การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท


837 ผู้ชม


การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท




    การไกล่เกลี่ย (mediation, conciliation) เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาทที่ทั้งวิธีการและผลเป็นที่พอใจของคู่กรณีพิพาทมากที่สุด จึงมีผู้นำไปใช้ในการระงับข้อพิพาททุกประเภทตั้งแต่ข้อพิพาทระหว่างบุคคลไปจนถึงข้อพิพาทระหว่างประเทศ
    วิธีการระงับข้อพิพาทแรงงานที่ประเทศต่างๆทั่วโลกนิยมและนำมาใช้เป็นส่วนใหญ่ก็คือ การไกล่เกลี่ย ซึ่งสอดคล้องกับข้อแนะ (Recommendation) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ ๙๒
    สำหรับประเทศไทย กฎหมายแรงงานหลายฉบับได้บัญญัติถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานหรือคดีแรงงานไว้ เช่น
    พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๑, ๒๒ กำหนดให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องมีหน้าที่ต้องแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบ เมื่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับแจ้งแล้วให้ดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องและฝ่ายรับข้อเรียกร้องตกลงกันภายในกำหนด ๕ วัน
    พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๓๐, ๓๑ กำหนดให้ฝ่ายยื่นข้อเรียกร้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบ เมื่อพนักงานประนอมข้อพิพาทได้รับแจ้งแล้วให้ดำเนินการประนอมข้อพิพาทภายในกำหนด ๑๐ วัน
    พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๘, ๔๓ กำหนดให้ศาลแรงงานเริ่มพิจารณาคดีด้วยการไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกัน โดยให้ถือว่าคดีแรงงานมีลักษณะพิเศษอันควรระงับลงได้ด้วยความเข้าใจอันดีต่อกัน เพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีความสัมพันธ์กันต่อไป และกำหนดต่อไปด้วยว่า ไม่ว่าการพิจารณาคดีจะดำเนินไปแล้วเพียงใด ให้ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันได้เสมอ
    จะเห็นได้ว่า กฎหมายแรงงานประเทศไทยได้ใช้วิธีการไกล่เกลี่ยเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทแรงงาน ทั้งข้อพิพาทเกี่ยวกับประโยชน์ (dispute of interest) ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ และข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิ (dispute of right) หรือคดีแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒

อัพเดทล่าสุด