ค่าตอบแทนที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ค่าตอบแทนที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ได้นิยามศัพท์คำว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า “เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน ตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้”
หมายเหตุ : ดังนั้น สรุปหลักเกณฑ์โดยย่อของคำว่า “ค่าจ้าง” จะเป็นดังนี้
(1) เป็น “เงิน” ที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายตามสัญญาจ้าง
(2) นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้าง
(3) นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
(4) จ่ายให้วันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้าง
ข้อสังเกต : เมื่อเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างถือว่าเป็น “ค่าจ้าง” ตามความหมายของกฎหมายแล้ว จำนวนเงินค่าจ้างดังกล่าวย่อมใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าตอบแทนอย่างอื่นให้แก่ลูกจ้างดังต่อไปนี้ อาทิ ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชย เงินสมทบที่ส่งเข้ากองทุนประกันสังคม เงินสมทบที่ส่งเข้ากองทุนเงินทดแทน เงินสบทบหรือเงินสะสมที่ส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินประโยชน์ทดแทนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายให้แก่ผู้ประกันตน เงินค่าทดแทนที่กองทุนเงินทดแทนจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่บาดเจ็บหรือตายในงาน เงินค่าเสียหายสำหรับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม การจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ ฯลฯ
ดังนั้นเงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างจะเป็นเงิน “ค่าจ้าง” ตามกฎหมายหรือไม่นั้น จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเสมอ