โรคปอดฝุ่นฝ้ายหรือบิสสิโนสิส (Byssinosis)
โรคปอดฝุ่นฝ้าย (Byssinosis) เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังชนิดหนึ่ง เกิดจากการหายใจเอาฝุ้นฝ้าย ป่าน ปอ และลินิน เข้าไปในปอดเป็นระยะเวลานาน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนงานทอฝ้า ปั่น สางฝ้าย โดยอาการเริ่มแรกของโรคจะมีอาการไอเพียงเล็กน้อย ต่อมาอาการไอจะมากขึ้นพร้อมทั้งมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก และจะสังเกตุได้ว่าอาการเหล่านี้มักเริ่มต้นในทุกวันจันทร์หรือวันแรกของการทำงานตามปกติเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้จะหายไปเอง โดยในระยะที่มีอาการเริ่มแรกนี้ จะสามารถหายจากอาการโรคได้หากไม่ต้องมาทำงานเกี่ยวข้องกับฝุ่นฝ้ายอีก แต่ถ้ายังคงทำงานนี้ต่อไป อาการไม่สบายจะเพิ่มระยะเวลานานวันขึ้นโดยจะมีอาการหลอดลมอักเสบ หอบ ทำให้ต้องขาดงานบ่อย ๆ ซึ่งระยะนี้ถ้าหลีกเลี่ยงการทำงานกับฝุ่นฝ้าย สุขภาพของคนงานสามารถฟื้นตัวได้ ถ้าคนงานยังคงทำงานต่อไป จะทำให้มีอาการของโรคที่ถาวร คือ มีอาการแน่นหน้าอก หายใจติดขัด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง มีเสมหะเป็นหนอง จนผู้ป่วยไม่สามารถกลับมาทำงานได้
นอกจากนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคปอดฝุ่นฝ้าย จะมีความไวในการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจมากกว่าผู้ที่มีระบบทางเดินหายใจปกติ และเมื่อติดเชื้อแล้ว ก็จะหายจากโรคนั้น ๆ ได้ยาก ใช้เวลานานในการรักษา และเมื่อหายแล้ว ก็มีโอกาสเกิดโรคนั้นซ้ำอีกได้ง่าย มีลักษณะการป่วยที่เรื้อรัง ผู้ป่วยจะยังได้รับผลกระทบสืบเนื่อง โดยเกิดอาการผิดปกติของอวัยวะอื่น ๆ ได้
การวินิจฉัยผู้ป่วยด้วยโรคปอดฝุ่นฝ้าย จะไม่สามารถทำได้โดยใช้ฟิลม์เอกซเรย์ เนื่องจากผู้ป่วยด้วยโรคนี้มีอาการขั้นสุดท้ายคือ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หอบ ถุงลมโป่งพอง ทำให้ผลการเอกซเรย์ปอดเหมือนกับคนเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคถุงลมโป่งพองเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ไม่เกี่ยวข้องกับฝุ่นฝ้าย ดังนั้น การวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยจึงต้องพิจารณาองค์ประกอบคือ
- มีประวัติการทำงานเกี่ยวข้องกับฝุ่นฝ้าย
- มีอาการเริ่มต้นด้วยไข้วันจันทร์ ซึ่งจะมีอาการทรุดลงเรื่อย ๆ
- ผลการทดสอบสมรรถภาพการทำงานของปอด พบว่าความสามารถในการจุอากาศของปอดลดลง โดยเฉพาะในระยะเริ่มเป็นโรค การเสื่อมสมรรถภาพการทำงานของปอดจะปรากฏแบบชั่วคราวในวันจันทร์
ในด้านการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อมการทำงาน กฎหมายแรงงานได้กำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัยของฝุ่นฝ้ายในบรรยากาศการทำงานของสถานที่ทำงานตลอดระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างตามปกติมีฝุ่นฝ้ายได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนค่ามาตรฐานความปลอดภัยที่แนะนำโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ACGIH ได้กำหนดค่า TLV สำหรับตลอดระยะเวลาการทำงานตามปกติของลูกจ้าง ไม่ให้มีปริมาณฝุ่นฝ้ายเกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร
การควบคุมปริมาณฝุ่นฝ้ายในบรรยากาศการทำงานให้มีปริมาณไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย จะช่วยให้คนงานไม่ต้องเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดฝุ่นฝ้าย ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
- ติดตั้งระบบระบายอากาศเฉพาะที่ในบริเวณแหล่งกำเนิดฝุ่นต่าง ๆ
- จัดทำที่ปิดครอบเครื่องสางฝ้ายเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น
- ควบคุมความเร็วของเครื่องจักร เครื่องเป่าลม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มปริมาณการกระจายตัวของฝุ่น
- จัดความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในโรงงาน และหมั่นทำความสะอาดบริเวณสถานที่ททำงาน
ในส่วนของตัวคนงาน ต้องให้มีการสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นฝ้าย และจัดให้มีการตรวจสุขภาพเมื่อรับเข้าทำงานและตรวจประจำปี เพื่อค้นหาความผิดปกติ โดยในการรับคนเข้าทำงาน ให้พิจารณาเลือกบุคคลที่ไม่มีประวัติเป็นโรคหอบ หืด หลอดลมอักเสบ ต่อมทอนซิลโต หรือมีความพิการของโครงสร้างของระบบหายใจ เช่น ผนังกั้นจมูกทะลุ ดั้งจมูกยุบ เป็นต้น ในการตรวจสุขภาพคนงานควรบันทึกสอบถามเกี่ยวกับอาการของโรคปอดฝุ่นฝ้ายและอาการทั่วไปของโรคปอดเรื้อรัง ทำการทดสอบสมรรถภาพของปอดเป็นระยะ ๆ โดยการทดสอบนี้ควรทำในวันแรกหลังจากวันหยุดงาน และทำการเอกซเรย์ปอดเพื่อวินิจฉัยโรคอื่น ๆ เช่นวัณโรค เป็นต้น
ที่มา/ผู้ดำเนินการ : เอกสารความปลอดภัย สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน