การเลิกจ้างลูกจ้างทดลองงาน


841 ผู้ชม


การเลิกจ้างลูกจ้างทดลองงาน




        ดังที่ได้กล่าวมาบ้างแล้วว่า  หากเลิกจ้างลูกจ้างทดลองงานก่อนครบกำหนด 120 วัน นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง แต่หากครบกำหนด 120 วันแล้ว และลูกจ้างยังคงทดลองงานตลอดมาแล้ว นายจ้างจะเลิกจ้างเพราะสาเหตุลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน ในกรณีดังกล่าวเมื่อไม่ปรากฎว่าลูกจ้างทดลองงานได้กระทำความผิดตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เช่น ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ก็ดี ไม่ได้กระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้างก็ดี ไม่ได้จงใจทำให้นายจ้างเสียหายก็ดี ฯลฯ  เป็นต้น แม้นายจ้างจะสามารถเลิกจ้างลูกจ้างทดลองงานได้ แต่ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย เพราะไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั่นเอง แต่จะจ่ายค่าชดเชยมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน

          ในกรณีที่การทดลองงานมีหลายช่วง ต้องนับทุกช่วงของการทดลองงานรวมเข้าด้วยกันด้วยจึงจะถูกต้องตามกฎหมาย สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น (ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า “ค่าตกใจ” หรือ Shocking Fee” )  เดิมมีคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3181/2530 วินิจฉัยว่า ลูกจ้างที่ทดลองปฏิบัติงานอาจเป็นลูกจ้างประจำได้ แต่ยังหาใช่ลูกจ้างประจำ ดังนั้น นายจ้าง อาจมีสิทธิเลิกจ้างได้ในระหว่างทดลองโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่ปัจจุบันมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2364/2545 วินิจฉัยว่า “….โดยบทบัญญัติมาตรา 17  แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้มีข้อยกเว้นไว้ว่าการเลิกจ้างระหว่างทดลองงานนั้นไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ดังนั้น นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างระหว่างทดลองงานจึงต้องบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้แก่ลูกจ้างทราบล่วงหน้าเช่นกัน ...” ดังนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3181/2530 จึงถูกทับคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2364/2545  แล้วจึงเป็นที่ยุติได้ว่าหากนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างทดลองงานเพราะสาเหตุไม่ผ่านทดลองงาน ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเช่นกัน โดยบอกกล่าวล่วงหน้า ในขณะเมื่อถึงหรือก่อน จะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อเป็นผลให้เลิกสัญญาจ้างแรงงานกัน เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป


อัพเดทล่าสุด