การทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารตัวทำละลาย
สารตัวทำละลาย (Solvents) เป็นสารเคมีที่อยู่สถานะของเหลวที่มีคุณสมบัติละลายสารอื่นหรือทำให้สารอื่นเจือจางได้ เช่น ละลายไขมัน น้ำมัน หมึก สี พลาสติก ยาง เป็นต้น โดยทั่วไป สารตัวทำละลายจะมีคุณสมบัติในการระเหยได้ง่าย มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และไวไฟ ตัวอย่างของสารตัวทำละลายที่เป็นที่รู้จักและมีการใช้อย่างแพร่หลายในงานอุตสาหกรรม ได้แก่ เบนซีน โทลูอีน ไซลีน สไตรีน ไตรคลอโรเอทธิลีน และอื่น ๆ โดยมักเป็นสารตัวทำละลายอินทรีย์ (Organic Solvents) ในกลุ่ม Aromatic hydrocarbons, Aromatic amines, Aliphatic chlorinated hydrocarbons
จากการที่มีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ในกระบวนการทำความสะอาด ล้างไขมัน ใช้ในการกัดย้อมสี การกัดกร่อน และการสกัดสารอื่น นอกจากนี้ยังเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการผลิตสารเคมีอื่น ๆ และเป็นส่วนประกอบของสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ทินเนอร์ กาว น้ำหอม สี ฯลฯ ทำให้สารนี้มีโอกาสเข้าสู่ร่างกายจากสิ่งแวดล้อมการทำงานได้โดยง่าย ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงคือผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการใช้สารตัวทำละลายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนี้
- ผลิตภัณฑ์พลาสติก
- ผลิตรองเท้า เครื่องหนัง
- ผลิตสีและกาว
- งานขัด เคลือบเงา ตกแต่ง พ่นสี
- งานล้างคราบไขมัน
- งานพิมพ์
- ผลิตยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์
- ผลิตสารเคมี หรือห้องปฏิบัติการทางเคมี
ฯลฯ
โดยทั่วไปแล้ว สารตัวทำละลายสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง และมีผลต่อร่างกายดังนี้ คือ
1. การดูดซึมผ่านทางผิวหนัง ซึ่งการสัมผัสผิวหนังจะทำให้ผิวหนังแห้ง ระคายเคือง และเป็นโรคผิวหนังอักเสบ หากเข้าตา จะทำให้เยื่อบุตาอักเสบ ถ้าปริมาณมากอาจทำให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงได้ ทั้งนี้ สารตัวทำละลายเกือบทุกชนิดจะมีผลระคายเคืองต่อผิวหนัง เยื่อบุตา และทางเดินหายใจ
2. การหายใจ ทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ หายใจลำบาก มีเลือดซึมหรือน้ำคั่งในปอด กดระบบประสาทส่วนกลางและความจำเสื่อม
3. การกลืนกินโดยไม่ตั้งใจ เช่น อาหารที่มีการปนเปื้อน ซึ่งจะทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร และมีพิษต่อตับและไต
พิษของสารตัวทำละลายส่วนใหญ่จะมีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งทำให้มีอาการทั้งในลักษณะเฉียบพลัน เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ และอาการเรื้อรัง เช่น เกิดการเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลาง สารตัวทำละลายบางตัวมีผลต่อระบบเลือด ทำให้เกิดอาการซีด อ่อนเพลีย โลหิตจาง นอกจากนี้ มีรายงานยืนยันว่าบางชนิด เช่น เบนซีน ทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ด้วย
การป้องกันและควบคุม แบ่งออกได้เป็น 2 ด้านคือ
1. ด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
1.1 จัดเก็บสารตัวทำละลายในภาชนะที่เหมาะสม ซึ่งทนต่อสารนั้น เช่น แก้ว โลหะ หรือวัสดุสังเคราะห์อื่น ๆ โดยต้องมีฝาปิดด้วย
1.2 ควรเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิไม่สูงกว่าจุดติดไฟของสารนั้น โดยทั่วไปแล้วไม่ควรเกิน 31 องศาเซลเซียส
1.3 ไม่ควรเก็บสารตัวทำละลายต่างชนิดกันไว้ในที่เดียวกัน และไม่ควรเก็บในที่ที่มีสารเคมีชนิดอื่นเนื่องจากอาจทำปฏิกิริยาต่อกันได้
1.4 กระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับสารเหล่านี้ และ/หรือที่ที่มีการใช้สารเหล่านี้ ควรมีระบบระบายอากาศที่ดี
1.5 การขนย้าย และ/หรือถ่ายเทสาร ควรทำด้วยความระวังมิให้มีการหกรั่วไหล
1.6 สถานที่จัดเก็บและยานพาหนะที่ขนย้าย ควรมีสัญลักษณ์เตือนให้ระวังอันตราย
1.7 มีป้ายเตือนในบริเวณการทำงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ป้ายเตือนการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตราย ป้ายเตือนบริเวณจัดเก็บสาร เป็นต้น
1.8 มีการตรวจสิ่งแวดล้อมการทำงาน ประเมินระดับความเข้มข้นของสารในบรรยากาศการทำงานอย่างสม่ำเสมอ
2. ด้านผู้ปฏิบัติงาน
2.1 มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมสำหรับป้องกันสารตัวทำละลาย เช่น ถุงมือยางสังเคราะห์ แว่นครอบตากันสารเคมี หน้ากากป้องกันการหายใจชนิดมีตลับไส้กรองไอระเหยของสารเคมี เป็นต้น
2.2 มีการตรวจสุขภาพทั่วไปประจำปี
2.3 มีการตรวจวัดปริมาณสารเคมีเกี่ยวข้องกับสารตัวทำละลายในเลือดหรือปัสสาวะ ก่อนการเข้าทำงาน และระหว่างที่ทำงานเป็นประจำ อย่างน้อยปีละครั้ง
2.4 ควรมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพิษและอันตรายของสารตัวทำละลาย เช่น ตรวจความผิดปกติของปอด ตับ และไต ระบบประสาท เป็นต้น
2.5 มีการให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของสารตัวทำละลายและสารเคมีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวิธีการปฏิบัติงานและการป้องกันตนเองโดยทั่วไป การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล การปฐมพยาบาล และการควบคุมป้องกันด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงานแก่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง
ที่มา/ผู้ดำเนินการ : เอกสารเผยแพร่จัดทำโดยกองอาชีวอนามัย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข