การเก็บ ขน บำบัด และกำจัดของเสียอันตรายทำได้อย่างไร?


902 ผู้ชม


การเก็บ ขน บำบัด และกำจัดของเสียอันตรายทำได้อย่างไร?




การเก็บ ขน บำบัด และกำจัดของเสียอันตราย มีหลักการจัดการเช่นเดียวกับการมีของเสียอันตรายไว้ครอบครอง คือ ขึ้นอยู่กับกฎหมายที่ใช้ควบคุมของเสียอันตรายแต่ละชนิด ซึ่งสามารถสรุปได้คร่าว ๆ ดังนี้

  • พ. ร. บ. วัตถุอันตราย 2535 มีบทบัญญัติมาตรา 18 กำหนดของวัตถุอันตรายตามความรุนแรงและอันตรายในแต่ละ ชนิด และกำหนดระดับในการควบคุมที่ต่างกัน และมาตรา 20 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศกำหนดในเรื่องเกี่ยวกับการผลิต การนำเข้า การส่งออก การขนส่ง การเก็บรักษา การกำจัด และการทำลายวัตถุอันตราย
  • พ. ร. บ. สิ่งแวดล้อม 2535 มีบทบัญญัติอื่นนอกเหนือจากมาตรา 78 และมาตรา 79 ที่ สามารถนำมาใช้ในการดำเนิน งาน เช่น การประกาศกำหนดมาตราฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดตามมาตรา 55 การจัดให้มีระบบกำจัดของเสียรวมและมาตรการในการตรวจสอบควบคุม เป็นต้น
  • พระราชบัญญัติโรงงาน พ. ศ. 2535 มีบทบัญญัติกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกข้อกำหนดมาตร ฐาน และวิธีการควบคุม การปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการประกอบกิจการโรงงานได้ตามมาตรา 8(5) ซึ่งปรากฏว่ามีกฎกระทรวงออกมา 2 ฉบับ

    1). กฎกระทรวงฉบับที่ 2 ( พ. ศ.2535) กำหนดเกี่ยวกับการควบคุมการปล่อยของเสีย โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการแยกเก็บสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วซึ่งมีวัตถุมีพิษปนเปื้อนไว้ในที่รองรับหรือภาชนะแยกต่างหากอย่างเหมาะสม และต้องกำจัดด้วยวิธีการที่ปลอดภัย และหากของเสียดังกล่าวมีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีกำหนด มิให้นำออกนอกบริเวณโรงงานเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมโรงงานกรมอุตสาหกรรมให้นำออกไปเพื่อทำลายฤทธ์ กำจัด ทิ้ง ฝัง เคลื่อนย้ายและขนส่ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดเสียก่อน

2). กฎกระทรวงฉบับที่ 3 ( พ. ศ.2535) กำหนดให้โรงงานที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมตามที่รัฐมนตรีกำหนด ต้องจัดทำรายงานการตรวจสอบประสิทธิภาพการป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ การวิเคราะห์ปริมาณสารมลพิษในระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และการตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อม ผู้ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 100,000 บาท

