึ่งได้รับการฟื้นฟู สมรรถภาพแล้ว
(7) เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่วิชาการและประชาสัมพันธ์ กิจกรรมเกี่ยวกับคนพิการ
(8) รวบรวมผลการวิเคราะห์ วิจัย ดำเนินการ ติดตามและ ประเมินผลการปฏิบัติงานตามนโยบาย แผนงานการสงเคราะห์ การพัฒนา
และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และ เอกชนที่เกี่ยวข้องแล้วรายงานผลให้คณะกรรมการทราบ
(9) ปฏิบัติการตามมติคณะกรรมการ หรือตามที่คณะกรรมการ มอบหมาย
มาตรา 13 ให้สำนักงานคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการตาม มาตรา 12 เป็นสำนักงานทะเบียนกลางสำหรับคนพิการในกรุงเทพมหานคร
และในจังหวัดอื่น โดยมีหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เป็นนายทะเบียนกลาง และให้ที่ทำการประชาสงเคราะห์จังหวัดทุกจังหวัดเป็น
สำนักงานทะเบียนสำหรับคนพิการในจังหวัดของตนโดยมีประชาสงเคราะห์ จังหวัดเป็นนายทะเบียนจังหวัด
มาตรา 14 ให้คนพิการซึ่งประสงค์จะได้รับสิทธิในการสงเคราะห์ การพัฒนา และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการตามพระราชบัญญัตินี้ ยื่นขอจดทะเบียน
ต่อนายทะเบียนกลาง ณ สำนักงานคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการหรือ ต่อนายทะเบียนจังหวัด ณ ที่ทำการประชาสงเคราะห์จังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่
ในกรณีที่คนพิการเป็นผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามรถ หรือคนไร้ ความสามารถ หรือในกรณีที่คนพิการมีสภาพความพิการถึงขั้นไม่สามารถไป
จดทะเบียนด้วยตนเองได้ ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล หรือบุคคลที่ดูแลคนพิการ แล้วแต่กรณีจะยื่นขอจดทะเบียนแทนก็ได้ แต่ต้องนำคนพิการหรือหลักฐานว่าเป็น
คนพิการไปแสดงต่อนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัด แล้วแต่กรณี ด้วย
การจดทะเบียน การกำหนดสิทธิหรือการเปลี่ยนแปลงสิทธิและการขอ สละสิทธิโดยคนพิการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในระเบียบ
ที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา 15 คนพิการที่ได้จดทะเบียนตามมาตรา 14 ให้ได้รับการ สงเคราะห์ การพัฒนา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ดังต่อไปนี้
(1) บริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยวิธีการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เพื่อปรับสภาพทางร่างกาย ทางสติปัญญา หรือ
ทางจิตใจ หรือเสริมสร้างสมรรถภาพให้ดีขึ้น ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(2) การศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ หรือการศึกษา สายอาชีพ หรืออุดมศึกษา ตามแผนการศึกษาแห่งชาติตามความเหมาะสม
ซึ่งให้ได้รับโดยการจัดเป็นสถานศึกษาเฉพาะหรือจัดรวมในสถานศึกษาธรรมดา ก็ได้ โดยให้ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการให้การ
สนับสนุนตามความเหมาะสม
(3) คำแนะนำชี้แจงและปรึกษาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ และการ ฝึกอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพของร่างกายและสมรรถภาพที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถ
ประกอบอาชีพได้
(4) การยอมรับและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและสิ่งอำนวยความ สะดวกและบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับคนพิการ
(5) บริการจากรัฐในการเป็นคดีความและในการติดต่อกับทางราชการ
มาตรา 16 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า กองทุนฟื้นฟู สมรรถภาพคนพิการ ในสำนักงานคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินงานและสงเคราะห์ ช่วยเหลือคนพิการและสนับสนุนสถาบันบริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
ทางการแพทย์ ทางการศึกษา ทางสังคมและการฝึกอาชีพ ตลอดจนศูนย์ เทคโนโลยีทางการศึกษา และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ
กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินอื่น ดังต่อไปนี้
(1) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
(2) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคจากประชาชน จากนิติบุคคลหรือ จากองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศหรือที่ได้มาจากการจัดกิจกรรม
(3) ดอกผลของเงินกองทุนและการขายหรือหาประโยชน์จากทรัพย์สิน ที่ได้รับบริจาค
(4) รายได้อื่น ๆ เงินและทรัพย์สินอื่นตามวรรคสอง ให้ส่งเข้ากองทุนโดยไม่ต้องส่งคลัง เป็นเงินรายได้แผ่นดิน
การจัดหาผลประโยชน์และการใช้จ่ายเงินของกองทุนให้เป็นไปตาม ระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
มาตรา 17 เพื่อเป็นการคุ้มครองและสงเคราะห์คนพิการ ให้รัฐมนตรี มีอำนาจ ออกกฎกระทรวงกำหนด
(1) ลักษณะอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ หรือบริการสาธาธณะอื่นที่ต้องมีอุปกรณ์ที่อำนวยความสำดวกโดยตรงแก่คนพิการ
(2) ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการของเอกชนรับคนพิการ เข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับลูกจ้างอื่น
ในกรณีที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการประสงค์จะไม่รับคนพิการ เข้าทำงานตามสัดส่วนที่กำหนดจะขอส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 16 ตามอัตรา
ที่กำหนดในกฎกระทรวงแทนการรับคนพิการเข้าทำงานก็ได้
มาตรา 18 เจ้าของอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ หรือบริการสาธารณะ อื่น ๆ ซึ่งได้จัดอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการตามมาตรา 17(1)
มีสิทธิหักเงินค่าใช้จ่ายเป็นสองเท่าของเงินที่เสียไปเพื่อการนั้นออกจากเงินได้สุทธิ หรือกำไรสุทธิของปีที่ค่าใช้จ่ายนั้นเกิดขึ้น แล้วแต่กรณี ตามประมวลรัษฎากร
นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการของเอกชนซึ่งรับคนพิการเข้า ทำงานตามมาตรา 17(2) มีสิทธินำเงินค่าจ้างที่จ่ายให้แก่คนพิการมาหักเป็น
ค่าใช้จ่ายตามประมวลรัษฎากรได้เป็นสองเท่าของจำนวนที่จ่ายจริง
มาตรา 19 ในระหว่างที่ยังมิได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการฟื้นฟู สมรรถภาพคนพิการขึ้นในกรมประชาสงเคราะห์ตามความในมาตรา 12 ให้กรม
ประชาสงเคราะห์มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 12 และมาตรา 13
มาตรา 20 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตาม
พระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตาม พระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวงนั้น
กฎกระทรวงเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่คนพิการ เป็นทรัพยากรส่วนหนึ่งของประเทศ แต่เนื่องจากสภาพของความพิการเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต ในการประกอบอาชีพและในการมีส่วนร่วมในกิจกรรม ของสังคม และโดยที่สมควรสนับสนุนส่งเสริมให้คนพิการได้มีโอกาสในด้านต่าง ๆ สามารถดำรงชีวิต ประกอบอาชีพและมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคมเท่าเทียม กับคนปกติทั่วไป ในการนี้ สมควรให้คนพิการได้รับการคุ้มครองการสงเคราะห์ การพัฒนาและการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยวิธีการทางการแพทย์ ทางการศึกษา ทางสังคมและการฝึกอาชีพตลอดจนแก้ไขปัญหาและขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่คนพิการ รวมทั้งให้สังคมมีส่วนร่วมในการเกื้อกูล และฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


อัพเดทล่าสุด