กฎหมายแรงงาน กับ ผู้ประกอบการ SMEs (ตอนที่ 1)


720 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน กับ ผู้ประกอบการ SMEs (ตอนที่ 1)




นับแต่ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อหลายปีก่อน ส่งผลให้ธุรกิจทั้งขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่จำนวนไม่น้อยต้องพากันล้มเลิกกิจการไป ทั้งที่ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมนั้นถือเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลชุดที่ผ่านมาในสมัยที่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มธุรกิจดังกล่าว จึงได้พยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจนี้ด้วยการสนับสนุน และผลักดันให้ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้ แม้ว่าจะเป็นไปด้วยความยากลำบากก็ตาม ซึ่งธุรกิจดังกล่าวรู้จักกันดีในชื่อของ "SMEs" หรือ Small and Medium Enterprises นั่นเอง
การสนับสนุนและผลักดันให้ธุรกิจ SMEs ยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้นี้ส่งผลให้มี การก่อตั้งสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (Institute for Small and Medium Enterprises Development) หรือที่รู้จักกันในนามของ "สถาบันพัฒนา SMEs หรือ ISMED" ขึ้น ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2542 ซึ่งมีการดำเนินงานในรูปแบบของมูลนิธิ โดยได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อสนับสนุน ช่วยเหลือ และพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือ "SMEs" ทั้งที่มีการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว และผู้ประกอบการรายใหม่ให้มีขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และเพื่อกระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มมากขึ้น1 นอกจากสถาบันนี้แล้ว เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจประเภทนี้มากขึ้นไปอีก จึงได้มีการบังคับใช้กฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม2 ในเวลาต่อมา ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายฯ ก็คือ การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม3

กองทุนฯ คืออะไร ???

กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม คือ แหล่งเงินทุนที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อสำรองไว้ให้แก่บรรดาผู้ประกอบการ SMEs ในการนำไปใช้พัฒนา ปรับปรุง และเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ SMEs
สำหรับขั้นตอนการขอเงินกองทุนฯ นั้น หากผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือองค์กรเอกชนรายใดมีความประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือสนับสนุนธุรกิจ SMEs ของตน ก็สามารถแสดงความจำนงโดยการทำเป็นคำขอยื่นต่อสำนักงาน สถาบันการเงิน หรือรัฐวิสาหกิจที่คณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมเห็นชอบ พร้อมกับแสดงรายละเอียดแผนงาน และโครงการที่ผู้ประกอบการประสงค์จะดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมจำนวนมากมีการจัดตั้งกิจการอย่างไม่เป็นทางการ เช่น ผลิตตามบ้านอาคารบ้านเรือน ผลิตในโรงงานห้องแถว โดยไม่มีการจดทะเบียนโรงงาน ทะเบียนพาณิชย์ หรือทะเบียนการค้า หรือหากมีการจดทะเบียนจัดตั้งกันถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจในการขอรับเงินกองทุนฯ แม้ว่า รัฐบาลจะได้ปรับลดเงื่อนไขของขนาดเงินลงทุน และจำนวนการจ้างงาน เพื่อเป็นการจูงใจให้มีผู้ประกอบการ SMEs ทั้งขนาดกลาง และขนาดย่อมเพิ่มมากขึ้นแล้วก็ตาม โดยพบว่า มีวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมเพียงไม่ถึง 10% เท่านั้น ที่มีโอกาสได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนฯ

ธุรกิจ SMEs ครอบคลุมกิจการอะไรบ้าง ???

ธุรกิจ SMEs นั้น จัดเป็นวิสาหกิจที่มีความเหมาะสม และมีความคล่องตัวในการปรับสภาพให้เข้ากับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ใช้เงินทุน กำลังคน และสิ่งอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจน้อยกว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่ทั่วไป ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ซึ่งครอบคลุมถึงกิจการ 4 ประเภท ดังต่อไปนี้
  1. กิจการการผลิตสินค้า (Production Sector) ได้แก่ กิจการที่เป็นการผลิตภาคอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และการผลิตภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะกิจการแปรรูปการเกษตร
  2. กิจการการให้บริการ (Service Sector) ได้แก่ กิจการที่สนับสนุนการผลิต การค้า การอำนวยความสะดวกต่อการผลิต การค้าและการบริโภค เช่น โรงแรม การท่องเที่ยว การซ่อมบำรุง การขนส่ง ร้านเสริมสวย สถานเสริมความงาม ร้านอาหาร ธุรกิจบันเทิง ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น
  3. กิจการการค้าส่ง (Wholesale) ได้แก่ การขายสินค้าใหม่ หรือสินค้าใช้แล้วให้แก่ผู้ค้าปลีก รวมทั้งการขายสินค้าให้แก่ผู้ค้าส่งด้วยกันเอง
  4. กิจการการค้าปลีก (Retail) ได้แก่ การขายโดยไม่มีการเปลี่ยนรูปสินค้า ทั้งสินค้าใหม่ และสินค้าใช้แล้วให้กับผู้บริโภคทั่วไป เพื่อใช้ในการบริโภค หรือใช้ในครัวเรือน

กิจการแต่ละประเภท มีการแบ่งขนาดกลุ่มธุรกิจอย่างไร ???

