นายจ้างต้องร่วมรับผิดชอบกับลูกจ้างในกรณีใดบ้าง


2,064 ผู้ชม


นายจ้างต้องร่วมรับผิดชอบกับลูกจ้างในกรณีใดบ้าง




 นายจ้าง
ต้องร่วมรับผิดชอบ
กับลูกจ้างในกรณีใดบ้าง

 การเป็นลูกจ้างนายจ้างกันตามกฎหมายนั้น คือ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้น จะต้องมีการทำสัญญาจ้างแรงงานกันไว้เป็นหนังสือ กำหนดรายละเอียดกัน
 ไว้ถึงวิธีการทำงาน ค่าตอบแทน และกฎระเบียบของนายจ้างที่ตกลงการจ้างงานกันกับบุคคลธรรมดา และตกลงทำงานให้นายจ้างเพื่อขอรับค่าตอบแทน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นของลูกจ้างในการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ซึ่งปัจจุบันนี้โลกได้วิวัฒนาการไปไกลมาก รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายสูงตามไปด้วย และนอกจากนี้นายจ้างและลูกจ้างยังคงมีมิติสัมพันธ์ต่อกันด้วย ทั้งการบังคับบัญชา และการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย นอกจากความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนนี้แล้ว หากมีการกระทำความเสียหายของลูกจ้างต่อบุคคลภายนอกในบางกรณีแล้ว กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับผลของการกระทำของลูกจ้างต่อบุคคลภายนอกด้วย เช่น
 ลูกจ้างทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกในทางการที่จ้างด้วยนั้น นอกจากลูกจ้างต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในการทำละเมิด ทำความเสียหายให้กับบุคคลภายนอก ยกตัวอย่างลูกจ้างขับรถไปชนกับรถยนต์ของบุคคลอื่นในเวลาการทำงานให้นายจ้าง ซึ่งกฎหมายเรียกว่าทำการงานในทางที่จ้างให้กับนายจ้าง ดังนั้น เมื่อมีการเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายที่ลูกจ้างทำละเมิดนั้น นายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วยในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างกระทำ กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนเลยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อยู่ในมาตรา 425 ที่บัญญัติ ว่า

"นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น"
ก็หมายความว่า เมื่อลูกจ้างไปทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกในทางการที่จ้างให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย นายจ้างก็ต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างชดใช้ค่าเสียหายให้กับบุคคลภายนอกผู้ถูกละเมิด อย่างในกรณีข้างต้น นายจ้างก็ต้องร่วมชดใช้ค่าเสียหายให้กับเจ้าของรถยนต์ที่ถูกลูกจ้างขับรถชน
 แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อนายจ้างชดใช้ค่าเสียหายไปให้กับผู้ได้รับผลร้าย (บุคคลภายนอกที่เสียหาย) ลูกจ้างผู้ทำความละเมิดจะพ้นความรับผิด นายจ้างชอบที่จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากลูกจ้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  อยู่ในมาตรา 426 ที่บัญญัติไว้ว่า "นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอก เพื่อละเมิดอันลูกจ้างในธรรมนั้น  ชอบที่จะได้รับชดใช้จากลูกจ้างนั้น" ก็หมายความว่า นายจ้างจ่ายค่าเสียหายให้กับบุคคลภายนอกไปเท่าไหร่ลูกจ้างก็ต้องชดใช้ไปเท่านั้น คืนให้กับนายจ้าง  เนื่องจากกฎหมายมองว่าต้นเหตุแห่งการละเมิดก็คือลูกจ้าง 
 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กว่าบุคคลภายนอกจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายโดยทางปฏิบัติแล้ว ในชีวิตจริงต้องมีการฟ้องร้องกัน และต้องฟ้องตัวนายจ้างเข้ามาเป็นจำเลยร่วมด้วย ส่วนใหญ่แล้วจะสู้คดีกันโดยตลอด บางคดีอาจจะสู้กันถึงสามศาล และเมื่อนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างต้องชดใช้เงินที่นายจ้างเสียไปให้กับบุคคลภายนอกที่ถูกละเมิดคืนให้กับนายจ้าง นายจ้างก็จะใช้วิธีหักเงินเดือนเป็นรายเดือนจนกว่าจะครบ  เหมือนกันกับญาติของผู้เขียนคนหนึ่งเคยถูกคนขับรถตู้ของบริษัทแห่งหนึ่งขับรถชน แล้วศีรษะไปกระแทกกับรถที่ตนเองโดยสาร ต้องไปเอกซเรย์สมองที่โรงพยาบาล  ผู้เขียนได้ทำหนังสือไปถึงบริษัทให้มาร่วมรับผิดกับลูกจ้าง
 ปรากฏว่าคดีนี้มีบริษัทประกันภัยที่ประกันรถยนต์ของบริษัทด้วย ผู้เขียนจึงให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าเสียหาย  บริษัทประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับญาติของผู้เขียนทั้งหมด และบริษัทประกันภัยจะไปไล่เบี้ยเอาเองกับลูกจ้างบริษัท โดยการรับช่วงสิทธิ ของบริษัท เนื่องจากหากไม่มีบริษัทประกันภัย  บริษัทก็ต้องรับผิดร่วมกันกับลูกจ้างอยู่ดี และมีสิทธิที่จะได้รับชดใช้จากลูกจ้าง


ที่มา: นิตยสาร Recruit Update ฉบับที่ 403 วันที่  1-15  มิถุนายน  2547


อัพเดทล่าสุด