พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.๒๕๓๕


779 ผู้ชม


พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.๒๕๓๕




พระราชบัญญัติ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
พ.ศ. 2530
____________  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530
เป็นปีที่ 42 ในรัชกาลปัจจุบัน

       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
       โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
       จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

       มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530

       มาตรา 2  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

       มาตรา 3  ในพระราชบัญญัตินี้
       "กองทุน" หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ ประกอบด้วยเงินที่ลูกจ้างจ่ายสะสม เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบ รวมทั้งเงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้และผลประโยชน์จากเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างตาย หรือออกจากงาน หรือลาออกจากกองทุน
       "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงาน  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายเป็นการตอบแทนโดยวิธีใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างใด แต่ไม่รวมถึงค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด หรือเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่นายจ้างหักไว้ หรือจ่ายเพิ่มเติมให้แก่ลูกจ้างเพื่อประโยชน์ในการทำงาน
       "นายจ้าง" หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล และไม่ว่าการตกลงนั้นจะมีสัญญาเป็นหนังสือหรือไม่
       "ลูกจ้าง"หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะมีสัญญาเป็นหนังสือหรือไม่
       "นายทะเบียน" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
       "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
       "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

       มาตรา 4  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้  และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียน และพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงและกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
       กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด 1
การจัดตั้ง

       มาตรา 5  กองทุนจะมีขึ้นได้ก็แต่โดยที่ลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันจัดตั้งขึ้น โดยลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของกองทุนนั้น
กองทุนต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างตาย หรือออกจากงาน หรือลาออกจากกองทุน

       มาตรา 6  เมื่อลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันจัดตั้งกองทุนขึ้นตามมาตรา 5 แล้ว ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
       เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างที่ได้จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะให้เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง

       มาตรา 7  กองทุนที่ได้จดทะเบียนแล้วให้เป็นนิติบุคคล

       มาตรา 8  ในการขอจดทะเบียนกองทุน ถ้าได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 และมีข้อบังคับถูกต้องตามมาตรา 9 และข้อบังคับนั้นไม่ขัดต่อกฎหมายหรือวัตถุประสงค์ของกองทุน ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนได้และให้ออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่กองทุนนั้น
       ให้นายทะเบียนประกาศการจดทะเบียนกองทุนในราชกิจจานุเบกษา

       มาตรา 9  ข้อบังคับของกองทุนอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
       (1) ชื่อ ซึ่งต้องมีคำว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นำหน้า และมีคำว่า ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ต่อท้าย
       (2) ที่ตั้งสำนักงาน
       (3) วัตถุประสงค์
       (4) วิธีรับสมาชิกและการสิ้นสมาชิกภาพ
      (5) ข้อกำหนดเกี่ยวกับจำนวนกรรมการ วิธีการเลือกตั้งและแต่งตั้งวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมของคณะกรรมการกองทุน
       (6) ข้อกำหนดเกี่ยวกับเงินสะสมของลูกจ้างและเงินสมทบของนายจ้างที่จะต้องจ่ายเข้ากองทุน
       (7) ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับ
      (8) ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการจ่ายเงินเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพ หรือเมื่อกองทุนเลิกตามมาตรา 25
       (9) ข้อกำหนดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของกองทุน
       (10) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประชุมใหญ่
       (11) รายการอื่น ๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
      การแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับของกองทุนให้คณะกรรมการกองทุนนำไปจดทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีมติให้แก้ไข และยังไม่มีผลใช้บังคับจนกว่านายทะเบียนจะได้รับจดทะเบียนแล้ว

        มาตรา 10  ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน โดยให้นายจ้างหักจากค่าจ้างและให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน แต่ข้อบังคับนั้นจะต้องกำหนดให้หักค่าจ้างเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละสามแต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าของค่าจ้าง และให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามจำนวนลูกจ้างในอัตราไม่ต่ำกว่าอัตราเงินสะสมของลูกจ้าง แต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าของค่าจ้าง
       ลูกจ้างและนายจ้างอาจตกลงกันให้จ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่กำหนดในวรรคหนึ่งโดยอนุมัติรัฐมนตรีก็ได้
       ให้นายจ้างส่งเงินตามวรรคหนึ่งเข้ากองทุนภายในสามวันทำการนับแต่วันที่มีการจ่ายค่าจ้างในกรณีที่นายจ้างส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนล่าช้ากว่าสามวันทำการ ให้นายจ้างจ่ายเงินเพิ่มให้แก่กองทุนในระหว่างเวลาที่ส่งล่าช้าในอัตราร้อยละห้าต่อเดือน ของจำนวนเงินสะสมหรือเงินสมทบที่ส่งล่าช้านั้น

