อันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน


12,525 ผู้ชม


อันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน




การทำงานในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น จะต้องสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไป ทำให้ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนมีโอกาสสัมผัสปัจจัยที่เป็นอันตราย และได้รับผลกระทบหรือเกิดโรคอันเนื่องมาจากการทำงานแตกต่างกันไปตามสถานภาพ ลักษณะหน้าที่การงานของแต่ละคน อันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน อาจสรุปโดยแบ่งตามด้านต่าง ๆ ได้ดังนี้
ด้านกายภาพ (Physical Agents)
1. แสงสว่าง (Illumination)
- ปัญหาการใช้สายตา กล้ามเนื้อตา สมรรถภาพการมองเห็น
- ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
- ทำงานผิดพลาด -- เกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน
2. เสียงดัง (Noise)
- ผลกระทบต่อสมรรถภาพการได้ยิน เกิดอาการหูเสื่อม
- ปัญหาการสื่อสาร -- เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น
- ปัญหาสุขภาพจิต -- ประสิทธิภาพการทำงาน
3. ความร้อน (Heat Stress)
- อุณหภูมิภายในร่างกายสูงขึ้น
- สูญเสียน้ำ เกลือแร่ เกิดอาการอ่อนเพลีย หมดสติ
- เป็นตะคริว ลมชักเนื่องจากความร้อน
- เป็นผด ผื่นเนื่องจากความร้อน
- ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
4. ความสั่นสะเทือน (Vibration)
- กรณีทั่วร่างกาย (Whole body) ทำให้เกิดปัญหากล้ามเนื้อ กระดูก การหมุนเวียนโลหิต การควบคุมร่างกาย ฯลฯ
- กรณีเฉพาะบริเวณ (Hand-Arm) กระทบต่อการหมุนเวียนโลหิตบริเวณนั้น ทำให้เกิดอาการเนื้อตายได้ นอกจากนี้ อาจทำให้เนื้อเยื่ออ่อนของมือ เกิดอาการอักเสบลุกลามไปถึงกระดูกข้อมือ หรือทำให้กล้ามเนื้อมือเป็นอัมพาตหรือทำให้อวัยวะบางส่วนลีบได้
5. รังสี (Radiation)
- กรณีปริมาณรังสีต่ำ ส่งผลกระทบต่ออวัยวะเป้าหมาย เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ความผิดปกติทางพันธุกรรม และการมีอายุสั้นลง
- กรณีปริมาณรังสีสูง ทำลายเซลล์ เกิดความผิดปกติรุนแรง และอาจถึงเสียชีวิตได้
6. ความกดดันบรรยากาศ (Decompression)
- เกิดอาการปวดหู หูอื้อ เวียนศีรษะ
- เกิดฟองอากาศในเลือด และมีอาการเป็นตะคริว
- เกิดภาวะขาดออกซิเจน ส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ
ด้านเคมี (Chemical Agents)
ปัจจุบัน มีการใช้สารเคมีในด้านอุตสาหกรรมกว่า 50,000 ชนิด รวมถึงสารเคมีอันตราย (Hazardous chemicals) ได้แก่
- สารพิษ (Toxic substances)
- สารไวไฟ (Flammable materials)
- สารที่ระเบิดได้ (Explosive materials)
- สารกัดกร่อน (Corrosive materials)
- สารกัมมันตรังสี (Radioactive materials)
โดยสารเคมีข้างต้น ถือว่ามีศักยภาพในการก่อให้เกิดอันตรายหรือผลกระทบที่รุนแรงได้
สารเคมีรูปแบบต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมการทำงาน
1. อนุภาคของแข็ง (Solid particles) ได้แก่ ฝุ่น (Dusts) ทั้งฝุ่นขนาดเล็กที่สามารถหายใจเข้าสู่ปอดได้ และฝุ่นขนาดใหญ่, เส้นใย (Fibers), ฟูม (Fumes) เกิดจากการควบแน่นของไอโลหะ, ควัน (Smoke)
2. ของเหลว ได้แก่ ละออง (Mists)
3. ก๊าซต่าง ๆ (Gases) และไอระเหย (Vapor)
การเข้าสู่ร่างกายของสารเคมี
1. ทางการหายใจ (Inhalation)
2. ทางผิวหนัง (Skin absorption)
3. ทางการกลืนกิน (Ingestion)
การเกิดผลกระทบ
สารเคมีจะดูดซึมผ่านกระแสเลือด และเข้าสู่อวัยวะเป้าหมาย และก่อให้เกิดผลทั้งแบบเฉียบพลัน (Acute effects) หรือผลแบบเรื้อรัง (Chronic effects) โดยขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมี รูปแบบการสัมผัส ระยะเวลา ความถี่ และปัจจัยส่วนบุคคลอื่น ๆ
ด้านชีวภาพ (Biological Agents)
มักเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเกษตร งานภาคเกษตร ได้แก่
1. การติดเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น โรคแอนแทรกซ์ โรคปอดชาวนา โรคปอดชานอ้อย
2. การเกิดอาการภูมิแพ้ ระคายเคือง เช่น แพ้ขนสัตว์ ฝุ่น เส้นใยพืช
3. การได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกาย เช่น โปรโตซัว หนอนพยาธิ และแมลงนำโรค
4. การถูกแมลง สัตว์มีพิษ กัดต่อย
ด้านการยศาสตร์ (Ergonomics)
เป็นการจัดสภาพและวิธีการทำงานให้เหมาะสมกับคนงานเพื่อลดปัญหาหรือผลกระทบต่าง ๆ
1. การจัดสภาพการทำงาน เช่น ขนาดเครื่องจักร โต๊ะ เก้าอี้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สมรรถภาพการทำงานลดลง
2. วิธีการทำงาน เช่น ท่าทาง การยกของ น้ำหนักที่มากเกินไป ทำให้เกิดปัญหากล้ามเนื้อ กระดูก หรือการบาดเจ็บ
3. รูปแบบการทำงาน เช่น การทำงานในลักษณะซ้ำ ๆ ซึ่งทำให้เกิดความเครียด ความเบื่อหน่าย ปัญหาทางจิตใจ ฯลฯ


 

ที่มา/ผู้ดำเนินการ :  เอกสารประกอบการอบรมหัวข้อสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (Wisanti L.)

อัพเดทล่าสุด