การอบรมความปลอดภัย


821 ผู้ชม


การอบรมความปลอดภัย




การอบรมความปลอดภัย

โดยทั่วไปแล้วหลักสูตรสำหรับอบรมความปลอดภัยจะจัดไว้สำหรับผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลความปลอดภัยและคนงานใหม่ที่เข้ามาทำงานในโรงงาน ซึ่งหมายถึงโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะต้องมีกฎระเบียบรักษาความปลอดภัยไว้ ปัจจุบันหน่วยงาน สถาบันหรือองค์การที่มีบุคลากรจำนวนมาก หรือมีการทำงานที่เสี่ยงอันตรายการจัดให้มีหรือบรรจุพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยก็ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น การอบรมความปลอดภัยโดยทั่วไป ซึ่งมีการอบรมแบ่งเป็น 2 ระดับ ดังกล่าวข้างต้นคือ

1. ระดับคนงานใหม่

ซึ่งอาจบรรจุไว้ขณะปฐมนิเทศหรือหลังจากปฐมนิเทศแล้ว มีโปรแกรมอบรมความปลอดภัยไว้โดยเฉพาะได้แล้วแต่กรณี เพื่อให้เขาได้ตระหนักถึงการสร้างเจคติและพฤตกรรมได้ดีในเรื่องความปลอดภัยควบคู่ไปกับการปฏิบัติงาน แต่อย่างไรก็ตามการที่จะสร้างความปลอดภัยควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานที่จะสร้างสำนึกความปลอดภัยให้กับคนงานใหม่ได้อย่างจริงจัง จำเป็นต้องสร้างสำนึกในประเด็นสำคัญๆ ให้เกิดขึ้นแก่เขาดังนี้

1.1 ผู้บริหารต้องให้ความสนใจอย่างจริงจังกับการป้องกันอุบัติเหตุ
1.2 อุบัติเหตุอาจเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้แต่ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้
1.3 หน่วยงานต้องมีอุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัยและมีสถานที่เก็บอุปกรณ์ได้ดี และผู้บริหารมีความเต็มใจที่จะนำวิธีป้องกันอุบัติภัยที่ค้นพบใหม่ๆ มาใช้
1.4 คนงานทุกคนมีสิทธิ์รายงานเรื่องความไม่ปลอดภัยที่เขาประสบในการทำงานให้หัวหน้าหน่วยงานทราบ หรืออาจวางมาตรการว่าหากพบเห็นแล้วไม่รายงานถือว่ามีความผิด
1.5 ไม่มีคนงานใดประสงค์ที่จะเข้าไปทำงานในที่เขาเห็นว่าไม่มีความปลอดภัย
1.6 ต้องรายงานให้ผู้บริหารหรือนายจ้างทราบทันทีที่คนงานได้รับอันตรายและความลำบากจากการทำงานแม้ว่าจะเป็เรื่องเล็กน้อยก็ตาม
1.7 ก่อนเข้าปฏิบัติงานหัวหน้าต้องอธิายให้คนงานทราบหน้าที่การงานตลอดทั้งอธิบายถึงวิธีการทำงาน และอำนาจหน้าที่ ที่เขาต้องรับผิดชอบ

นอกจากนี้คนงานทุกคนจะต้องรับทราบและปฏิบัติตามกฎของการรักษาความปลอดภัยที่ได้กำหนดไว้ในระเบียบการว่าจ้าง เช่น การสวมใส่เครื่องป้องกันตา หรือหมวกป้องกันภัย ฯลฯ

นอกจากนี้หลักสูตรที่จะนำมาฝึกอบรมให้แก่คนงานใหม่ก็หลักสูตรการปฐมพยบาล ประโยชน์ของการจัดให้มีการฝึกอบรมเรื่องการปฐมพยาบาลก็คือ ทำให้หน่วยงานที่จะต้องอยู่ปฏิบัติงานในเวลากลางคืน หรือในเวลาที่สถานพยาบาลโดยทั่วไปปิดการให้บริการแล้ว เช่น เหมืองแร่ โรงเลื่อย โรงกลั่นน้ำมัน สามารถดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและนำมาส่งยังสถานพยาบาลได้โดยปลอดภัย เป็นต้น

แม้ว่าบางหน่วยจะมีหน่วยพยาบาลที่สมบูรณ์อยู่แล้วการให้ความรู้เนรื่องการปฐมพยาบาลก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น เพราะในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินคนงานอาจจะต้องช่วยเหลือตนเองในบางเรื่อง เช่น การห้ามเลือด การช่วยหายใจ รวมทั้งวิธีการที่จะนำผู้ป่วยมาส่งให้แพทย์อย่าปลอดภัย เป็นต้น

ข้อดีประการหนึ่งกับการให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลแก่คนงานก็คือ การปฐมพยาบาลเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาที่น่าสนใจ ผู้ที่เข้าร่วมการอบรมเรื่องการปฐมพยาบาลจะเรียนรู้สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุด้วยตนเอง ดังนั้นจึงทำให้ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทำให้พวกเขามีความระมัดระวังมากขึ้น

2. ระดับผู้ควบคุมดูแลความปลอดภัย

2.1 หน้าที่ของผู้ควบคุมดูแลความปลอดภัย

ผู้ควบคุมดูแลความปลอดภัยดังกล่าวนี้ ไม่ว่าหน่วยงานนั้นจะมีโครงการความปลอดภัยหรือไม่ก็ตาม จำเป็นต้องมีผู้ควบคุมดูแลความปลอดภัยไว้ เพื่อให้คอยควบคุมดูแลคนงาน โดยให้มีหน้าที่หลักดังต่อไปนี้

