การเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจากการจัดสภาพแวดล้อมในอาคาร (Sick Building Syndrome)


834 ผู้ชม


การเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจากการจัดสภาพแวดล้อมในอาคาร (Sick Building Syndrome)




แนวโน้มปัญหาใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมในการทำงานนั้น จะมีความสัมพันธ์กับรูปแบบและกระบวนการทำงานที่เปลี่ยนไป ซึ่งหนึ่งในปัญหาใหม่ที่กำลังเป็นที่สนใจคือ ปัญหาการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจากการจัดสภาพแวดล้อมในอาคาร (Sick Building Syndrome)
ปัญหาการเกิดอาการเจ็บป่วยจากการปฏิบัติงานในสำนักงาน เนื่องจากการจัดสภาพแวดล้อมในอาคารนี้ เป็นเรื่องใหม่ที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในหลายประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้มีการทำงานล่วงเวลามากขึ้น โดยเฉพาะงานสำนักงาน ทั้งนี้ จากผลการศึกษาวิจัยพบว่าปัญหาดังกล่าว มีสาเหตุเนื่องมาจากการสัมผัสสารเคมีตกค้างในอาคาร อุปกรณ์ตกแต่ง เครื่องใช้สำนักงาน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดอาการแสบจมูก ปวดศีรษะ วิงเวียน หรือง่วงซึมขณะปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความหลากหลายของปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเคมี ทำให้การวินิจฉัยและเฝ้าระวังปัจจัยที่เป็นสาเหตุอาจกระทำได้โดยยาก ทั้งนี้ ปัจจัยที่เป็นสาเหตุหลักซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างชัดเจนคือ สารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งมักพบตกค้างในวัสดุเครื่องใช้สำนักงานต่าง ๆ โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์จากไม้ นอกจากนี้ ปัจจัยสาเหตุยังอาจเป็นสารตัวทำละลายอื่น ๆ ที่เป็นส่วนผสมในสี กาว เคลือบเงา เช่น โทลูอีน (Toluene) ไซลีน (Xylene) และเอธิลเบนซีน (Ethylbenzene) เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อระดับของสารฟอร์มาลดีไฮด์ในสิ่งแวดล้อมคือ
- การระบายอากาศภายในห้อง บริเวณการทำงาน การเปิด-ปิดหน้าต่าง การใช้เครื่องปรับอากาศ
- การติดตั้งอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ภายในห้อง รวมถึงรูปแบบการจัดวางและการใช้งาน เช่น การเปิดตู้ ลิ้นชักบ่อย ๆ
- สภาพอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น
- การสูบบุหรี่ การมีแหล่งกำเนิดความร้อนในบริเวณนั้น
- การใช้สารเคมี/สารระเหยอื่น ๆ ในห้อง ฯลฯ
สำหรับมาตรการเพื่อการปรับปรุง ป้องกันปัญหาในเรื่องนี้ จะเน้นที่การดูแลสภาพแวดล้อมโดยรอบ จัดให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดี หลีกเลี่ยงสภาพที่มีอุณหภูมิสูง ลดการใช้เฟอร์นิเจอร์จากไม้ สี กาว เคลือบเงา และทำการแยก เคลื่อนย้าย วัตถุที่เป็นต้นเหตุของปัญหาออกจากบริเวณนั้น ๆ

ที่มา/ผู้ดำเนินการ :  เรียบเรียงจากเอกสารการฝึกอบรม ณ ประเทศญี่ปุ่น (Wisanti L.)

อัพเดทล่าสุด