ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี)
เจตนารมณ์ของกฎหมาย
เพื่อป้องกันมิให้ลูกจ้างได้รับอันตรายจากการได้รับสารเคมี ซึ่งมีการนำมาใช้ในสถานประกอบการต่างๆ เป็นจำนวนมาก
ขอบเขตของกฎหมายและการบังคับใช้
กำหนดการควบคุมปริมาณสารเคมีที่ฟุ้งกระจายอยู่ในบรรยากาศการทำงานของลูกจ้างได้ 121 ชนิด อาจอยู่ในรูปของฝุ่น ฟูม แก๊ส ละออง ไอ หรือเส้นใยหากสถานประกอบการใดที่มีลูกจ้างหรือใช้สารเคมีดังกล่าว จะต้องทำการป้องกันมิให้สารเคมีฟุ้งกระจายเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ในตาราง ตามท้ายประกาศ
สาระสำคัญของกฎหมาย
กฎหมายกำหนดค่าความเข้มข้นของสารเคมีที่ยอมให้มีได้ในบรรยากาศการทำงานที่ฟุ้งกระจาย ออกมาจากกระบวนการผลิต โดยกำหนดตามรายชื่อสารเคมี
นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในสถานที่ที่มีค่าสารเคมีเกินค่ามาตรฐาน ตามตาราง มิได้ ดังนั้น ก่อนให้ลูกจ้างทำงาน นายจ้างจะต้องทราบว่าบริเวณที่ทำงานนั้นมีสารเคมีไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ การที่นายจ้างจะทราบได้นายจ้างจะต้องจัดให้มีการตรวจวัดค่าปริมาณสารเคมีที่ฟุ้งกระจาย ในบรรยากาศการทำงาน แล้วเทียบกับค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
การปรับปรุงแก้ไข
ในกรณีที่สถานประกอบการมีสารเคมีฟุ้งกระจายสู่บรรยากาศการทำงานของลูกจ้าง เกินกว่าที่กำหนดไว้ในตารางท้ายประกาศ นายจ้างจะต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงลดความเข้มข้นของสารเคมีไม่ให้เกินกว่าที่กำหนดไว้
หากการแก้ไขปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานไม่สามารถทำได้ นายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับสารเคมี
ขั้นตอนการดำเนินการป้องกัน
เมื่อการตรวจวัดปริมาณสารเคมีที่ฟุ้งกระจายในบรรยากาศการทำงาน เกินกว่าค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด นายจ้างจะต้องทำการแก้ไขปรับปรุง เพื่อป้องกันอันตรายและโรคจากการทำงานที่จะเกิดกับลูกจ้างตามลำดับ ดังนี้
1. การแก้ไขปรับปรุงเพื่อลดค่าปริมาณสารเคมีที่ฟุ้งกระจาย อาจเลือกทำได้หลายวิธี เช่น การแยกปิดกั้นกระบวนการผลิตที่ฟุ้งกระจาย หรือการใช้ระบบการระบายอากาศ
2. เมื่อไม่สามารถหาวิธีแก้ไขเพื่อลดปริมาณสารเคมี เนื่องจากเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน หรือจะเกิดปัญหาในทางเทคนิคแล้วเท่านั้น จึงเลือกวิธีป้องกันที่ตัวลูกจ้าง โดยการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลได้ ซึ่งนายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างใช้ปฏิบัติงานกับสารเคมีให้ถูกต้องตามประเภทของสารเคมี
แนวการตรวจของผู้ตรวจสอบภายใน
ในการตรวจสารเคมีตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมี เนื่องจากสารเคมีมีจำนวนมากชนิด คุณสมบัติทางเคมี ฟิสิกส์ และอันตรายของสารที่เกิดกับร่างกายจะแตกต่างกัน ดังนั้นการตรวจเรื่องสารเคมีเจ้าหน้าที่ตรวจจึงต้องมีการเตรียมตัวก่อนการตรวจ ดังนี้