กิจการแต่ละประเภทนี้จะมีการแบ่งขนาดของธุรกิจออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ วิสาหกิจขนาดกลาง และวิสาหกิจขนาดย่อม โดยแบ่งตามมูลค่าของสินทรัพย์ถาวรที่กิจการนั้น ๆ มีอยู่ (โดยไม่รวมที่ดิน) ซึ่งสินทรัพย์ถาวรนี้ ก็คือ มูลค่าสุทธิตามบัญชีของสินทรัพย์ที่ได้หักค่าเสื่อมราคาตามระยะเวลาการใช้งานจนถึงสิ้นปี ซึ่งหมายถึง สินค้าคงทนที่ผู้ผลิตมีไว้ครอบครอง เพื่อใช้ผลิตสินค้าและบริการซึ่งไม่ได้ใช้หมดสิ้นไปในกระบวนการผลิตดังกล่าว ได้แก่ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์ ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เป็นต้น อีกทั้งยังแบ่งตามจำนวนการจ้างงาน (ลูกจ้าง) สำหรับกิจการนั้น ๆ ด้วย ซึ่งการจ้างงานนี้ก็คือ จำนวนของผู้ที่ทำงานให้กับบรรดาผู้ประกอบการ SMEs (ลูกจ้าง) ไม่ว่าจะได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน รายชิ้น หรือ รายเดือนก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (The Office of Small and Medium Enterprises Promotion) กำหนด จึงได้มีการแบ่งขนาดของธุรกิจตามประเภทของกิจการ ดังนี้
  1. กิจการการผลิตสินค้า
    - จะถูกจัดเป็นธุรกิจขนาดกลางต่อเมื่อมีสินทรัพย์ถาวรตั้งแต่ 51 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท หรือมีจำนวนการจ้างงาน (ลูกจ้าง) ตั้งแต่ 51 คน แต่ไม่เกิน 200 คน
    - จะถูกจัดเป็นธุรกิจขนาดย่อมต่อเมื่อมีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือมีจำนวนการจ้างงาน (ลูกจ้าง) ไม่เกิน 50 คน
  2. กิจการการให้บริการ
    - จะถูกจัดเป็นธุรกิจขนาดกลางต่อเมื่อมีสินทรัพย์ถาวรตั้งแต่ 51 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท หรือมีการจ้างงาน (ลูกจ้าง) ตั้งแต่ 51 คน แต่ไม่เกิน 200 คน
    - จะถูกจัดเป็นธุรกิจขนาดย่อมต่อเมื่อมีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือมีจำนวนการจ้างงาน (ลูกจ้าง) ไม่เกิน 50 คน
  3. กิจการการค้าส่ง
    - จะถูกจัดเป็นธุรกิจขนาดกลางต่อเมื่อมีสินทรัพย์ถาวรตั้งแต่ 51 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท หรือมีจำนวนการจ้างงาน (ลูกจ้าง) ตั้งแต่ 26 คน แต่ไม่เกิน 50 คน
    - จะถูกจัดเป็นธุรกิจขนาดย่อมต่อเมื่อมีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือมีจำนวนการจ้างงาน (ลูกจ้าง) ไม่เกิน 25 คน
  4. กิจการการค้าปลีก
    - จะถูกจัดเป็นธุรกิจขนาดกลางต่อเมื่อมีสินทรัพย์ถาวรตั้งแต่ 31 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 60 ล้านบาท หรือมีจำนวนการจ้างงาน (ลูกจ้าง)ตั้งแต่ 16 คน แต่ไม่เกิน 30 คน
    - จะถูกจัดเป็นธุรกิจขนาดย่อมต่อเมื่อมีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 30 ล้านบาท หรือมีจำนวนการจ้างงาน (ลูกจ้าง) ไม่เกิน 15 คน

ข้อสังเกตของการแบ่งขนาดกลุ่มธุรกิจ SMEs !!!

จากหลักเกณฑ์ข้างต้นนี้ จะสังเกตได้ว่า แม้จะมีการกำหนดจำนวนสินทรัพย์ และจำนวนการจ้างงาน (ลูกจ้าง) เพื่อแบ่งกลุ่มธุรกิจ SMEs ออกเป็นขนาดกลาง และขนาดย่อม แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นต่ำของสินทรัพย์ถาวร และจำนวนการจ้างงาน (ลูกจ้าง) ไว้ตายตัว ดังนั้น วิสาหกิจที่มีขนาดจิ๋ว หรือขนาดเล็กมาก ๆ ซึ่งอาจมีสินทรัพย์ถาวรเพียงไม่กี่พันกี่หมื่นบาท หรือมีจำนวนลูกจ้างเพียงไม่กี่คน เช่น กิจการร้านก๋วยเตี๋ยว กิจการร้านขายอาหาร กิจการร้านขายของชำ กิจการร้านเสริมสวย กิจการอู่ซ่อมรถยนต์ เป็นต้น จึงถือเป็นวิสาหกิจขนาดกลาง หรือขนาดย่อม หรือธุรกิจ SMEs ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ภาพรวมของธุรกิจ SMEs จะเป็นแหล่งรองรับการจ้างงานขนาดใหญ่ ซึ่งมีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ มีส่วนช่วยในการประหยัดเงินตราต่างประเทศด้วยการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค อันก่อให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมากก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้ประกอบธุรกิจ SMEs จำนวนไม่น้อยที่ลืมตระหนักถึงการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ดังนั้น สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอหยิบยกเฉพาะกฎหมายแรงงานที่เห็นว่า เป็นบทหลักสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ทุกประเภทควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ก็คือ การทำสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการจ้างแรงงานนั่นเอง ส่วนสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงานตลอดจนกฎหมายแรงงานหลัก ๆ ที่ผู้ประกอบการ SMEs พึงระวังเป็นกรณีพิเศษจะมีอะไรบ้าง และจะต้องปฏิบัติตามหรือไม่ เพียงใด นั้น ผู้เขียนจะอธิบายต่อในตอนต่อไป

 แหล่งข้อมูล :  บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด


อัพเดทล่าสุด