2.1.1 กำหนดวิธีการทำงาน เพื่อให้คนงานมีวิธีการทำงานอย่างมีมาตรฐาน เพราะถ้าวิธีการทำงานหากไม่มีมาตรฐานแล้ว จะปรากฏว่าคนงานมักจะได้รับบาดเจ็บและอันตรายจากการทำงานบ่อยๆ
2.1.2 แสดงขั้นตอนในการทำงาน และวิธีการทำงานได้อย่างถูกต้อง พร้อมด้วยการเน้นถึงความปลอดภัยเพื่อให้คนงานได้รับความรู้ทักษะในการปฏิบัติงานจริงๆ ก็จะช่วยลดสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุได้
2.1.3 การมอบหมายงานให้คนงานทำ ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับขั้นตอนการทำงาน เพื่อเมื่อผู้ควบคุมดูแลมอบหมายให้คนงานทำงานใดก็ต้องมั่นใจว่าคนงานนั้นสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยและเข้าใจถึงขั้นตอนของการทำงานได้เป็นอย่างดี
2.1.4 การควบคุมดูแลคนงานให้ทำงาน เพราะถึงแม้จะได้กำหนดวิธีการทำงานที่ปลอดภัยไว้แล้วก็ตาม บางครั้งคนงานอาจปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานได้ ดังนั้นผู้ควบคุมดูแลต้องคอยสังเกตการทำงาน หากพบว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยต้องรีบแก้ไขทันที
2.1.5 การดูแลรักษาเครื่องมือและสถานที่ทำงาน ทั้งนี้การที่จะให้งานเกิดประสิทธิผลสูงสุดนั้นจำเป็นต้องรักษาเครื่องมือในการทำงานและสถานที่การทำงานให้ได้รับความปลอดภัยด้วย เพราะถ้าหากสถานที่ที่ไม่เรียบร้อยเครื่องมือสภาพไม่สมบูรณ์หรือใช้เครื่องมืออย่างหนึ่ง แทนอีกอย่างหนึ่งอุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้ดังนั้นผู้ควบดูแลสถานที่และเครื่องมือให้อยู่ในสภาพที่ดีนอกจากจะป้องกันอุบัติเหตุแล้วยังปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานด้วย

2.2 วัตถุประสงค์ในการอบรมผู้ควบคุมดูแลความปลอดภัย

การพยายามที่จะช่วยให้ผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมได้รับในสิ่งต่อไปนี้ ได้แก่
2.1.1 เข้าไปสู่โครงการป้องกันอุบัติเหตุของหน่วยงาน
2.1.2 มีฐานะเป็นคนสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุ
2.1.3 เข้าใจความรับผิดชอบของตนที่เกี่ยวกับความปลอดภัย
2.1.4 ทราบข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของอุบัติเหตุและอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งวิธีการป้องกัน
2.1.5 พิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นในการป้องกันอุบัติเหตุและเพื่อพัฒนาข้อสรุปที่เป็นประสบการณ์ของตนเองแลผู้อื่น
2.1.6 มีทักษะในกิจกรรมการป้องกันอุบัติเหตุ
2.1.7 ทำงานได้อย่างปลอดภัยในหน่วยงานของตนเอง

จากวัตถุประสงค์ดังกล่าวจึงต้องมีการอบรมวิชาพื้นฐานให้กับควบคุมดูแลความปลอดภัย เพื่อพิจารณาเจตคติและปลูกฝังความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย ซึ่งหัวข้อในการอบรมอาจทำการระบุไว้ ดังนี้คือ

หลักสูตร 12 ชั่วโมง ของสภาความปลอดภัยแห่งชาติ (The National Safety Council)
ชั่วโมงที่ 1 : ความปลอดภัยกับผู้ควบคุม
ชั่วโมงที่ 2 : รู้จักกับปัญหาอุบัติเหตุของท่าน
ชั่วโมงที่ 3 : มนุษย์สัมพันธ์
ชั่วโมงที่ 4 : การธำรงรักษาความสนใจในความปลอดภัย
ชั่วโมงที่ 5 : ความปลอดภัยเบื้องต้น
ชั่วโมงที่ 6 : อนามัยในอุตสาหกรรม
ชั่วโมงที่ 7 : เครื่องมือป้องกันส่วนบุคคล
ชั่วโมงที่ 8 : การดูแลความสะอาดในโรงงานอุตสาหกรรม
ชั่วโมงที่ 9 : การใช้และเก็บรักษาเครื่องมือ
ชั่วโมงที่ 10 : การดูแลเครื่องจักรและอุปกรณ์จักรกล
ชั่วโมงที่ 11 : เครื่องมือกลมือถือและที่พกพาไปได้
ชั่วโมงที่ 12 : การป้องกันมิให้เพลิงไหม้

นอกจากนี้อาจต้องมีการอบรมพิเศษให้กับผู้ควบคุมดูแลในวิชาอื่นๆ ด้วย เพราะอุบัติเหตุหลายครั้งเป็นผลที่มาจากการปฏิบัติงานที่ขาดทักษะด้านอื่นนอกจากทักษะด้านความปลอดภัย ทักษะที่ผู้ควบคุมดูแลความปลอดภัยควรได้รับการอบรมเพิ่มเติมพิเศษคือ การเสนอแนะวิธีการปฏิบัติงาน การควบคุมดูแลคนงานในขณะทำงาน การวินิจฉัยสาเหตุของอุบัติเหตุ และการสร้างเสริมเจตคติในเรื่องความปลอดภัยในระหว่างคนงาน

ที่มา : moodythai.com

อัพเดทล่าสุด