พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกอาชีพ พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกอาชีพ พ.ศ. 2537
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2537
เป็นปีที่ 49 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราช โองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกอาชีพ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดย คำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติส่งเสริมการ ฝึกอาชีพ พ.ศ. 2537"
มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
*[รก.2537/64ก/7/31 ธันวาคม 2537]
มาตรา 3 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การฝึกอาชีพของกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐ และองค์การของรัฐ
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
"การฝึกอาชีพ" หมายความว่า การให้หรือเพิ่มพูนความรู้ ฝีมือและ ทัศนคติที่จะทำให้ผู้รับการฝึกสามารถทำงานในสาขาอาชีพที่รับการฝึกได้อย่าง
มีประสิทธิภาพ โดยไม่มีการเรียกค่าฝึกหรือค่าตอบแทน
"สถานฝึกอาชีพ" หมายความว่า สถานที่ที่ผู้ดำเนินการฝึกจัดให้มีการ ฝึกอาชีพแก่ผู้รับการฝึก
"ผู้ดำเนินการฝึก" หมายความว่า ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนให้ดำเนินการ ฝึกอาชีพตามพระราชบัญญัตินี้
"ผู้รับการฝึก" หมายความว่า ผู้ซึ่งเข้ารับการฝึกอาชีพจาก ผู้ดำเนินการฝึก
"การฝึกเพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน" หมายความว่า การที่ นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้ฝึกอบรมเพิ่มเติม โดยมีวัตถุประสงค์ให้ลูกจ้างได้มี
ความรู้ ความสามารถและทักษะที่สูงขึ้นในสาขางานที่ปฏิบัติอยู่
"ลูกจ้าง" หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับ ค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับค่าจ้างด้วยตนเองหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่รวมถึงลูกจ้าง
ซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน
"นายจ้าง" หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่าย ค่าจ้างให้ และให้รวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ในกรณี
ที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล หมายความว่า ผู้ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น และให้รวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทน
นิติบุคคลด้วย
"ผู้ฝึก" หมายความว่า ผู้ซึ่งทำหน้าที่ฝึกผู้รับการฝึก
"หลักสูตร" หมายความว่า หัวข้อวิชาหรือขั้นตอนในการฝึกผู้รับ การฝึกตามประเภทสาขาอาชีพที่ผู้ดำเนินการฝึกหรือผู้ดำเนินการฝึกร่วมกับ
สถานศึกษากำหนดขึ้น
"สัญญาการฝึก" หมายความว่า สัญญาซึ่งผู้ดำเนินการฝึกได้ทำเป็น หนังสือกับผู้รับการฝึกหรือสถานศึกษา
"ผู้สำเร็จการฝึก" หมายความว่า ผู้รับการฝึกซึ่งได้รับหนังสือ รับรองจากผู้ดำเนินการฝึกว่าได้ผ่านการฝึกอาชีพตามหลักสูตรแล้ว
"นายทะเบียน" หมายความว่า อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมการฝึกอาชีพ
"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 5 เพื่อส่งเสริมการฝึกอาชีพ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนด สาขาอาชีพที่จะให้มีการส่งเสริมการฝึก โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออก
กฎกระทรวง ประกาศ หรือ ระเบียบ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้ บังคับได้
หมวด 1
คณะกรรมการส่งเสริมการฝึกอาชีพ
มาตรา 7 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการ ส่งเสริมการฝึกอาชีพ" ประกอบด้วยปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบดีกรมส่งเสริม อุตสาหกรรม อธิบดีกรมอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมและ
ประสานงานเยาวชนแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวง ศึกษาธิการ ผู้แทนทบวงมหาวิทยาลัย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิสองคน ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง สองคน และผู้แทนฝ่ายลูกจ้างสองคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ
รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานคนหนึ่ง เป็นกรรมการและเลขานุการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีประสบการณ์