  • พระราชบัญญัติการปิโตรเลียม พ. ศ. 2514 มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับของเสียอันตรายในมาตรา 75 กำหนดให้ผู้รับสัมปทานต้องมีมาตรการตามวิธีการปฏิบัติงานปิโตรเลียมที่ดี เพื่อมิให้ที่อื่น ๆ โสโครกด้วยน้ำมัน และหากเกิดโสโครกก็ทำให้บำบัดโดยเร็ว
  • พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ. ศ. 2456 แก้ไขใหม่โดย พระราชบัญญัติการเดินเรือในน้ำน่านไทย ( ฉบับที่ 14) พ. ศ. 2535 มาตรา 119 ห้ามมิให้มีการเทน้ำ หิน กรวด ทราย ดิน โคลน อับเฉา สิ่งของปฏิกูลใด ๆ รวมทั้งน้ำมัน และเคมีภัณฑ์ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำอันเป็นเหตุให้เกิดความตื้นเขินตกตะกอนหรือสกปรก นอกจากได้รับอนุญาติจากกรมเจ้าท่า หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการขจัดสิ่งเหล่านั้นด้วย และมาตรา 119 ทวิ กำหนดห้ามมิให้มีการเท ทิ้ง น้ำมัน และเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งใด ๆ ลงแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างอาบน้ำ หรือทะเลสาบ ที่เป็นทางสัญจรทางน้ำ หรือทะเลในน่านน้ำไทยอันเป็นเหตุให้เกิดเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมหรืออันตรายต่อการเดินเรือ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท และต้องชดใช้ในการแก้ไขสิ่งเหล่านั้นด้วย
  • พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ. ศ. 2504 มีบทบัญญัติควบคุมการนำเข้าหรือส่งออกวัสดุนิวเคลียร์พิเศษ วัสดุพลอยได้หรือวัสดุต้นกำลัง ( มาตรา 13) ทั้งนี้มีกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องออกมา 1 ฉบับ คือ กฎกระทรวงฉบับที่ 2 ( พ. ศ2504) เพื่อควบคุมการเก็บรักษา ( ข้อ 10) และกำหนดให้การทิ้งหรือขจัดวัสดุกัมมันตรังสี ต้องปฏิบัติตามหลักวิธีการที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบเป็นหนังสือ ( ข้อ 11)
  • พระราชบัญญัติแร่ พ. ศ. 2510 มีบทบัญญัติที่ควบคุมเกี่ยวกับแร่เป็นพิษ โดยกำหนดไว้ในมาตรา 69 กำหนดให้การทำ เหมือง หรือการแต่งแร่ ห้ามมิให้ผู้ถือประทานบัตรกระทำ หรือละเว้นการกระทำที่ทำให้แร่ที่มีพิษ หรือสิ่งอื่นที่มีพิษเกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน ถ้าฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และอาจถูกเพิกถอนประทานบัตร
  • พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ. ศ. 2535 มีบทบัญญัติในมาตรา 25 เรื่อง เหตุรำคาญ คือ การก่อให้เกิดความ เดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง หรือ ผู้ที่ต้องประสบกับเหตุเกี่ยวกับการเททิ้งละอองของสารพิษ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือการกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดรังสีสิ่งมีพิษ ตลอดจนเป็นเหตุทำให้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพถือว่าเป็นเหตุรำคาญอย่างหนึ่ง

นอกจากบทบัญญัติของกฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว การจัดการของเสียอันตรายยังถูกควบคุมโดย พ. ร. บ. สิ่งแวดล้อม 2535 มาตรา 79 ที่ได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายใดไว้โดยเฉพาะ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดและประเภทของของอันตรายให้อยู่ในความควบคุม และให้กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการ และวิธีการในการจัดการต่าง ๆ ให้เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การเก็บ ขน บำบัด และกำจัดของเสียอันตรายมีข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่หลายฉบับ อย่างไรก็ตาม การเก็บ ขน การบำบัด และการกำจัดของเสียอันตราย นอกจากต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ๆ แล้ว ยังต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิชาการด้วย

มีที่ไหนบ้างที่รับกำจัดของเสียอันตราย?


รายชื่อตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งในการดำเนินการกำจัดกาก เพื่อการจัดหารวบรวมและขนส่ง    การกำจัดของเสียอันตรายในปัจจุบัน มีศูนย์บริการกำจัดของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมที่เป็นที่รู้จักทั่วไป คือ แสมดำ และเจนโก้ อื่นๆโปรดติดต่อที่สำนักเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม

ศูนย์บริการกำจัดกากอุตสาหกรรมแสมดำ ( ศูนย์ฯ แสมดำ) ตั้งอยู่ที่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์บริการกำจัดกากอุตรสาหกรรมที่กรมโรงงานอุตรสาหกรรมสร้างแล้วให้เอกชนเช่าดำเนินการ เปิดบริการเมื่อประมาณปี พ. ศ. 2531 มีระบบทำลายฤทธิ์ประกอบด้วยระบบทำลายฤทธิ์น้ำเสียจากโรงงานชุบโลหะ ระบบทำลายฤทธิ์น้ำเสียจากโรงงานฟอกย้อม และระบบทำลายฤทธิ์การตะกอนหรือของแข็ง โดยการเติมสารส้ม ปูนขาว เกลือกำมะถัน หรือปูนซีเมนต์ แล้วนำไปฝังที่ศูนย์บริการกำจัดกากอุตสาหกรรมราชบุรี ( ศูนย์ฯ ราชบุรี) ซึ่งเป็นส่วนขยายของศูนย์ฯ แสมดำ ในลักษณะฝั่งกลบอย่างปลอดภัย

ศูนย์บริการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่จังหวัดระยอง ( เรารู้จักกันในโดยทั่วไปในชื่อ เจนโก้) เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกรมโรงงานอุตรสาหกรรมและบริษัทเอกชน ได้แก่ บริษัท จี. ซี. เอ็น. โฮลดิ้งส์ จำกัด เพื่อจัดตั้งบริษัทบริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด ( เจนโก้) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด การดำเนินงานมี 3 ระยะ คือระยะที่ 1 เป็นการปรับเสถียรและการฝั่งกลบ ระยะที่ 2 เป็นกระบวนการทางฟิสิกส์- เคมี และระยะที่ 3 เป็นการฝั่งกลบเปิดดำเนินการแล้วเมื่อประมาณ พ. ศ. 2540 เฉพาะในระยะที่ 1 เท่านั้น ส่วนระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ปัจจุบันประสบปัญหาทางด้านมวลชนและปัญหาทางเศรษฐกิจจึงได้ชลอโครงการไว้ก่อน

สำหรับการกำจัดของเสียอันตรายจากชุมชนนั้น ปัจจุบันยังไม่มีศูนย์กำจัดแต่อย่างใด แต่ก็มีความพยายามของหน่วยราชการ ที่ได้เร่งผลักดันให้มีศูนย์กำจัดของเสียอันตรายจากชุมชน เพื่อแยกกำจัดของเสียอันตรายจากชุมชนออกจากขยะทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในกรณีของกรุงเทพมหานครที่ได้มีการรณรงค์ให้แยกสิ่งของเสียอันตรายออกจากขยะทั่วไปแล้วนั้น ก็ได้มีการประสานงานกับกรมโรงงานอุตรสาหกรรมเพื่อให้เจนโก้รองรับและกำจัดของเสียอันตรายที่รวบรวมได้จากการรณรงค์ดังกล่าว

ในส่วนของเสียติดเชื้อ การดำเนินการจะแตกต่างจากของเสียอันตรายชนิดอื่น นั่นคือ การเก็บขนของเสียติดเชื้อจะแตกต่างจากการเก็บขนของเสียอันตรายทั่วไป เพราะของเสียติดเชื้อแหล่งสะสมของเชื้อโรค จึงต้องมีการควบคุมอุณหภูมิเพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรค และการเน่าเสียของของเสียติดเชื้อบางที่เน่าเสียได้ ดังนั้น รถเก็บขนที่ใช้จึงต้องควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 10 องศาเซลเซียส จึงทำให้รถเก็บขนของเสียติดเชื้อมีราคาแพง แต่ก็มีบางจังหวัดที่มีใช้กันบ้างแล้ว เช่น กรุงเทพมหานคร และขอนแก่น ที่ได้มีรถเก็บขนของเสียติดเชื้อวิ่งเก็บของเสียติดเชื้อจากสถานพยาบาลแห่งเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกหลักวิชาการแล้ว ทั้งนี้ในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลจังหวัดจะมีเตาเผาของเสียติดเชื้ออย่างถูกต้อง จึงไม่มีวิธีการกำจัดอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ฝากเผาไปกับเมรุเผาศพ หรือทิ้งไปกับขยะทั่วไป เป็นต้น

ที่มา : moodythai.com


อัพเดทล่าสุด