ความ(ไม่)ปลอดภัยในการทำงานเรื่อง การป้องกันไฟ
สำหรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในขณะลูกจ้างทำงานส่วนใหญ่จะส่งผลทำให้ลูกจ้างต้องรับอันตราย บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากการทำงานที่ตนไม่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน และวิธีป้องกันให้ถูกต้องตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งความไม่ปลอดภัยที่สร้างความเสียหายได้รุนแรงและส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง สถานประกอบการ เศรษฐกิจ และสังคม คือ อัคคีภัย หรือ ภัยจากไฟ โดยกฎหมายได้กำหนดให้นายจ้างต้องดำเนินการเตรียมการป้องกัน พร้อมทั้งต้องจัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลเกี่ยวกับเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานของลูกจ้าง ซึ่งกฎหมายได้วางมาตรการไว้เป็นสองส่วน คือ มาตรการป้องกัน และมาตรการระงับอัคคีภัย ซึ่งสามารถแยกประเภทของเพลิงต่าง ๆ ออกมา 4 ประเภท ดังนี้
“เพลิงประเภท เอ” หมายความว่าเพลิงที่เกิดจากเชื้อเพลิงธรรมดา เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ ยาง พลาสติก
“เพลิงประเภท บี” หมายความว่า เพลิงที่เกิดจากของเหลวติดไฟก๊าซและน้ำมันประเภทต่าง ๆ
“เพลิงประเภทซี”หมายความว่า เพลิงที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือวัตถุที่มีกระแสไฟฟ้า
“เพลิงประเภท ดี” หมายความว่า เพลิงที่เกิดจากโลหะต่างที่ติดไฟแมกนีเซียม เซอร์โดเนียม ไทเทเนียม
กรณีการป้องกันไฟมีหลักสำคัญ คือ การแยกองค์ประกอบของไฟออกจากกัน เช่น การเก็บวัตถุติดไฟไว้เท่าที่จำเป็น และสถานที่ห่างจากแหล่งกำเนิดของการติดไฟ การวางระเบียบในการเชื่อมการตัด การจัดให้มีการรักษาความสะอาดในสถานที่ทำงานล่อแหลมต่อการติดไฟ การป้องกันระบบไฟฟ้าลัดวงจร เป็นต้น ซึ่งตามกฎหมายแรงงานได้กำหนดให้นายจ้างต้องปฏิบัติในเรื่องการป้องกันแหล่งก่อเกิดการกระจายตัวของความร้อนดังนี้
1. ป้องกันมิให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟฟ้า
2. ป้องกันมิให้เกิดอัคคีภัยจากเครื่องยนต์ หรือปล่องไฟเพื่อมิให้เกิดลูกไฟ หรือเขม่าไฟกระเด็นถูกวัตถุที่ติดไฟได้ เช่น นำวัตถุไฟออกจากบริเวณนั้น หรือกำจัดทำที่คอบป้องกันลูกไฟ หรือเขม่าไฟ
3. ป้องกันอัคคีภัยที่เกิดจากการแผ่รังสีการนำ หรือการพาความร้อนจากแหล่งกำเนิดความร้อนสูงไปสู่วัสดุติดไฟได้ง่าย เช่น จัดทำฉนวนหุ้มหรือปิดกั้น
4. ป้องกันอัคคีภัยจากการทำงานที่เกิดจากการเสียดทานของเครื่องจักร เครื่องมือที่เกิดประกายไฟ หรือความร้อนสูงอาจทำให้เกิดการลุกไหม้ได้ เช่น การซ่อมบำรุง หรือหยุดพักการใช้งาน
5. เพื่อป้องกันการสะสมของไฟฟ้าสถิตย์ให้ต่อสายดินกับถัง หรือท่อน้ำมันเชื้อเพลิง สารเคมี หรือของเหลวไวไฟ โดยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟฟ้า
นอกจากนี้ในกฎหมายยังมีข้อกำหนดให้นายจ้างจัดให้มีแผนป้องกันภัยในสถานประกอบการโดยให้นิยามของ “แผนป้องกัน และระงับอัคคีภัย หมายถึง แนวทางปฏิบัติที่จะใช้ในการป้องกันและระงับอัคคีภัย” ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ต้องเก็บแผนป้องกัน และระงับอัคคีภัยไว้ ณ สถานที่ทำงานพร้อมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ อันได้แก่ การตรวจตรา การอบรม การรณรงค์ป้องกันอัคคีภัย การดับเพลิง การอพยพหนีไฟ การบรรเทาทุกข์ และการปฏิรูปฟื้นฟูเมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้นแล้ว
การดำเนินการป้องกันเพื่อมิให้เกิดเพลิงไหม้จึงเป็นการเตรียมการป้องกันเพื่อมิให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น รวมถึง การเตรียมการเพื่อรองรับเหตุการณ์อาจเกิดเพลิงไหม้ หรือเมื่อเกิด เพลิงไหม้ โดยจะสามารถสังเกตุเห็นได้ว่า หน่วยงานต่าง ๆ ในปัจจุบันที่มีบุคลากรอยู่รวมกันจำนวนมากบนอาคารสูง หรือศูนย์การค้าที่เป็นแหล่งชุมนุมของคนจำนวนมาก ๆ จะมีการซ้อมดับเพลิงและซ้อมอพยพหนีไฟอยู่เป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกจ้างหรือกลุ่มบุคคลที่เข้าไปใช้บริการ ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันได้อย่างเป็นระบบ และสามารถระงับอัคคีภัยได้รวดเร็ว ลดการสูญเสียทรัพย์สิน และที่สำคัญคือ มิให้เป็นอันตรายต่อชีวิต และร่างกายของคนนั้นเอง
ที่มา : วันสต๊อปเอ็ชอาร์