ผู้ประกันตนว่างงาน...ต้องทำอย่างไรบ้าง


1,027 ผู้ชม


ผู้ประกันตนว่างงาน...ต้องทำอย่างไรบ้าง

บทความ
สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน   เป็นสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง หรือลาออกจากงาน  โดยมีเงื่อนไขในการรับประโยชน์ทดแทนว่าผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6  เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงานจึงจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ไม่ว่าจะถูกเลิกจ้างหรือลาออกก็ตามการที่ถูกเลิกจ้างผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ ระยะเวลาไม่เกิน  180  วัน โดยสำนักงานประกันสังคมได้เตรียมมาตรการในการบรรเทาปัญหาการว่างงาน โดยได้ดำเนินการขยายเวลาของการรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จากเดิม 180  วัน เป็น 240 วัน    ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในราวเดือนมกราคม 2552  ส่วนกรณีที่ผู้ประกันตนลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา    ไว้แน่นอน ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง       ที่นำส่งเงินสมทบ ระยะเวลาไม่เกิน  90  วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในราวเดือนมกราคม 2552  และนอกจากนี้ผู้ประกันตน    จะยังคงได้รับการคุ้มครองต่ออีก  6  เดือนจากประกันสังคม 4 กรณี  คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย  ทุพพลภาพ  ตายไม่เนื่องจากการทำงาน และคลอดบุตร ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิดังกล่าวนั้นจะต้องปฏิบัติดังนี้
1.ผู้ประกันตนต้องรีบขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักจัดหางาน กรมการจัดหางาน    ภายใน 30 วัน
2.กรอกแบบฟอร์มใบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน พร้อมด้วยหลักฐานดังนี้
 - บัตรประชาชน
 -  รูปถ่าย 1  นิ้ว 1 ใบ
3.กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน พร้อมด้วยหลักฐานดังนี้
 - หนังสือรับรองการออกจากงาน หรือสำเนาแบบแจ้งการออกจากงาน     (สปส.6-09) หรือ หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างที่ให้ออกจากงาน
 - สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและ   เลขบัญชี
4.เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานทำการสัมภาษณ์/ตรวจสอบคุณสมบัติและประวัติ การทำงาน
5.เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานทำการเลือกตำแหน่งงานว่างให้เลือก 3 แห่ง  ให้ผู้ประกันตนกรณีว่างานได้พิจารณา
6.หากยังไม่มีงานที่เหมาะสม เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจะประสานงานส่งฝึกอบรมแรงงานตามความจำเป็น แต่หากผู้ประกันตนกลับเข้าทำงานในสถานประกอบการ หรือปฏิเสธ   การฝีกงานที่จัดหาให้และไม่ไปรายงานตัวตามที่กำหนด  สำนักงานประกันสังคมจะงดจ่ายประโยชน์ทดแทนทันที
7.เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกสถานะผู้ประกันตนกรณีว่างงานเข้าสู่ฐานข้อมูลกลาง
8.เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมดึงข้อมูลผู้ประกันตนกรณีว่างงานขึ้นมาวินิจฉัย      ตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิ
9.เมื่อคุณสมบัติครบถ้วน สำนักงานประกันสังคมทำการโอนเงินทดแทนการขาดรายได้ตามสิทธิให้ผู้ประกันตน ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน เดือนละ 1 ครั้งผ่าน 9 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน)
10.หากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่พอใจคำสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
นอกจากนี้ ในระยะเวลาที่ผู้ประกันตนว่างเว้นจากการทำงานในช่วง 6 เดือนนี้           หากผู้ประกันตนที่มีความประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อ สามารถยื่นสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา  39 คือภายใน 6  เดือน นับแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ทั้งนี้      ต้องเคยส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12  เดือน โดยผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี  คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายไม่เนื่องจากการทำงาน สงเคราะห์บุตร       คลอดบุตร  และชราภาพ โดยผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่องถ้าผู้ประกันตน      ขาดส่งเงินสบทบติดต่อกันเกิน 3  เดือน จะถูกตัดสิทธิการเป็นผู้ประกันตน
--------------------------------------------------------
ศูนย์สารนิเทศ  สายด่วนประกันสังคม  1506  www.sso.go.th

อัพเดทล่าสุด