1. ควรจะศึกษากระบวนการผลิตและวัตถุดิบที่ใช้เป็นสารเคมีชนิดใดมีคุณสมบัติที่จะทำอันตรายอย่างไร ในกระบวนการผลิตจะเกิดสารเคมีอะไรหลังจากการทำปฏิกิริยากันแล้วขึ้นอีก
2. ศึกษาวิธีการแก้ไข ป้องกันอันตรายของสารเคมีแต่ละชนิดตามประเภทของสถานประกอบการ ที่จะทำการตรวจว่าควรจะใช้การป้องกันแก้ไขอย่างไร
แนวทางการตรวจ ควรดำเนินการดังนี้
1. ตรวจสอบสารเคมีที่เกิดฟุ้งกระจายในกระบวนการผลิต อยู่ในรูปใด เช่น ฝุ่น ฟูม ละอองหรือไอ
2. ตรวจสอบปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีมีปริมาณเท่าใด
การตรวจปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศการทำงาน เป็นหน้าที่ของนายจ้างในการจัดทำ เจ้าหน้าที่สามารถขอดูผลการตรวจวัดจากเอกสารที่จัดทำ เพื่อแสดงผลการตรวจวัดปริมาณความเข้มข้นของสารเคมี
3. เทียบค่าปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีที่วัดได้กับค่ามาตรฐานตามตาราง 1-4 ที่กฎหมายกำหนด ถ้าค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานแสดงว่ายังมีความปลอดภัย
4. ถ้าค่าความเข้มข้นที่วัดได้เกินกว่าค่ามาตรฐานกฎหมายที่กำหนด ต้องแจ้งให้นายจ้างทำการแก้ไขปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานไม่ให้มีสารเคมีฟุ้งกระจาย โดยมีการกำหนดระยะเวลาในการปรับปรุง
5. หลังจากนั้น จะต้องทำการตรวจวัดปริมาณความเข้มข้นอีก เพื่อตรวจสอบจนกว่าจะแก้ไขปรับปรุงปริมาณสารเคมีให้มีค่าต่ำกว่ามาตรฐาน
6. ในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขที่สภาพแวดล้อมได้ กรณีนี้อยู่ในดุลยพินิจว่าการแก้ไขไม่อาจทำได้จริงหรือทำได้บางส่วน จึงหาวิธีป้องกันที่ตัวบุคคล เช่น การใช้เครื่องป้องกันตามประเภทและคุณสมบัติของสารเคมีที่ใช้โดยจะต้องเลือกใช้ให้ถูกต้อง
7. กรณีสงสัยว่าสารเคมีมีความเข้มข้นเกินกว่าค่ามาตรฐาน ควรดำเนินการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
8. ถ้านายจ้างจัดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ต้องให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดดังนี้
8.1 ถ้าให้ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับฝุ่น ละออง ฟูม แก๊ส หรือ ไอเคมี ต้องจัดให้ลูกจ้างสวมใส่ที่กรองอากาศ หรือเครื่องช่วยหายใจที่เหมาะสม
8.2 ถ้าให้ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับสารเคมีในรูปของของเหลวที่เป็นพิษต้องจัดให้ลูกจ้างสวมใส่ถุงมือยาง รองเท้าพื้นยางหุ้มแข็ง กระบังหน้าชนิดใส และที่กันสารเคมีกระเด็นถูกร่างกาย
8.3 ถ้าให้ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับสารเคมีในรูปของของแข็งที่เป็นพิษต้องสวมใส่ถุงมือยาง และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น
ข้อสังเกต
ในการปรับปรุงแก้ไข เมื่อตรวจพบมีปริมาณสารเคมีเกินกว่าค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ควรทำการแก้ไขปรับปรุงที่สภาพแวดล้อมขั้นต้น แต่กรณีมีเหตุผลที่แน่ชัดว่าไม่สามารถกระทำได้ จึงเลือกใช้การป้องกันโดยใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลตามสภาพและลักษณะงาน
ที่มา : moodythai.com