หลักทั่วไปในการควบคุมและป้องกันอันตรายจากสารเคมีในสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
การควบคุมและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ย่อมมีวิธีการดำเนินงานแตกต่างกันไปตามชนิดของโรงงาน ประเภทของงานที่ต้องปฏิบัติ และลักษณะของสารเคมี รวมทั้งตัวผู้ปฏิบัติงานด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีหลักทั่ว ๆ ไปที่พอจะใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการดังต่อไปนี้
(1) การควบคุมป้องกันสิ่งแวดล้อม
1.1 จัดหาวัตถุ หรือสารเคมีที่ไม่เป็นพิษ หรือมีพิษน้อยเข้ามาใช้ในกิจการ เช่น การใช้ปรอทฉาบกระจกเงา ซึ่งพบว่าปรอทมีอันตราย จึงได้เปลี่ยนมาใช้ฉาบด้วยเงินซึ่งเป็นพิษน้อยกว่า หรือการทำไม้ขีดไฟ มีการเปลี่ยนมาใช้ฟอสฟอรัสแดง ซึ่งมีอันตรายน้อยกว่าฟอสฟอรัสขาว
1.2 จัดการเปลี่ยนแปลงขบวนการวิธีปฏิบัติงาน เพื่อที่จะให้ผู้ปฏิบัติงานได้สัมผัสกับสารเป็นพิษเสี่ยงต่ออันตรายน้อยลง เช่น การผสมสารเคมีเป็นพิษ โดยใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ หรือในที่ซึ่งปิดมิดชิด เป็นต้น
1.3 แยกงานที่อาจเป็นอันตรายออกไปจากงานที่ไม่อันตราย เพื่อลดจำนวนของคนงานที่เสี่ยงต่ออันตรายน้อยลง เช่น ห้องชุบโลหะ ห้องพ่นสี หรือห้องผสมสารเคมีควรจะมีฝาผนังกั้นแยกจากห้องอื่น เพื่อคนงานอื่น ๆ ปลอดภัย
1.4 ในการเจาะหิน บดหิน บดแร่ หรืออื่น ๆ ที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองฟุ้งในอากาศ ควรจะใช้วิธีพ่นน้ำหรือไอน้ำ เพื่อให้ฝุ่นละอองเหล่านี้เหล่านี้ลดน้อยลง
1.5 ในบริเวณที่มีฝุ่นละออง ไอระเหย เขม่าควัน ฯลฯ ควรมีการติดตั้งเครื่องดูดอากาศหรือระบบระบายอากาศเฉพาะที่ (Local Exhaust Ventilation)
1.6 จัดให้มีการถ่ายเทอากาศทั่ว ๆ ไป โดยดูดอากาศดีจากภายนอกเข้ามาแทนที่อากาศเสียในโรงงาน เพื่อจะได้มีอากาศบริสุทธ์หายใจ
1.7 ทำการเก็บสิ่งของโรงงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนดูแลความสะอาดทั่ว ๆ ไป การสุขาภิบาล เช่น ห้องอาบน้ำ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องส้วม ห้องอาหาร น้ำดื่ม ฯลฯ
1.8 การควบคุมป้องกันเฉพาะโรคที่มีอันตรายมาก เช่น ลดเวลาการปฏิบัติงานในที่เสี่ยงอันตรายให้น้อยลง ติดตั้งสัญญาณป้องกันอันตราย การติดแผ่นฟิล์มสำหรับคนงานเอกซ์เรย์
1.9 ทำการตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นอันตรายต่อคนงาน เช่น เขม่าควัน ไอระเหย ก๊าซพิษ และอื่น ๆ เป็นระยะ ๆ โดยสม่ำเสมอ เมื่อพบว่ามีสิ่งผิดปกติต้องรีบดำเนินการแก้ไขปรับปรุงจนเป็นที่ปลอดภัย
(2) การควบคุมป้องกันด้านตัวบุคคล
2.1 ให้สุขศึกษาแก่คนงาน หัวหน้าคนงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทราบถึงอันตรายของสารเคมีต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนวิธีการควบคุมป้องกัน โดยเฉพาะผู้เข้าทำงานใหม่ ต้องชี้แจงให้เข้าใจถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับโดยเคร่งครัดสำหรับผู้ทำงานอยู่ก่อน จะต้องมีการประชุมชี้แจงเป็นระยะ ๆ อาจจัดตั้งกรรมการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในโรงงานขึ้นดำเนินการนี้
2.2 จัดหาเครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้ผู้ปฏิบัติงานได้สวมใส่ เช่น เสื้อผ้า ถุงมือ แว่นตา หน้ากาก เครื่องกรองอากาศ เป็นต้น
2.3 จัดให้มีการตรวจสุขภาพคนงานเป็นระยะ ๆ โดยสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคหรือความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น
(3) การควบคุมป้องกันโดยการบริหารหรือการจัดการ
3.1 จัดให้มีการบริการทางด้านสวัสดิการต่าง ๆ เช่น การประกันความเจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพ จัดสถานที่พักผ่อน จัดให้มีการรื่นเริงเป็นบางครั้ง หรือจัดหาสิ่งจูงใจอื่น ๆ ให้คนงานได้ปฏิบัติงานด้วยความสบายใจและมั่นใจในความปลอดภัย ทั้งในด้านสุขภาพอนามัยและด้าน อื่น ๆ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติงานให้กับนายจ้างอย่างเต็มประสิทธิภาพ
3.2 รายงานโรคหรืออุบัติเหตุต่อผู้รับผิดชอบและเก็บรวบรวมรายงาน การขาด การลา ความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ และอื่น ๆ เพื่อนำมาศึกษาวิจัยหาข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการควบคุมป้องกันต่อไป
3.3 ให้ความร่วมมือและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงงาน ในการควบคุมป้องกันโรคอันเนื่องจากการทำงานกับสารเคมี และที่สำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือระหว่างนายจ้าง และรัฐบาล โดยที่รัฐบาลจะเป็นผู้ช่วยเหลือแนะนำทางด้านวิชาการ ตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อมสารเคมีในการทำงาน กำหนดมาตรฐาน และหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติที่เหมาะสม ฯลฯ นายจ้างจะต้องให้ความร่วมมือจัดการสิ่งต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงงานให้เป็นไปตามกฎหมายข้อเสนอแนะของฝ่ายรัฐบาลจนเป็นที่ปลอดภัยแก่ลูกจ้าง ตลอดจนหาทางส่งเสริมสุขภาพอนามัยลูกจ้างได้ดีขึ้น ส่วนลูกจ้างนั้นจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ระเบียบข้อบังคับของโรงงานโดยเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของตนเองและส่วนรวม
ที่มา/ผู้ดำเนินการ : เรียบเรียงจากเอกสารการฝึกอบรม ณ ประเทศญี่ปุ่น (Wisanti L.)