"พรบ.พัฒนาฝีมือแรงงาน" สร้างชาติสร้างมูลค่าวิชาชีพ MUSLIMTHAIPOST

 

"พรบ.พัฒนาฝีมือแรงงาน" สร้างชาติสร้างมูลค่าวิชาชีพ


769 ผู้ชม


"พรบ.พัฒนาฝีมือแรงงาน" สร้างชาติสร้างมูลค่าวิชาชีพ




        - หลากเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ "พรบ.พัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545"
        - ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องหันมาสร้างมูลค่าวิชาชีพ จ่ายตามความสามารถที่แท้จริงรายบุคคล
        - ชี้สารพัดปัญหาของไทย อยากยิ่งใหญ่ในเวทีโลก แต่แรงงานมีทักษะยังบ้อท่า
        - โลกสมัยใหม่ไม่ได้ต้องการคนที่ทำเป็นอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักคิดและวิเคราะห์เป็น
       
        หลากหลายนโยบายของภาครัฐในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและแข่งขันได้ เน้นขยายโอกาส สร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ มุ่งไปสู่การเพิ่มมูลค่าผลผลิตบนพื้นฐานความรู้
       
        ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มาหยุดอยู่ที่คน ที่จำเป็นต้องพัฒนาฝีมือแรงงาน สร้างศักยภาพการเรียนรู้และเติบโตต่อไป ถือเป็นภารกิจสำคัญของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงแรงงาน ที่ต้องเสริมระบบการจัดการในลักษณะ Service Delivery Unit และ Outsourcing
       
       ด้วยการจัดให้มีกฎหมายส่งเสริมการประกอบอาชีพ จูงใจให้แรงงานและสถานประกอบการให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถและทักษะ รวมถึงบริหารค่าตอบแทนและการจ้างงาน โดยยึดหลักความสามารถและทักษะฝีมือของบุคคลเป็นหลัก
       
        พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ถือเป็นกลไกที่ภาครัฐเดินหน้าผลักดันเต็มเหนี่ยว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ถัดจากมาตรการลดหย่อนภาษี 200% เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการฝึกอบรม การมุ่งสร้างมาตรฐานวิชาชีพกับแรงงานทุกประเภทใน 5 ปี ถือเป็นแรงขับเคลื่อนครั้งสำคัญที่รัฐมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
       
        สุวรรณ สุขประเสริฐ รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาหลักของหลายธุรกิจคือ ค่าแรงที่จ่ายไปไม่ตรงกันกับประสิทธิภาพการทำงาน ถึงเวลาแล้วที่องค์กรต้องการ competency หรือความสามารถหลักอย่างจริงจัง เพื่อให้คนมีเนื้องานดีขึ้น และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับภาพรวมก็เพิ่มขึ้นด้วย
       
        "การแข่งขันทุกวันนี้ ถ้าไม่มีการฝึกคนให้เก่งขึ้นก็ไปไม่รอด knowledge based มีความสำคัญ ต้องมองว่ารูปแบบการฝึกอบรมสัมมนาจะทำกันอย่างไร หลายโครงการของภาครัฐ อย่าง ดีทรอยด์ออฟเอเชีย หรือแฟชั่นซิตี้ แรงงานมีฝีมือหลายกลุ่มแห่ไปต่างประเทศหมดแล้ว ประเทศไทยเราไม่มีการตรวจสอบช่างฝีมือว่าดีแค่ไหน?"
       
        เขากล่าวต่อว่า บ้านเราขาดการประกันมูลค่าวิชาชีพ เช่น ถ้าเป็นช่างเชื่อม ราคาค่าตัวควรจะเป็นเท่าไหร่? ต้องมีตราประทับรับรอง มีคุณค่าของคน เป็นอาชีพมีค่าตัว จะทำให้คนอยากทำงานเมืองไทยมากขึ้น ไม่คิดจะหนีไปต่างประเทศ และยิ่งในภาวะที่ไทยกำลังเปิดการค้าเสรี ทุกฝ่ายต้องเร่งสร้างคนให้พร้อม ทุกวันนี้ต่างชาติอยากมาลงทุนในไทย แต่ติดปัญหาเดียวที่ว่าคนของเราไม่เคยพร้อม แม้แต่การเปิดตัวสนามบินแห่งใหม่ การหาคนมาทำงานโดยเฉพาะแรงงานช่างก็ยังมีปัญหา และขาดคนทำงานสูงถึง 30%
       
        การแก้ปัญหาเรื่องคน ก็ต้องหันกลับมามองศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ ถ้ามองเห็นแล้วก็จะสามารถลงทุนพัฒนาได้ มองยาวถึง career path ว่าแต่ละคนเติบโตได้ และขึ้นเงินเดือนให้ได้ตามความสามารถที่มี รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีมาตรการรองรับคนดีคนเก่งให้เติบโตได้ในองค์กร "ถ้าอยากได้คนเก่งแต่ยังทำงานด้วยสภาพเดิมๆ คนก็อยู่ไม่ได้หรอก"
       
        สุวรรณกล่าวอีกว่า หลายอุตสาหกรรมเป็นระบบนาโนเทคโนโลยีหมดแล้ว ทุกอย่างแข่งขันกันโดยใช้องค์ความรู้เป็นฐาน ไทยเรายังไม่มีแบรนด์แข็งๆ ไปแข่งกับใครเขา เทียบกับจีนมีแบรนด์เป็นของตัวเองแต่ไม่ได้รับความนิยมก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการไปขอแบรนด์อินเตอร์มา อย่างเช่นกรณีของรถยนต์แลนด์โรเวอร์ ซึ่งทำให้เกิดโนว์ฮาวการจัดการหลายอย่างคาบเกี่ยวกันมา
       
