หลักการตรวจประเมินสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ขั้นตอนการตรวจประเมินสภาพแวดล้อมในการทำงาน
โดยทั่วไปจะประกอบด้วย:-
- การสำรวจเบื้องต้น (Walk-through Survey)
- การตรวจวัด ทั้งแบบโดยตรง (Direct Measurement) หรือโดยการเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อม (Sampling)
- การวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ (Laboratory. Analysis)
- การประเมินผล (Evaluation) โดยเทียบเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย
การตรวจวัดระดับแสงสว่าง
ใช้ Lux Meter ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดแสงที่อ่านค่าได้โดยตรง (Direct Reading) มีหน่วยการวัดเป็น ลักซ์ ปกติจะวัดที่ตำแหน่งชิ้นงานที่คนทำงานอยู่ เพื่อประเมินระดับความเข้มของแสงสว่างกับลักษณะงานที่ปฏิบัติว่าเพียงพอหรือไม่ โดยอ้างอิงมาตรฐานของแสงสว่างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ดังนี้
- งานที่ไม่ต้องการความละเอียด ระดับแสงต้องไม่น้อยกว่า 50 ลักซ์
- ต้องการความละเอียดเล็กน้อย ระดับแสงต้องไม่น้อยกว่า 100 ลักซ์
- ต้องการความละเอียดปานกลาง ระดับแสงต้องไม่น้อยกว่า 200 ลักซ์
- ต้องการความละเอียดมาก ระดับแสงต้องไม่น้อยกว่า 300 ลักซ์
- ต้องการความละเอียดมากเป็นพิเศษ ระดับแสงต้องไม่น้อยกว่า 1,000 ลักซ์
การตรวจวัดระดับความดังเสียง
โดยใช้เครื่องมือวัดระดับความดังเสียง (Sound Level Meter) ซึ่งให้ผลของที่วัดที่มีหน่วยเป็น เดซิเบล (เอ) ปกติจะทำการวัดที่ระดับหูของตัวผู้ปฏิบัติงาน เพื่อประเมินระดับความดังเสียงที่ได้รับว่าเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ ทั้งนี้ ผลการวัดจะนำมาเทียบมาตรฐานของเสียงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ดังนี้
- ทำงานไม่เกิน 7 ชม./วัน ระดับเสียงต้องไม่เกิน 91 dB A
- ทำงาน 7-8 ชม./วัน ระดับเสียงต้องไม่เกิน 90 dB A
- เกินวันละ 8 ชม. ระดับเสียงต้องไม่เกิน 80 dB A
- นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานในที่ระดับเสียงเกินกว่า 140 dB A ไม่ได้
การตรวจวัดสภาพความร้อน
ควรทำการตรวจวัดโดยใช้ดัชนีกระเปาะเปียกและโกลบ (Wet Bulb Globe Temperature; WBGT) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้วัดปริมาณความร้อนที่มีผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ เพื่อการ ประเมินสภาพความร้อนในที่ทำงานที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้ โดยใช้ชุดตรวจวัดความร้อนแบบ WBGT อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีมาตรฐานของไทยที่กำหนดไว้ จึงต้องใช้การอ้างอิงตามค่าเสนอแนะของ American Conference of Governmental Industrial Hygienists (ACGIH) ซึ่งการประเมินผลเปรียบเทียบค่าที่คำนวณได้กับเกณฑ์มาตรฐานนี้ จะต้องมีตัวแปรที่เกี่ยวข้อง คือ ระดับความหนักเบาของงาน และเวลาทำงาน - หยุดพัก
การตรวจประเมินระดับความเข้มข้นของสารเคมี
โดยทั่วไป จะใช้รูปแบบการตรวจวัดที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือตรวจวัดแบบอ่านค่าได้ทันที (Direct Reading) หรือติดตั้งชุดอุปกรณ์เก็บตัวอย่างที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน (Personal Sampling) ก่อนทำการส่งห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของมลพิษในอากาศ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของอนุภาค ฟูม มิสต์ ก๊าซ ไอระเหย และทำการประเมินผลเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้ทราบระดับความเสี่ยงต่อสุขภาพผู้ปฏิบัติงาน และยังเป็นการประเมินระบบควบคุมที่มีอยู่ด้วย
ทั้งนี้ วิธีการตรวจวัดหรือเก็บตัวอย่างทางเคมี จะขึ้นอยู่กับชนิด ประเภทของสารเคมี รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น รูปแบบการฟุ้งกระจาย สภาพการทำงาน ฯลฯ
สำหรับการประเมินผล จะอ้างอิงมาตรฐานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย หรือมาตรฐานอื่น ๆ เช่น มาตรฐาน ACGIH, OSHA, NIOSH เป็นต้น
ที่มา/ผู้ดำเนินการ : เอกสารประกอบการอบรมหัวข้อสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (Wisanti L.)