ด้านการฝึกอาชีพไม่น้อยกว่าสิบปี
กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ให้รัฐมนตรี แต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในระเบียบกระทรวงแรงงานและ
สวัสดิการสังคม
มาตรา 8 กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่ง คราวละสองปี กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) รัฐมนตรีให้ออก
(4) เป็นบุคคลล้มละลาย
(5) เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็น โทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
เมื่อกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ รัฐมนตรีจะแต่งตั้ง กรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้
กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามวรรคสามอยู่ในตำแหน่งเท่าวาระที่ เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
มาตรา 9 การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมคราวใด ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็น
ประธานในที่ประชุม
มติในที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่ง ในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียง
เพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา 10 คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) เสนอแนะนโยบายต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการฝึกอาชีพ การกำหนด สาขาอาชีพที่จะให้มีการส่งเสริมการฝึก การกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงาน
และการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน
(2) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการฝึกอาชีพ การยกระดับมาตรฐาน ฝีมือแรงงาน การกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงาน การทดสอบมาตรฐานฝีมือ
แรงงานและการสำรวจความต้องการพัฒนาฝีมือแรงงาน
(3) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแข่งขันฝีมือแรงงานระดับชาติ ในสาขาอาชีพต่าง ๆ
(4) กำหนดคุณสมบัติของผู้ฝึกในแต่ละสาขาอาชีพ
(5) ส่งเสริมประสานงานและติดตามผลการฝึกอาชีพ การยกระดับ มาตรฐานฝีมือแรงงาน การกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการทดสอบ
มาตรฐานฝีมือแรงงานระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนในการใช้ทรัพยากร ร่วมกัน
(6) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการ
มาตรา 11 คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อ พิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้
การประชุมของคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้นำความใน มาตรา 9 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 12 การกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงาน หลักเกณฑ์และ คุณสมบัติตามมาตรา 10 (2) (3) และ (4) ให้ประกาศในราชกิจจา นุเบกษา
หมวด 2
การดำเนินการฝึกอาชีพ
มาตรา 13 ผู้ใดประสงค์จะดำเนินการฝึกอาชีพตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน
การขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 14 ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อดำเนินการฝึกอาชีพตาม มาตรา 13 ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรม โดยมีโรงงานตามกฎหมาย ว่าด้วยโรงงาน หรือ
(2) เป็นผู้ประกอบกิจการซึ่งสามารถดำเนินการฝึกอาชีพได้ ทั้งนี้ ตามประเภท ขนาด ลักษณะ และเงื่อนไขที่ รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา 15 ผู้รับการฝึกต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) มีอายุตามที่กำหนดไว้ในรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกอาชีพที่ ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน
(2) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าหลักสูตรประถมศึกษาหรือเทียบเท่า เว้นแต่ได้รับยกเว้นจากนายทะเบียน
(3) คุณสมบัติอื่นอันจำเป็นในแต่ละสาขาอาชีพตามที่ผู้ดำเนินการฝึก ได้กำหนดไว้ในรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกอาชีพที่ได้รับความเห็นชอบจาก
นายทะเบียน
มาตรา 16 ผู้ดำเนินการฝึกจะจัดให้มีการฝึกอาชีพได้เฉพาะใน งานตามสาขาอาชีพที่ได้จดทะเบียนไว้กับนายทะเบียน
