ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานจังหวัดระยอง“5 ปี กับการสร้างโอกาส ช่วยชาติ ช่วยสังคม”
เลขที่ :
วันที่ประกาศ : 16/6/2551
ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานจังหวัดระยอง“5 ปี กับการสร้างโอกาส ช่วยชาติ ช่วยสังคม”
“อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา...ถ้าไม่ประมาท” ดูเหมือนคำพูดนี้จะเป็นคำพูดที่ติดหูพวกเรามาตลอดเวลา ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงของการใช้ชีวิตประจำวัน อุบัติเหตุเกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันบนท้องถนน รวมทั้งเกิดจากการทำงานที่มีความเสี่ยงสูง ยิ่งผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือต้องทำงานกับที่สูง ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงตามไปด้วย บางรายอาจจะได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเข้ารับการรักษาก็สามารถกลับบ้าน แต่บางรายก็อาจกลายเป็นอุบัติเหตุครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตได้ เป็นเหตุให้ทุพพลภาพไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐพร้อมที่จะดูแลผู้ประกันตนกว่า 9 ล้านคน ได้ตระหนักและรู้ถึงความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับผู้ทุพพลภาพเหล่านี้ จึงได้จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานขึ้น ซึ่งขณะนี้เปิดให้บริการ 2 แห่ง คือ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานจังหวัดปทุมธานี และที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาคตะวันออก จังหวัดระยอง เพื่อให้การดูแลลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง และผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 5 ปี ของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาคตะวันออก จังหวัดระยอง ซึ่งตั้งอยู่ เลขที่ 12 หมู่ 2 ซอย 8 ตำบลพนานิคม อำเภอนิคมพัฒนาจังหวัดระยอง รับผิดชอบพื้นที่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ และเขตจังหวัดในภาคตะวันออกอีก 8 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา มีลูกจ้างเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์และฝึกอาชีพ รวมทั้งสิ้น 863 คน โดยเมื่อสิ้นสุดการฟื้นฟูฯ แล้ว ได้กลับเข้าที่ทำงานกับนายจ้างเดิมร้อยละ 70.3 นายจ้างใหม่ร้อยละ 10.60 และกลับไปประกอบอาชีพอิสระร้อยละ 19.06 เนื่องในวันครบรอบ 5 ปีของการดำเนินงานของ ศูนย์ฟื้นฟูฯ ภาคตะวันออก ได้จัดพิธีมอบวุฒิบัตรฯ แก่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ที่จบหลักสูตรฝึกเตรียมเข้าทำงาน เช่น งานช่างโลหะ งานสิ่งประดิษฐ์ งานตัดเย็บเบื้องต้น ฯลฯ จำนวน 25 คน และหลักสูตรการฝึกอาชีพ เช่น งานคอมพิวเตอร์ งานเชื่อมโลหะ งานอิเล็กทรอนิกส์ งานช่างยนต์ งานตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี จำนวน 25 คน รวมทั้งสิ้น 50 คน และมอบโล่รางวัลผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ดีเด่นประจำปี 2551 ให้แก่ นางสาลี่ ตุ้มแก้ว วัย 54 ปี ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตหลังจากสิ้นสุดการฟื้นฟูฯ อดีตเป็นคนงานก่อสร้างของบริษัทแห่งหนึ่งที่ประสบอันตรายจากการทำงานถูก ไฟฟ้าช็อตจนทำให้แพทย์ต้องตัดแขนทั้ง 2 ข้าง ได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ และต่อสู้กับความพิการ ไม่ท้อถอยต่อชีวิต จนปัจจุบันสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป มีอาชีพที่มั่นคงโดยได้ทำงานเป็นพี่เลี้ยงของนักเรียนคนพิการ ที่โรงเรียนอาชีวะ พระมหาไถ่ พัทยา จังหวัดชลบุรีซึ่งถือเป็นแบบอย่างให้กับผู้ที่จะได้รับการฟื้นฟูฯ รุ่นน้อง ๆ ที่เข้ารับการฟื้นฟูใน ปัจจุบัน
“ในช่วงแรก ๆ รู้สึกท้อและทำใจไม่ได้ แต่หลังจากได้รับการฟื้นฟูจากศูนย์ฟื้นฟูคนงานประจำภาคตะวันออกจังหวัดระยอง แล้ว ทำให้มีกำลังใจสู้ชีวิตต่อ เมื่อก่อนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เพราะแขนขาดทั้ง 2 ข้าง ตอนนี้มีแขนเทียม และฝึกใช้จนสามารถช่วยเหลือตนเอง และสามารถทำงานมีเงินเดือนไม่เป็นภาระใคร จึงขอฝากน้อง ๆ ที่จะเข้ามาที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาคตะวันออก จังหวัดระยอง ไม่ต้องท้อถอยสักวันเราจะยืนได้ด้วยขาของเราเอง เหมือนฉัน แล้ววันนั้นเราจะเห็นว่าเราก็ไม่ต่างจากคนอื่นเท่าใด”นางสาลี่ ตุ้มแก้ว กล่าว
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในปัจจุบันมีลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานรวมทั้ง ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ เป็นจำนวนมากที่ยังไม่ทราบว่าสำนักงานประกันสังคม มีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานที่มุ่งให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ด้านอาชีพควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านจิตใจ อารมณ์และสังคม รวมทั้งส่งเสริมการมีงานทำเพื่อให้สามารถกลับเข้าทำงานในสถานประกอบการเดิม หรือใหม่ และสามารถออกไปประกอบอาชีพอิสระได้ โดยศูนย์ฟื้นฟูฯ จะอำนวยความสะดวกเรื่องที่พัก และอาหารให้ฟรี ตลอดระยะเวลาในการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมทั้งให้การรักษาพยาบาลหากเจ็บป่วยไม่สบายขณะที่เข้ารับการฟื้นฟูฯ อีกทั้งยังมีกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมและขยายโอกาสทางการศึกษาด้วย ฝึกอาชีพหลายสาขาเพื่อให้ลูกจ้าง ได้เลือกเรียนให้เหมาะสมตามสภาพความพิการ
สำหรับค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางด้านการแพทย์ และด้านอาชีพ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานไม่เกิน 20,000 บาท และกรณีที่ลูกจ้างมีค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูฯ เกินกว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้รับตามกฎหมาย เช่น จำเป็นต้องใช้ขาเทียม แขนเทียม ก็จะได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินในการฟื้นฟูฯ จากมูลนิธิคุณากรในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เช่น เงินทุนประกอบอาชีพ ค่าใช้จ่ายในการจัดทำแขนหรือขาเทียม ค่ารักษาพยาบาลและค่าผ่าตัดแก้ไขความพิการ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากวงเงินค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ
ถึงแม้การประสบอันตรายจากการทำงาน เป็นสาเหตุให้ผู้ประกันตนต้องเป็นผู้ทุพพลภาพ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนในครอบครัว แต่เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้ว สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน โดยศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานทั้ง 2 แห่ง ก็พร้อมและยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งเป็นที่สร้างความรู้ สร้างอาชีพให้กับผู้ทุพพลภาพ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของสำนักงานประกันสังคม ที่ได้ดูแลผู้ประกันตน ให้สมกับที่เป็นสถานที่สร้างความหวัง สร้างชีวิตใหม่อีกครั้งให้กับผู้ทุพพลภาพของระบบประกันสังคมเพื่อให้เป็นไป ตามเจตนารมณ์ที่ว่า “พิการเพียงร่างกาย แต่ไม่ไร้ความสามารถ ศูนย์ฟื้นฟูฯ สร้างโอกาส ช่วยชาติ ช่วยสังคม”
......................................................................