บทคัดย่อ : การศึกษาสถานการณ์และประเมินสภาพอันตรายเบื้องต้นในสถานประกอบการที่มีการใช้รังสี
การดำเนินโครงการศึกษาสถานการณ์และประเมินสภาพอันตรายเบื้องต้นในสถานประกอบการที่มีการใช้รังสี เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ซึ่งดำเนินการโดยฝ่ายสุขศาสตร์แรงงาน สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน ในปีงบประมาณ 2544 โดยใช้แบบสำรวจสถานประกอบการเป็นเครื่องมือหลักในการเก็บรวบรวมข้อมูล ก่อนจะนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์และประเมินผลตามหัวข้อที่ทำการศึกษา และทำการสรุปผลที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ รวมถึงอภิปรายผลการศึกษาและเสนอข้อแนะนำในแง่มุมต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับรังสีในอนาคต
ในการรวมรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ในเชิงลึก โดยการใช้แบบสำรวจสถานประกอบการนั้น ประกอบด้วยส่วนที่สำคัญคือ ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสถานประกอบการ ข้อมูลการใช้/ครอบครองสารรังสีหรือเครื่องกำเนิดรังสี และข้อมูลมาตรการความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับรังสี อันรวมถึงมาตรการควบคุมป้องกัน การกำจัด และมาตรการเกี่ยวกับผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้ คณะผู้จัดทำโครงการฯ ได้ดำเนินการส่งแบบสำรวจข้อมูลไปยังสถานประกอบการกลุ่มเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 549 แห่ง และได้รับการตอบแบบสำรวจกลับ จำนวน 270 ชุด (49.18 %)
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสำรวจ พบว่าด้านข้อมูลทั่วไป สถานประกอบการส่วนใหญ่ที่มีการใช้/ครอบครองสารรังสี เป็นกลุ่มประเภทกิจการผลิต (71.97 %) กิจการสถานบริการชุมชน สังคม และส่วนบุคคล (8.33 %) กิจการขนส่ง คลังสินค้า (6.82 %) เหมืองแร่และเหมืองหิน (4.2 %) และอื่นๆ โดยเมื่อพิจารณาตามรายจังหวัด สถานประกอบการมีการกระจายตัวอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร (15.53 %) ระยอง (12.12 %) ปทุมธานี (10.98 %) สมุทรปราการ (8.33 %) ฯลฯ เมื่อจำแนกตามจำนวนลูกจ้าง พบว่าสถานประกอบการส่วนใหญ่มีลูกจ้าง 100-299 คน (27.27 %) รองลงมาคือกลุ่มที่มีลูกจ้าง 300-499 คน (16.29 %) และตั้งแต่ 1,000 คน (15.53 %) ทั้งนี้ สถานประกอบการส่วนใหญ่มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ (81.44 %) ระดับพื้นฐาน/หัวหน้างาน (81.06 %) และมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานด้านรังสี (91.29 %)
ในด้านข้อมูลเกี่ยวกับการใช้/ครอบครองสารรังสีหรือเครื่องกำเนิดรังสี พบว่า สถานประกอบการมีการใช้สารรังสี Am-241 มากที่สุด (32.20 %) รองลงมาเป็นการใช้เครื่องเอกซ์เรย์ (24.24 %) สารรังสี Cs-137 (19.70 %) Kr-85 (12.5 %) Co-60 (6.44 %) ฯลฯ โดยวัตถุประสงค์การใช้งาน พบว่ามีความหลากหลาย เช่น Am-241 ส่วนใหญ่ใช้เป็นส่วนของสายล่อฟ้า ใช้วัดระดับของเหลว ตรวจสอบคุณภาพ วัดความหนาแน่น น้ำหนัก ความชื้น ฯลฯ เครื่องเอกซ์เรย์ พบว่ามีการใช้สำหรับตรวจจับ ตรวจซ่อม ตรวจวัดปริมาณ วิเคราะห์สารเคมี คุณภาพผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ส่วน Cs-137 มีการใช้สำหรับวัดระดับและคุณลักษณะของเหลว การปรับเทียบอุปกรณ์ ฯลฯ
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงาน พบว่าสถานประกอบการส่วนใหญ่มีการจัดทำแผนป้องกันอันตรายจากรังสี (76.89 %) แต่มีเพียงส่วนหนึ่งที่มีการฝึกซ้อมตามแผนฯ (34.09 %) สถานประกอบการมีการกำหนดมาตรการหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้/ปฏิบัติงานกับรังสี (72.73 %) และมีการจัดทำแนวปฏิบัติ ข้อบังคับ หรือ กฎระเบียบด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับรังสี (75.54 %) สถานประกอบการมีการรายงานหรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้/ครอบครอง/เคลื่อนย้าย (89.02 %) มีการกำหนดพื้นที่ควบคุม/ห้าม (77.65 %) มีการจัดทำป้าย/สัญลักษณ์เตือนอันตราย (85.23 %) ในเชิงการเฝ้าระวังอันตราย สถานประกอบการมีตรวจสภาพแวดล้อมการทำงานเกี่ยวกับการแผ่รังสี (79.55 %) แต่มีส่วนหนึ่งที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดหรือเตือนภัยในการบริเวณการทำงาน (35.61 %) ในส่วนของผู้ปฏิบัติงาน สถานประกอบการส่วนใหญ่จัดให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากรังสี (79.55 %) จัดให้มีการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่สามารถป้องกันรังสี (40.91 %) จัดให้มีการใช้อุปกรณ์บันทึกปริมาณรังสีประจำตัวบุคคลชนิดต่างๆ เช่น Film Badge, TLD, Pocket Dosimeter เพื่อวัดปริมาณรังสีสะสม (75.38 %) จัดให้มีการตรวจสุขภาพผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสี (73.11 %) โดยส่วนใหญ่เป็นการตรวจปีละครั้ง
ผลการศึกษาในครั้งนี้ นำมาซึ่งข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้สารรังสีและเครื่องกำเนิดรังสีในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานที่มีอยู่ อันจะนำมาซึ่งแนวทางการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับรังสีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการควบคุม ดูแล และติดตามการใช้รังสีหรือเครื่องกำเนิดรังสี เพื่อให้มีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง เหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุด และมีความปลอดภัยต่อตัวผู้ปฏิบัติงานและสภาพแวดล้อมในขณะเดียวกัน ทั้งนี้ คณะผู้ศึกษาได้นำเสนอข้อเสนอแนะสำหรับฝ่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล สถานประกอบการ และตัวผู้ปฏิบัติงาน
ที่มา/ผู้ดำเนินการ : ฝ่ายสุขศาสตร์แรงงาน สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน โทร. 0 2448 6607