มาตรา 17 ให้ผู้ดำเนินการฝึกจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการ ดำเนินการฝึกอาชีพในแต่ละสาขาอาชีพและเสนอต่อนายทะเบียนเพื่อพิจารณา
เห็นชอบก่อนเริ่มดำเนินการฝึกอาชีพดังต่อไปนี้
(1) หลักสูตรที่ใช้ในการฝึกอาชีพ
(2) สถานที่ที่ใช้ในการฝึกอาชีพ
(3) คุณสมบัติของผู้รับการฝึก
(4) กำหนดระยะเวลาการฝึก
(5) แบบสัญญาการฝึกซึ่งจะต้องประกอบด้วยรายการตามที่กำหนด ในมาตรา 18
(6) อุปกรณ์อันจำเป็นที่จะใช้ในการฝึกเท่าที่มีอยู่แล้วและที่จะต้อง หามาเพิ่มเติมในภายหลัง
(7) ชื่อและคุณสมบัติของบุคคลซึ่งกำหนดให้เป็นผู้ฝึก
(8) ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการฝึก
(9) วิธีการและมาตรฐานในการวัดผลการฝึกอาชีพ
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการฝึกที่ได้รับ ความเห็นชอบจากนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งแล้วจะกระทำมิได้ เว้นแต่ได้รับ
อนุญาตจากนายทะเบียน
มาตรา 18 ในการฝึกอาชีพ ผู้ดำเนินการฝึกต้องทำสัญญาเป็น หนังสือกับผู้รับการฝึก สัญญาการฝึกอย่างน้อยต้องประกอบด้วยรายการ
ดังต่อไปนี้
(1) ระยะเวลาการฝึก
(2) ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการฝึก
(3) เวลาฝึก เวลาพัก และวันหยุดของผู้รับการฝึก
(4) เบี้ยเลี้ยงระหว่างรับการฝึก
(5) สวัสดิการตลอดจนมาตรการเกี่ยวกับสวัสดิภาพของผู้รับการฝึก
(6) หลักเกณฑ์การลา
(7) เงื่อนไขการเลิกสัญญาการฝึก
(8) หลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนในกรณีประสบอันตรายหรือ เจ็บป่วยอันเกิดจากการฝึก
(9) หลักเกณฑ์การรับเข้าทำงานและค่าจ้างเมื่อสำเร็จการฝึก
(10) รายการอื่น ๆ ตามที่นายทะเบียนกำหนด
ในกรณีที่ผู้รับการฝึกเป็นผู้เยาว์ การเข้าทำสัญญาการฝึกต้องได้รับ ความยินยอมจากบิดา หรือมารดา หรือผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งรับผู้เยาว์นั้น
ไว้ในความปกครอง หรืออุปการะเลี้ยงดู หรือบุคคลซึ่งผู้เยาว์นั้นอาศัยอยู่ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา 19 ผู้ดำเนินการฝึกจะเรียกหรือรับเงินค่าฝึกหรือ ค่าตอบแทนในลักษณะใด ๆ อันเกี่ยวกับการฝึกอาชีพมิได้
มาตรา 20 ในการดำเนินการฝึกอาชีพ ผู้ดำเนินการฝึกต้องปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้รับการฝึกที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา 21 ให้ผู้ดำเนินการฝึกจัดทำทะเบียนประวัติผู้รับการฝึกไว้เป็นหลักฐาน และส่งสำเนาทะเบียนประวัติผู้รับการฝึกต่อนายทะเบียนภายใน
สามสิบวันนับแต่วันเริ่มการฝึกอาชีพ
มาตรา 22 เมื่อผู้รับการฝึกได้รับการฝึกอาชีพครบตามหลักสูตร และผู้ดำเนินการฝึกจัดให้มีการทดสอบตามวิธีการและมาตรฐานในการวัดผล
การฝึกอาชีพ ตามมาตรา 17 (9) แล้ว ให้ผู้ดำเนินการฝึกออกหนังสือรับรอง ให้แก่ผู้รับการฝึกภายในสามสิบวันนับแต่วันเสร็จสิ้นการทดสอบ แล้วแจ้งให้
นายทะเบียนทราบ
มาตรา 23 ในกรณีที่ผู้ดำเนินการฝึกประสงค์จะโอนการประกอบ กิจการของตนให้แก่บุคคลอื่นให้ผู้ดำเนินการฝึกแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือ
ให้นายทะเบียนทราบก่อนวันโอนไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และหากผู้รับโอนประสงค์ จะดำเนินการฝึกอาชีพในสถานประกอบการนั้นต่อไป ให้ผู้รับโอนแจ้งเป็นหนังสือ
ให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับโอนกิจการ เมื่อนายทะเบียน เห็นว่าผู้รับโอนมีลักษณะตามมาตรา 14 ให้นายทะเบียนจดแจ้งการเปลี่ยนแปลง
นั้นไว้ในทะเบียนให้เป็นผู้ดำเนินการฝึก และให้ถือว่าผู้รับโอนเป็นผู้ดำเนินการ ฝึกที่ได้จดทะเบียนไว้ตามมาตรา 13
เมื่อนายทะเบียนได้จดแจ้งตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สิทธิและหน้าที่ของ ผู้ดำเนินการฝึกที่มีอยู่ตามสัญญาการฝึกที่ผู้ดำเนินการฝึกทำไว้กับผู้รับการฝึก
และสิทธิและหน้าที่ของผู้ดำเนินการฝึกที่มีอยู่ตามสัญญาที่ผู้ดำเนินการฝึกทำไว้ กับสถานศึกษาตามมาตรา 24 หรือทำไว้กับสถานศึกษาหรือสถานฝึกอาชีพของ
ทางราชการตามมาตรา 25 โอนไปเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้ดำเนินการฝึก ซึ่งเป็นผู้รับโอน
ในกรณีที่ผู้ดำเนินการฝึกหรือผู้รับโอนไม่ประสงค์จะดำเนินการฝึกอาชีพ ในสถานประกอบการนั้นต่อไป ผู้ดำเนินการฝึกหรือผู้รับโอนต้องแจ้งเป็น
หนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน และให้นายทะเบียน ดำเนินการให้ผู้รับการฝึกซึ่งค้างการฝึกไปรับการฝึกอาชีพกับผู้ดำเนินการ
ฝึกรายอื่นในสาขาอาชีพเดียวกัน หรือดำเนินการให้เข้ารับการฝึกอาชีพใน สถานฝึกอาชีพของทางราชการต่อไป
มาตรา 24 ในกรณีที่ผู้ดำเนินการฝึกหรือสถานประกอบการรับ นักเรียนนิสิตนักศึกษาของสถานศึกษาเข้าเป็นผู้รับการฝึกตามสัญญาที่ได้ทำไว้
กับสถานศึกษา ให้ดำเนินการไปตามหลักสูตรที่ผู้ดำเนินการฝึกหรือสถาน ประกอบการและสถานศึกษาได้ร่วมกันจัดทำขึ้น และให้ผู้ดำเนินการฝึกหรือ
สถานประกอบการจัดส่งหลักสูตรดังกล่าวและสัญญาที่ได้ทำไว้กับสถานศึกษา ไปให้นายทะเบียนทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันทำสัญญา
สัญญารับนักเรียนนิสิตนักศึกษาเข้าเป็นผู้รับการฝึกระหว่างสถานศึกษา กับผู้ดำเนินการฝึกหรือสถานประกอบการ อย่างน้อยต้องประกอบด้วยรายการ
ดังต่อไปนี้
(1) ระยะเวลาการฝึก
(2) ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการฝึก
(3) เวลาฝึก เวลาพัก และวันหยุดของนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่รับ การฝึก
(4) สวัสดิการตลอดจนมาตรการเกี่ยวกับสวัสดิภาพที่จะจัดให้แก่ นักเรียนนิสิตนักศึกษาที่เข้ารับการฝึก
(5) หลักเกณฑ์การลา
(6) เงื่อนไขการเลิกสัญญาการฝึก
(7) หลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนแก่นักเรียนนิสิตนักศึกษาซึ่งเข้ารับ การฝึกในกรณีที่นักเรียนนิสิตนักศึกษาประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเกิดจาก
การฝึก
ให้นำความในมาตรา 19 มาตรา 20 และมาตรา 21 มาใช้บังคับ แก่การดำเนินการฝึกอาชีพให้แก่นักเรียนนิสิตนักศึกษาตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
มาตรา 25 ผู้ดำเนินการฝึกหรือสถานประกอบการจะดำเนินการให้ ผู้รับการฝึกหรือผู้ซึ่งสถานประกอบการจะรับเข้าทำงาน แล้วแต่กรณี ไปรับ
การฝึกอาชีพในสถานศึกษาหรือสถานฝึกอาชีพของทางราชการก็ได้ หลักสูตร และหลักเกณฑ์ในการฝึกต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน
ให้นำความในมาตรา 20 มาใช้บังคับแก่ผู้ดำเนินการฝึกและสถาน ประกอบการตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
มาตรา 26 ให้ผู้ดำเนินการฝึกที่ได้จดทะเบียนไว้กับนายทะเบียน ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
หมวด 3
การฝึกเพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน
มาตรา 27 นายจ้างจะจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานอยู่กันตนเข้ารับ การฝึก เพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานก็ได้
มาตรา 28 ในระหว่างการฝึกเพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน นายจ้างยังคงมีหน้าที่ต่อลูกจ้างอยู่ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับในการ
ทำงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่การฝึกนั้นเกิดจากการ ร้องขอของลูกจ้างและมีการตกลงกันเป็นหนังสือ และนายจ้างอาจจัดให้
ลูกจ้างฝึกนอกเวลาทำงานปกติหรือในวันหยุดของลูกจ้างก็ได้ โดยนายจ้าง ต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างในเวลาทำงานปกติตามจำนวนชั่วโมงที่ฝึก
และให้นายจ้างส่งสำเนาสัญญาแก่นายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันทำ สัญญา
หมวด 4
การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน
มาตรา 29 เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้กรมพัฒนา ฝีมือแรงงานจัดให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพต่าง ๆ
อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง สาขาอาชีพ มาตรฐานฝีมือแรงงาน การรับสมัคร ผู้ขอรับการทดสอบ และวิธีการทดสอบให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
ผู้ดำเนินการฝึกอาชีพตามมาตรา 13 มีสิทธิส่งผู้สำเร็จการฝึกเข้า รับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานตามวรรคหนึ่งได้
ให้นายทะเบียนออกวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือ แรงงาน
การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้เป็นไปตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด แต่ต้องไม่เกินครั้งละหนึ่งพันบาท
ต่อคน
มาตรา 30 ในกรณีที่ผู้ดำเนินการฝึกขอรับคำแนะนำหรือความ ช่วยเหลือในกิจการที่เกี่ยวกับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อประโยชน์
