บทวิเคราะห์: การจัดตั้งองค์กรอิสระด้านความปลอดภัยในการทำงาน


961 ผู้ชม


บทวิเคราะห์: การจัดตั้งองค์กรอิสระด้านความปลอดภัยในการทำงาน




การจัดตั้งองค์กรอิสระด้านความปลอดภัยในการทำงาน
สถาบันคุ้มครอง ส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ได้มีแถลงไว้ต่อรัฐสภา ได้มีนโยบายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน คือ การพัฒนาให้มีระบบคุ้มครองความปลอดภัย สุขภาพอนามัย และสิ่งแวดล้อมการทำงานของผู้ใช้แรงงาน ดังนั้น จึงควรมีการดำเนินการเพื่อเป็นการรองรับหรือให้เกิดความสอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งแนวทางหนึ่งคือการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านความปลอดภัยในการทำงาน
มูลเหตุที่นำมาซึ่งการจัดตั้งองค์กรในรูปแบบดังกล่าว เนื่องจากสภาวการณ์ปัจจุบัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ยังผลให้ภาครัฐต้องมีการปรับโครงสร้างการบริหารงาน ลดอัตรากำลัง ปรับลดภารกิจ บทบาทในส่วนที่ซ้ำซ้อนหรือภาครัฐทำได้อย่างจำกัดลง โดยการถ่ายโอนงานไปให้ภาคเอกชนดำเนินการแทน โดยในภาครัฐทำหน้าที่เป็นหน่วยสนับสนุน กำกับ ดูแล
สำหรับในส่วนของภารกิจด้านความปลอดภัยในการทำงานนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ และปัจจุบันมีขอบเขตของเนื้องานมีหลายด้าน กอปรกับอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ที่มีจำกัด ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจบางอย่างได้เต็มที่หรือครอบคลุมทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านบริการ เช่น บริการตรวจสิ่งแวดล้อมการทำงาน บริการวิเคราะห์ตัวอย่างทางสิ่งแวดล้อม บริการจัดอบรมหลักสูตรต่าง ๆ บริการตรวจสมรรถภาพร่างกายของลูกจ้าง ฯลฯ ซึ่งอยู่ในข่ายที่สมควรผลักดันให้ภาคเอกชนดำเนินการแทน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานในภาพรวมมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งองค์กรอิสระนี้ ควรเป็นองค์กรหรือหน่วยงานที่ไม่แสวงผลกำไร และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ โดยให้มีศักยภาพปฏิบัติงานได้อย่างครบวงจร ทั้งในด้านการส่งเสริม ป้องกัน ควบคุมแก้ไข และฟื้นฟู จ่ายเงินทดแทน
ข้อดี
- เป็นการสนองตอบนโยบายรัฐบาล
- มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ
- มีการบริหารงานที่เป็นอิสระ มีความคล่องตัว รวดเร็ว
- มีเครือข่ายพันธมิตรการปฏิบัติงาน เช่น องค์กรลูกจ้าง
- ประหยัดงบประมาณภาครัฐ
- ข้อจำกัดในการดำเนินงานลดลง ไม่ติดขัดกฎระเบียบราชการ
- เป็นหน่วยงานที่ไม่มีภารกิจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานภาครัฐ
ข้อเสีย
- หน่วยงานภาครัฐ มีบุคลากรด้านนี้ลดลง เนื่องจากมีการถ่ายโอน
- ต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถพอเพียงที่จะกำกับดูแลองค์กร
- ขาดหน่วยสนับสนุนทางวิชาการ
- งบประมาณในภาพรวมของหน่วยงานภาครัฐลดลง
- บทบาท ภารกิจของหน่วยงานภาครัฐลดลง
- สถานประกอบการเสียค่าใช้จ่ายในการใช้บริการต่าง ๆ


ที่มา/ผู้ดำเนินการ :  - ไม่ระบุที่มา -

อัพเดทล่าสุด