โรคปอดจากการทำงาน (Occupational Lung Diseases)
โรคปอดจากการทำงานทำงาน เกิดจากการสูดหายใจเอาฝุ่นละออง เส้นใย ควัน หรือสารพิษจากสภาพแวดล้อมในการทำงานเข้าสู่ปอด สารเหล่านี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือเป็นพิษในทางเดินหายใจ ในบางรายอาจมีอาการปอดอักเสบหรือพังผืดเกิดขึ้นในปอด หรือบางรายอาจมีอาการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกัน (Allergic response) ทำให้เกิดอาการหอบหืด เช่น โรคหอบหืดจากการทำงาน เป็นต้น โรคหรือภาวะดังกล่าวข้างต้น รวมเรียกว่า “โรคปอดจากการทำงาน”
นิวโมโคนิโอสิส (Pneumoconioses) เป็นชื่อรวมของโรคปอดจากการทำงานที่เกิดจากการสูดหายใจเอาฝุ่นละอองของสารอนินทรีย์หรือฝุ่นแร่ที่ทำให้ปอดอักเสบและมีพังผืดเกิดขึ้น นิวโมโคนิโอสิสที่เกิดจากถ่านหินมีชื่อเรียกว่า Coal Worker’s Pneumoconioses ส่วนนิวโมโคนิโอสิสที่เกิดจากการหายใจเอาฝุ่นทราย (Silica) เรียกว่า ซิลิโคสิส (Silicosis) และถ้าเกิดจากการหายใจเอาเส้นใยหินหรือแอสเบสตอส จะเรียกว่า แอสเบสโตสิส (Asbestosis)
โรคปอดจากการทำงานอาจจำแนกออกจากกันตามสาเหตุได้ดังนี้
1. โรคปอดจากการทำงานที่เกิดจากฝุ่นละอองสารอนินทรีย์หรือฝุ่นแร่ พยาธิสภาพในปอดอาจเกิดขึ้นน้อย ตัวอย่างเช่น ฝุ่นละอองที่เฉื่อยหรือไม่ก่อปฏิกิริยา ได้แก่ เหล็ก แบเรียม พลวง และดีบุก ส่วนที่ทำให้เกิดผลกระทบในขนาดปานกลาง ได้แก่ ถ่านหิน kaolin ดิน diatomaceous ที่ใช้ทำเซรามิค สำหรับฝุ่นที่ทำให้เกิดพยาธิสภาพหรืออันตรายอย่างรุนแรง ได้แก่ ฝุ่นซิลิกา และแอสเบสตอส
2. โรคปอดจากการทำงานที่เกิดจากฝุ่นละอองสารอินทรีย์ เช่น โรคปอดชาวนา (Farmer’s Lung) ที่เกิดจากการหายใจเอาฝุ่นละอองฟางข้าวที่ขึ้นรา (Mouldy Hay) และบิสสิโนสิส เป็นต้น
3. โรคหอบหืดจากการทำงาน (Occupational Asthma)
4. โรคปอดจากการทำงานที่เกิดจากก๊าซและควันพิษบางชนิด
5. มะเร็งปอด (Lung Cancer) และมะเร็งเยื่อหุ้มปอด (Mesothelioma)
เมื่อปอดทำหน้าที่ผิดปกติ จะทราบได้จากการที่ความสามารถในการจุอากาศของปอดลดลง ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจ เกิดการระคายเคืองหรือแพ้สารเคมี การสะสมของฝุ่นละออง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งทำให้เนื้อเยื่อปอดและทางเดินหายใจเปลี่ยนแปลงไป เช่น หลอดลมเล็กตีบหรืออุดตัน อากาศจึงผ่านเข้าออกไม่สะดวก ความยืดหยุ่นตัวของปอดเสียไปเนื่องจากเนื้อเยื่อเกิดเป็นพังผืด หรือยืดตัวมากเกินไปจึงเสียคุณสมบัติ อย่างไรก็ตามความผิดปกติเหล่านี้ในบางกรณีก็สามารถรักษาให้หายหรืออาการทุเลาลงได้ หากทำการรักษาในระยะเริ่มต้น แต่ในบางกรณีที่มีลักษณะอาการรุนแรงแล้ว ไม่อาจที่จะรักษาให้กลับสู่สภาพปกติดังเดิมได้
การป้องกันโรคปอดที่เกิดเนื่องจากการทำงาน ทำได้โดยการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีปริมาณฝุ่นละอองสารในบรรยากาศให้มีค่าไม่เกินมาตรฐานความปลอดภัย และในขณะเดียวกันผู้ปฏิบัติงานก็ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายต่อระบบหายใจให้ถูกชนิดกับฝุ่นละอองสารที่ทำงานเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ จะต้องมีการตรวจสุขภาพโดยมีการทดสอบสมรรถภาพการทำงานของปอดอย่างน้อยปีละครั้ง