ในการฝึกอาชีพ และการส่งผู้รับการฝึกเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การจัดทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน
(2) การฝึกอบรมผู้ฝึกเพื่อให้การดำเนินการฝึกอาชีพเป็นไปตาม มาตรฐานฝีมือแรงงาน
(3) การอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการฝึก
(4) การจัดทำเอกสารประกอบการฝึกอาชีพ
(5) การฝึกเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้รับการฝึกมีฝีมือตามมาตรฐานฝีมือ แรงงาน
มาตรา 31 ให้ถือว่าผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานซึ่ง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ดำเนินการทดสอบก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
เป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัตินี้
หมวด 5
สิทธิและประโยชน์ของผู้ดำเนินการฝึก
มาตรา 32 เพื่อส่งเสริมการฝึกอาชีพ ให้ผู้ดำเนินการฝึกได้รับ สิทธิและประโยชน์ดังต่อไปนี้
(1) สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือในด้านการฝึก การสอน การจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
(2) สิทธิที่จะได้หักค่าใช้จ่ายในการฝึก การสอน เป็นกรณีพิเศษ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร
(3) สิทธิและประโยชน์อื่น ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
หมวด 6
พนักงานเจ้าหน้าที่และนายทะเบียน
มาตรา 33 ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) เข้าไปในสถานที่ที่ใช้ในการฝึกอาชีพในระหว่างเวลาทำการ เพื่อตรวจตราและให้คำแนะนำแก่ผู้ดำเนินการฝึกหรือสถานประกอบการตาม
มาตรา 24 ปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(2) สอบถามผู้ดำเนินการฝึก ผู้ฝึก หรือผู้รับการฝึกเกี่ยวกับ การให้การฝึกหรือการรับการฝึก
ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลที่ เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก ให้คำชี้แจง หรือส่งเอกสารหลักฐานที่
เกี่ยวข้องแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ร้องขอ
มาตรา 34 ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตร ประจำตัว เมื่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้องร้องขอ
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดใน กฎกระทรวง
มาตรา 35 ในกรณีที่ผู้ดำเนินการฝึกฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทแห่ง พระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวง หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้
ให้นายทะเบียนเตือนเป็นหนังสือให้ผู้ดำเนินการฝึกปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลา ที่กำหนด
ในกรณีที่ผู้ดำเนินการฝึกไม่ปฏิบัติตามคำเตือนตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเป็นผู้ดำเนินการฝึก
มาตรา 36 ผู้ดำเนินการฝึกซึ่งถูกเพิกถอนการจดทะเบียนมีสิทธิ อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับคำสั่ง และให้
คณะกรรมการแจ้งผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
ในระหว่างรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้ผู้ดำเนินการฝึกดำเนินการฝึก ผู้รับการฝึกต่อไปได้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
ในกรณีที่ผู้ดำเนินการฝึกไม่อุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียน หรือในกรณีที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ ให้นำความในมาตรา 23
วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็น การสมควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการฝึกอาชีพแก่บุคคล
ซึ่งอยู่ในวัยทำงาน ได้ฝึกตนให้มีฝีมือเพื่อมีโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงาน และเพื่อให้บุคคลซึ่งทำงาน อยู่แล้วได้รับการฝึกเพื่อยกระดับมาตรฐาน
ฝีมือแรงงาน รวมทั้งเพื่อให้มีการร่วมมือ ระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษาในการรับนักเรียนนิสิตนักศึกษา เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการ
ซึ่งจะเป็นการพัฒนากำลังคน ให้สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจและอุตสาหกรรม จึงจำเป็น ต้องตราพระราชบัญญัตินี้