สุขภาพอนามัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมี


808 ผู้ชม


สุขภาพอนามัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมี




ในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น มีโอกาสจะได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายตลอดเวลาจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งหากมีปริมาณมากพอ ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยได้ แต่การได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายที่อาจนำมาซึ่งปัญหาอย่างชัดเจนคือ การต้องปฏิบัติงานสัมผัสกับสารเคมีที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ดังนั้น จึงเป็นการจำเป็นที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนจะต้องทราบและเรียนรู้ถึงอันตรายของสารเคมีในสถานที่ทำงาน รวมถึงวิธีการป้องกัน และปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้สามารถทำงานกับสารเคมีด้วยความปลอดภัย
สารเคมีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีประมาณไม่น้อยกว่า 300,000 ชนิด แต่ละวันจะมีสารเคมีชนิดใหม่ที่มีการพัฒนาขึ้นและนำออกมาประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรม สารเคมีเหล่านี้จะมีศักยภาพเชิงอันตรายที่แตกต่างกันออกไป ถ้าหากผู้ปฏิบัติงานไม่ทราบถึงอันตราย วิธีการทำงานที่ถูกต้อง และมาตรการป้องกันที่เหมาะสม ก็ย่อมจะก่อให้เกิดผลกระทบหรืออันตรายที่รุนแรงขึ้นได้
การได้รับอันตรายจากการทำงานในสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี จะเกิดจากการหายใจเอาสารเคมีที่อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ไอ (Vapors) ก๊าซ (Gases) ฝุ่น ฟูม ละออง ฯลฯ เข้าไป หรืออาจเกิดจากการสัมผัสสารเคมีทางผิวหนัง หรือจากการกินเข้าไปโดยไม่ตั้งใจ ทั้งนี้ สารเคมีส่วนใหญ่เข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ เมื่อสารเคมีผ่านเข้าไปในปอดแล้ว ก็จะสะสม ก่อให้เกิดการระคายเคือง และอันตรายที่รุนแรงได้ สารเคมีจะผ่านเข้าสู่กระแสโลหิต ไหล
เวียนสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้โลหิตเป็นพิษ สารเคมีบางชนิดชอบสะสมอยู่ในตับไต กระดูก กล้ามเนื้อ หรือสมอง ในที่สุด อวัยวะส่วนที่สารเคมีเข้าไปสะสมอยู่ ก็จะถูกสารเคมีทำลาย ทำให้เกิดอาการแพ้พิษ และเป็นโรคซึ่งเกิดจากการทำงานหรือโรคอันเนื่องจากการประกอบอาชีพได้
การเกิดผลกระทบต่อร่างกายจากการทำงานสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นอันตรายในสิ่งแวดล้อมการทำงาน อาจแบ่งตามรูปแบบการเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ดังนี้
1) ผลเฉพาะแห่ง
สารเคมีที่เป็นพิษส่วนใหญ่จะมีผลทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังหรือเนื้อเยื่อบริเวณที่สัมผัสถูกสารเคมี เยื่อบุตา เยื่อบุทางเดินหายใจ จมูกและปาก ผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น ผิวหนังอักเสบหรือไหม้เนื่องจากถูกกรดหรืดด่าง การเป็นสิว (Acne) เนื่องจากการอุดตันของสารกลุ่มน้ำมันพาราฟินหรือฝุ่น การมีแผลลึกคล้ายเนื้อตายที่บริเวณขนและเท้า และช่องเพดานจมูกโหว่ทะลุ เนื่องจากทำงานสัมผัสกับสารประกอบโครเมี่ยม เป็นต้น
2) ผลทั่ว ๆ ไปต่อร่างกาย
สารเคมีที่ถูกหายใจเข้าไปจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และจะไปสะสมที่ปอด ตับ ไต และสมอง อวัยวะที่สารเคมีไปสะสมอยู่อาจถูกทำลายหรือทำให้เสียหน้าที่ปกติไป ผลของการที่สารเคมีเดินทางไปสะสมยังอวัยวะต่าง ๆ นั้น อาการแพ้พิษสารเคมีอาจเกิดอย่างเฉียบพลัน หรือเกิดอย่างเรื้อรัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณสารเคมีและเวลาที่สารเคมีเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกาย
การดูแล เฝ้าระวังทางสุขภาพ กระทำได้โดยจัดให้มีการตรวจสุขภาพคนงานเป็นระยะ ๆ และสม่ำเสมอ ซึ่งแบ่งออกเป็น
- การตรวจร่างกายก่อนเข้าทำงาน เพื่อที่จะคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานให้เหมาะสมงานที่จะต้องปฏิบัติ และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนงานนั้น ๆ ทั้งนี้ ยังเป็นการเก็บรายงานสุขภาพเบื้องต้นของคนงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนายจ้างในโอกาสต่อไป
- การตรวจร่างกายหลังจากเข้าปฏิบัติงานแล้ว การตรวจประเภทนี้จะต้องปฏิบัติกันโดยสม่ำเสมอ เพื่อที่จะค้นหาอาการผิดปกติที่เกิดจากการปฏิบัติงานแต่แรกเริ่ม เพื่อที่จะได้ควบคุมป้องกันได้ทันท่วงที ไม่ให้โรคนั้นลุกลามต่อไปอีก
- การตรวจร่างกายคนงานกลุ่มพิเศษ เช่น ผู้เยาว์ ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้องตรวจเป็นพิเศษ เพราะบุคคลกลุ่มเหล่านี้ถ้าหากเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิษเป็นภัยแล้วจะมีโอกาสเกิดโรคได้ง่ายกว่าบุคคลทั่ว ๆ ไป
- การตรวจร่างกายในกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับสารเคมี ซึ่งคนงานกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่ออันตราย ควรต้องได้รับการตรวจร่างกายเป็นพิเศษตามลักษณะงานของงานที่ปฏิบัติ และอาจจะต้องตรวจบ่อยกว่าบุคคลอื่น ๆ
- การตรวจร่างกายหลังจากฟื้นจากความเจ็บป่วย ก่อนที่เข้าปฏิบัติงานเดิมหรืองานใหม่ เพื่อดูความเหมาะสมว่าจะปฏิบัติงานได้มากน้อยเพียงใด

ที่มา/ผู้ดำเนินการ :  เอกสารประกอบการอบรมหัวข้ออาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (Wisanti L.)

อัพเดทล่าสุด