        "ประเทศไทยเราขาดแคลนกุ๊ก แต่เราอยากเป็นครัวไทยสู่โลก ถ้ามองไปรอบๆ จะเห็นว่าลูกจ้างเดี๋ยวนี้ไม่ธรรมดา มีความคาดหวังสูงขึ้น คนต่ำต้อยเจียมตัวกลายเป็นเรื่องของคนรุ่นเก่า นายจ้างต้องเดินไปหาลูกจ้าง เอาคนมาฝึกให้ทำงาน และบอกเขาว่า มาฝึกแล้วจะทำอะไร แล้วจะได้อะไรกลับไป" เขากล่าวย้ำ
       
        ทางด้านวันชัย นิ้วประสิทธิ รองประธานคณะกรรมการแรงงานและแรงงานสัมพันธ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาฝีมือแรงงาน มีการทำกันมาตลอด แต่ไม่เป็นระบบ ทำไปแบบไม่มีใครมาบังคับ แรงงานไทยจึงไม่ค่อยมีศักยภาพในการผลิต
       
        "วัฒนธรรมเรามาจากค้าขายก่อน แล้วค่อยมาสร้างเป็นอุตสาหกรรม ความเป็นเถ้าแก่อยากได้อะไรก็ทำ ไม่มีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ ขาดการเรียนรู้และมาตรฐานการสอน แต่ในการค้ายุคใหม่นี้ เราต้องทำทุกอย่างให้เข้ากับ agenda ของประเทศ เช่นว่า มีความแข็งแกร่งในการส่งออก ทุกวันนี้เราใช้คนโดยไม่มีประสิทธิภาพ"
       
        วันชัยกล่าวอีกว่า การบริหารกิจการไม่ได้ทำไปเพียงเพื่อสร้างผลกำไรและลดดอกเบี้ย แต่ต้องคิดถึงศักยภาพของประเทศด้วย เช่น productivity คุ้มกับค่าแรงไหม? ผู้ประกอบการต้องมีความนึกคิดมากขึ้น เน้นสร้างคนให้เป็นไปตามพรบ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และมีความสามารถในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
       
        ขณะที่ จิระพันธ์ กัลลประวิทย์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการบริหารเชิงกลยุทธ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ เล่าว่า อุปสรรคของการส่งเสริมฝีมือแรงงานป้อนให้ภาคเอกชนเท่าที่พบส่วนใหญ่ ระบบการพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังไม่ได้เน้นให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง หลายอย่างยังเป็นการคิดเอง ทำเอง และการผลิตคนของภาครัฐก็ไม่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน
       
        โลกสมัยใหม่ไม่ได้ต้องการคนที่ทำเป็นอย่างเดียว แต่ต้องการแรงงานที่รู้จักคิดวิเคราะห์ มี competency แบบที่องค์กรต้องการ และสามารถล็อกสเป็กได้ว่า ต้องการคนแบบไหน? และมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง?
       
        สิ่งหนึ่งที่จิระพันธ์มองต่างมุมคือ มาตรการจูงใจให้หักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นสำหรับบริษัทที่เน้นฝึกอบรม ต้องมองให้ขาดว่าอยู่ในความต้องการของภาคเอกชนหรือไม่? พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานถือว่าเป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นมารองรับภาคเอกชน แต่สิ่งสำคัญคือภาคเอกชนเองต้องหยิบมาใช้ด้วย
       
        "กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะต้องคิดให้กว้าง การจัดทำหลักสูตรต้องแข่งขันกับคนอื่นได้ บางหลักสูตรราคานับหมื่นบาทคนก็ยังไปฝึกอบรม เพราะถือว่านั่นคือการลงทุน เราไม่ได้อยู่ในยุคของการทำสินค้าเยอะๆ แล้วได้เปรียบ แต่เป็นยุคของความรู้ รู้จักคิดวิเคราะห์ และทำกลยุทธ์เป็น"
       
        อรรถพล สุวัธนเดชา นักวิชาการฝึกอบรม 8 ว สำนักงานบริหารพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเสริมว่า การฝึกอบรมเป็นแนวทางหลักของการเตรียมความพร้อมให้คนก่อนเข้าทำงาน และภาครัฐก็ส่งเสริมให้เอาค่าใช้จ่ายมาหักลดภาษีได้ 200% จากเดิมที่หักได้ 150% การฝึกคนที่ดีควรจะมองถึงความจำเป็นและความต้องการฝึกอบรมเป็นตัวหลัก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง เอาไปใช้ได้และเกิดประโยชน์กับองค์กร
       
       เรียบเรียงจาก โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดโดย สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ต้นเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์
       
       ยุทธศาสตร์การพัฒนา
       
        เป้าหมายในภาพรวม ต้องเพิ่มสัดส่วนคนจบสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากขึ้น เพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพให้ใกล้เคียงกับสายสามัญ มีกำลังคนพอที่จะป้อนทุกอุตสาหกรรม
       
        เชิงคุณภาพ ต้องลดช่วงห่างของทักษะเชิงคิด ภาษา คอมพิวเตอร์ และสื่อสัมพันธ์ สามารถใช้ทักษะจากการทำงานมาปรับวุฒิการศึกษาและมาตรฐานวิชาชีพ ยกระดับคุณภาพสถานศึกษา เน้นการฝึกอบรมระหว่างปฏิบัติงาน กำหนดให้มีระบบ certification ให้กับมาตรฐานวิชาชีพด้านแรงงานทุกประเภทใน 5 ปี และกำหนดยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
       

 

 


ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ที่มา :หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


อัพเดทล่าสุด