       มาตรา 11  ให้กองทุนมีคณะกรรมการกองทุน ประกอบด้วยผู้แทนซึ่งลูกจ้างเลือกตั้งและผู้แทนซึ่งนายจ้างแต่งตั้ง มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของกองทุน และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนและเป็นผู้แทนของกองทุนในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการกองทุนจะมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้
       การแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนหรือการเปลี่ยนกรรมการ ให้คณะกรรมการกองทุนนำไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนหรือเปลี่ยนกรรมการ

หมวด 2
การจัดการกองทุน

       มาตรา 12  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งการจัดการกองทุนเพื่อประโยชน์ในการนี้จะสั่งให้ผู้จัดการกองทุนชี้แจงข้อเท็จจริง ทำรายงานเกี่ยวกับการจัดการกองทุนและมีอำนาจสั่งให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการกองทุนได้
  ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่าผู้จัดการกองทุนใดจัดการกองทุนในลักษณะที่อาจเป็นเหตุให้เสียหายแก่กองทุน รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ผู้จัดการกองทุนแก้ไขหรือระงับการกระทำนั้นหรือสั่งถอดถอนผู้จัดการกองทุนได้   

     เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง รัฐมนตรีอาจมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปฏิบัติหน้าที่แทน และจะมอบหมายให้แต่งตั้งพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้
       มาตรา 13  การจัดการกองทุนจะต้องดำเนินการโดยบุคคลอื่นซึ่งมิใช่นายจ้าง และต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี

        มาตรา 14  การจัดการและค่าใช้จ่ายในการจัดการกองทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

       มาตรา 15  ให้นายจ้างแยกบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินอื่นของตนออกจากบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินอื่นของกองทุนโดยเด็ดขาด

       มาตรา 16  ให้ผู้จัดการกองทุนจัดทำรายงานแสดงยอดเงินสะสมของลูกจ้าง เงินสมทบของนายจ้างพร้อมทั้งผลประโยชน์ที่ลูกจ้างแต่ละคนจะได้รับ และแจ้งให้ลูกจ้างดังกล่าวทราบอย่างน้อยปีละสองครั้ง

       มาตรา 17  นายทะเบียนจะกำหนดให้ผู้จัดการกองทุนยื่นรายงานหรือแสดงเอกสารใดตามระยะเวลาหรือเป็นครั้งคราวตามที่กำหนดก็ได้และจะให้ผู้จัดการกองทุนทำคำชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความแห่งรายงานหรือเอกสารนั้นด้วยก็ได้
       รายงานและเอกสารที่ยื่นหรือแสดงหรือคำชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความตามวรรคหนึ่ง ผู้จัดการกองทุนต้องทำให้ครบถ้วนและตรงต่อความเป็นจริง

       มาตรา 18  ผู้จัดการกองทุนต้องจัดทำบัญชีแสดงฐานะการเงินของกองทุนตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด และต้องเก็บรักษาเอกสารประกอบบัญชีแสดงให้เห็นความถูกต้องแห่งบัญชีนั้นไว้ด้วย
       ให้ผู้จัดการกองทุนรายงานฐานะการเงินของกองทุนต่อรัฐมนตรีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

       มาตรา 19  ผู้จัดการกองทุนต้องจัดให้มีการสอบบัญชีทุกปี และต้องเสนองบดุลพร้อมด้วยรายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีต่อที่ประชุมใหญ่ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีของกองทุน
       เมื่อที่ประชุมใหญ่รับรองงบดุลแล้ว ให้ส่งสำเนาหนึ่งชุดให้แก่นายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่รับรอง และต้องแสดงไว้ที่สำนักงานกองทุนเพื่อให้ลูกจ้างตรวจดูได้ด้วย

       มาตรา 20  ผู้จัดการกองทุนพ้นจากการเป็นผู้จัดการกองทุนก่อนครบกำหนดสัญญา เมื่อ
       (1) รัฐมนตรีสั่งถอดถอนตามมาตรา 12 วรรคสอง
       (2) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 13
       (3) กองทุนหรือผู้จัดการกองทุนบอกเลิกสัญญา หรือ
       (4) กองทุนเลิกตามมาตรา 25
      มาตรา 21  ในกรณีที่ผู้จัดการกองทุนพ้นจากการเป็นผู้จัดการกองทุนให้ผู้จัดการกองทุนส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินอื่นของกองทุนพร้อมทั้งบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องแก่คณะกรรมการกองทุนภายในเจ็ดวันนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง
       เว้นแต่กรณีผู้จัดการกองทุนพ้นจากการเป็นผู้จัดการกองทุนตามมาตรา 20 (4) ให้คณะกรรมการกองทุนแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนใหม่ภายในสามสิบวัน นับแต่วันผู้จัดการกองทุนเดิมพ้นจากตำแหน่งและให้แจ้งการแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนใหม่แก่นายทะเบียนภายในสิบสี่วัน นับแต่วันแต่งตั้ง

      มาตรา 22  ลูกจ้างและนายจ้างจะขอตรวจดูบัญชีและเอกสารของกองทุน ณ สำนักงานกองทุนได้ในเวลา      เปิดทำการ

หมวด 3
การจ่ายเงินจากกองทุนและการเลิกกองทุน

       มาตรา 23  เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน โดยให้จ่ายรวมทั้งหมดครั้งเดียว ภายในเวลาไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันสิ้นสมาชิกภาพ
       ในกรณีสิ้นสมาชิกภาพเพราะถึงแก่ความตาย ถ้าลูกจ้างมิได้กำหนดบุคคลผู้จะพึงได้รับเงินจากกองทุนไว้โดยพินัยกรรมหรือทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่ผู้จัดการกองทุนหรือได้กำหนดไว้แต่บุคคลผู้นั้นตายก่อนให้จ่ายเงินจากกองทุนตามวรรคหนึ่งให้แก่บุคคลตามหลักเกณฑ์ดังนี้
       (1) บุตรให้ได้รับสองส่วน แต่ถ้าผู้ตายมีบุตรตั้งแต่สามคนขึ้นไปให้ได้รับสามส่วน
       (2) สามีหรือภริยาให้ได้รับหนึ่งส่วน
       (3) บิดามารดา หรือบิดา หรือมารดาที่มีชีวิตอยู่ให้ได้รับหนึ่งส่วน
       ถ้าผู้ตายไม่มีบุคคลดังกล่าวใน (1) (2) หรือ (3) หรือมีแต่ได้ตายไปก่อน ให้แบ่งเงินที่บุคคลนั้นมีสิทธิจะได้รับให้แก่บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ตามส่วนที่กำหนดในวรรคสอง
   ถ้าผู้ตายไม่มีบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนตามวรรคสองหรือไม่มีทายาทตามกฎหมายแล้วให้เงินดังกล่าวตกเป็นของกองทุนเพื่อจัดการตามที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน

        มาตรา 24  ภายใต้บังคับมาตรา 23 สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

       มาตรา 25  กองทุนย่อมเลิก เมื่อ
       (1) นายจ้างเลิกกิจการ
       (2) ที่ประชุมใหญ่มีมติให้เลิก
       (3) มีกรณีที่ข้อบังคับของกองทุนกำหนดให้เลิก หรือ
       (4) รัฐมนตรีสั่งให้เลิกกองทุนตามมาตรา 27
      ในกรณีที่กองทุนจัดตั้งขึ้นโดยมีนายจ้างมากกว่าหนึ่งราย การที่นายจ้างบางรายเลิกกิจการหรือถอนตัวจากกองทุนไม่เป็นเหตุให้กองทุนต้องเลิก เว้นแต่ข้อบังคับของกองทุนกำหนดให้เลิก
       เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้คณะกรรมการกองทุนแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่นายจ้างบางรายเลิกกิจการหรือถอนตัว และจัดให้มีการชำระบัญชีกองทุนเฉพาะส่วนทรัพย์สินของนายจ้างและลูกจ้างของนายจ้างนั้นตามวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน เมื่อได้ชำระบัญชีแล้วให้แจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันเสร็จการชำระบัญชี

        มาตรา 26  เมื่อกองทุนเลิกตามมาตรา 25 (1) (2) หรือ (3) ให้คณะกรรมการกองทุนแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่กองทุนเลิก และให้คณะกรรมการกองทุนจัดให้มีการชำระบัญชีภายในสามสิบวันและให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับแต่วันที่กองทุนเลิก เว้นแต่กรณีจำเป็นรัฐมนตรีจะอนุมัติให้ขยายเวลาออกไปได้ตามที่เห็นสมควร

       มาตรา 27  รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้เลิกกองทุนได้ในกรณีดังต่อไปนี้
       (1) มีพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นว่า การดำเนินงานของกองทุนขัดต่อวัตถุประสงค์หรือขัดต่อกฎหมาย
       (2) มีพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นว่ากิจการของกองทุนไม่อาจดำเนินต่อไปได้ไม่ว่าเพราะเหตุใด
       คำสั่งของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด และให้นายทะเบียนแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้กองทุนทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีสั่ง
       เมื่อรัฐมนตรีสั่งให้เลิกกองทุนตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้มีการชำระบัญชีและให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี

       มาตรา 28  เมื่อกองทุนเลิกตามมาตรา 25 ให้นายทะเบียนประกาศการเลิกกองทุนในราชกิจจานุเบกษาและปิดประกาศไว้ที่สำนักงานของกองทุนหรือที่ทำการของนายทะเบียน

       มาตรา 29  การชำระบัญชีกองทุนให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำกัดมาใช้บังคับโดยอนุโลม
       ในระหว่างการชำระบัญชี ถ้าผู้ชำระบัญชีเห็นสมควรจะจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างบางส่วนก่อนก็ได้ และเมื่อได้ชำระบัญชีแล้ว ให้จ่ายเงินทั้งหมดที่ค้างชำระแก่ลูกจ้างให้เสร็จภายในเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันเสร็จการชำระบัญชี ถ้ามีเงินเหลืออยู่ให้จัดการตามที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน
       ค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนในการชำระบัญชี ให้จ่ายจากทรัพย์สินของกองทุน

หมวด 4
พนักงานเจ้าหน้าที่

       มาตรา 30  เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการจัดการกองทุนให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้
       (1) เข้าไปในสำนักงานของกองทุนหรือของผู้จัดการกองทุนเพื่อตรวจสอบกิจการสินทรัพย์และหนี้สินของกองทุนในเวลาทำงานปกติ
       (2) สั่งให้กรรมการ ผู้จัดการกองทุน หรือเจ้าหน้าที่ของกองทุนซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุนส่งหรือแสดงบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นของกองทุน
       (3) เรียกบุคคลดังกล่าวใน (2) มาเพื่อสอบถามหรือแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการกองทุน

       มาตรา 31  ในการปฏิบัติหน้าที่    นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง
       บัตรประจำตัวนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

หมวด 5
บทกำหนดโทษ

       มาตรา 32  กองทุนใดไม่ใช้ชื่อซึ่งมีอักษรไทยว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นำหน้า และ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ต่อท้าย หรือใช้ชื่อเป็นอักษรต่างประเทศแต่ไม่ใช้คำซึ่งมีความหมายดังกล่าวในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความหรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจของกองทุน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

       มาตรา 33  ผู้ใดใช้ชื่อซึ่งมีอักษรไทยประกอบว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นำหน้าและ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ต่อท้าย หรือใช้ชื่อเป็นอักษรต่างประเทศซึ่งมีความหมายดังกล่าว ในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความหรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจโดยมิได้เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าร้อยบาท จนกว่าจะได้เลิกใช้

       มาตรา 34  คณะกรรมการกองทุนใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 11 วรรคสอง มาตรา 13 มาตรา 21 วรรคสอง มาตรา 25 วรรคสาม หรือมาตรา 26 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

       มาตรา 35  ผู้จัดการกองทุนใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรีตามมาตรา 12 หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา 14 หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

       มาตรา 36  ผู้ใดจัดการกองทุนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

       มาตรา 37  นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
       มาตรา 38  ผู้จัดการกองทุนใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 18 หรือมาตรา 19 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

       มาตรา 39  ผู้จัดการกองทุนใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 วรรคหนึ่งต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับอีกวันละหนึ่งพันบาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

มาตรา 40  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ขัดขวางหรือไม่ให้ความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 30 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

       มาตรา 41  ในกรณีที่คณะกรรมการกองทุนกระทำความผิดตามมาตรา 34 ให้ถือว่ากรรมการทุกคนเป็นผู้กระทำความผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นเป็นใจกับกรรมการอื่น หรือได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว

       มาตรา 42  ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้ตามมาตรา 38 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
       คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้มีจำนวนสามคนซึ่งคนหนึ่งต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
       เมื่อคณะกรรมการได้ทำการเปรียบเทียบคดีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน

       มาตรา 43  ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ามิได้ฟ้องต่อศาลหรือมิได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการทำการเปรียบเทียบตามมาตรา 42 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำความผิด หรือภายในห้าปีนับแต่วันที่กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยความสมัครใจของนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อประสงค์จะให้เป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงาน ตลอดจนส่งเสริมการระดมเงินออมภาคเอกชนเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ   ซึ่งในการนี้สมควรวางหลักเกณฑ์การดำเนินการและการจัดการกองทุนเพื่อให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมั่นคงและเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


อัพเดทล่าสุด