สร้างนิสัยความปลอดภัยในที่ทำงาน


1,078 ผู้ชม


สร้างนิสัยความปลอดภัยในที่ทำงาน




ถึงวันนี้ ยังปรากฏว่ามีความเชื่อ (ความเข้าใจ) กันผิด ๆ อยู่อีกพอสมควรในแวดวงของนักบริหารโรงงาน และผู้จัดการธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อยู่อย่างหนึ่ง
       
       คือ เชื่อกันว่า "ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่เพิ่มค่าใช้จ่ายให้แก่กิจการ"
       
       เมื่อคิดกันเช่นนี้ การสร้างเสริมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในโรงงานหรือในสถานประกอบการต่าง ๆ จึงเป็นปัญหา และดูจะเป็นปัญหาหนักยิ่งขึ้นในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้
       
       เมื่อคิดกันว่า การสร้างเสริมความปลอดภัย เป็นเรื่องที่ทำให้โรงงานต้องใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น หรือทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งทำให้ต้องตั้งราคาขายของสินค้าสูงขึ้น ของก็จะขายยากขึ้นจนอาจจะสู้คู่แข่งขัน (ที่ไม่สนในความปลอดภัย) ไม่ได้
       
       ธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกิจการ SMEs ที่ใช้จ่ายเพื่อ "ความปลอดภัย" ในรูปแบบต่าง ๆ ก็อยู่รอดยากขึ้น
       
       ดังนั้น กิจการส่วนใหญ่จึงต้องหลีกเลี่ยงหรือหนีห่างค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการสร้างความปลอดภัยในที่ทำงานให้มากที่สุด เพื่อจะให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ๆ
       
       แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความปลอดภัยไม่ใช่เรื่องที่ต้องเสีย "ค่าใช้จ่าย" เสมอไป
       
       ผมยืนยันได้ว่า ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่เราสามารถได้มาโดยไม่ต้องเสียเงิน (ได้มาฟรี) ก็ได้
       
       เรื่องนี้เพียงแต่เราต้องเปลี่ยนมุมมองเปลี่ยนความเชื่อความเข้าใจของเราเสียใหม่ คือ แทนที่จะคิดจะมองว่า "ความปลอดภัยเป็นเรื่องของต้นทุนค่าใช้จ่าย" แต่เราจะต้องมองว่า "ความปลอดภัยเป็นการลงทุน" คือ ต้องมองต้องคิดถึงความปลอดภัยในเชิงรุก (Proactive Measures) หรือเชิงป้องกันล่วงหน้า (Preventive Measures)
       
       การป้องกันล่วงหน้านั้น เราสามารถทำได้ด้วยการออกแบบให้ความปลอดภัยเป็นชิ้นส่วนในตัวหรือเป็นส่วนประกอบแบบ Built-in ของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์นั้น ๆ เลย (ไม่ใช่ต้องติดตั้งเพิ่มเติม) เพื่อปิดกั้นโอกาสที่จะทำให้ผู้ใช้หรือผู้ปฏิบัติงานเกิดการบาดเจ็บ
       
       พิการ คือ ไม่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเกิดความสูญเสียหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ (ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ เช่น ประมาท หรือพลั้งเผลอ เป็นต้น) ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจากอุบัติเหตุและทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงด้วย
       
       มุมมองใหม่นี้ จะทำให้เราเชื่อว่า "ความปลอดภัยจะลดความสูญเสียได้"
       
       หากไม่เชื่อ ก็ลองคิดถึงอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นดูก็ได้ว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง กิจการนั้น ๆ ต้องสูญเสีย (เสียค่าใช้จ่าย) มากน้อยเพียงใด ยิ่งมีผู้เสียชีวิตด้วยแล้ว ยิ่งประเมินค่าไม่ได้เลย
       
       อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญยิ่งเช่นกัน ก็คือ การฝึกอบรมสอนงานเพื่อให้พนักงานผู้ปฏิบัติงานในโรงงานมี "จิตสำนึกแห่งความปลอดภัย" (Safety Mind) คือ การปลูกฝังและสร้างเสริมให้ความปลอดภัยเป็นส่วนหนึ่งของทัศนคติจนกลายเป็นนิสัยติดตัวของพนักงานในการทำงาน พนักงานก็จะปฏิบัติงานอย่างปลอดภัยได้
       
       เพราะในทางปฏิบัติแล้ว แม้ว่าเราจะมีเครื่องจักรและระบบการผลิตที่ปลอดภัย แต่ถ้าพนักงานยังคงทำงานอย่างไม่ปลอดภัย เพราะไม่มีจิตสำนึกแห่งความปลอดภัยที่ถูกต้องหรือมีน้อย โอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บพิการจนเกิดความสูญเสียต่าง ๆ ก็ยังคงมีอยู่
       
       การทำให้ความปลอดภัยกลมกลืนอยู่ใน "วิธีทำงาน" จึงขึ้นอยู่กับการตอกย้ำพร่ำสอนของหัวหน้างานและผู้บริหารในลักษณะที่ปลูกฝังหรือสร้างเสริม "นิสัยแห่งความปลอดภัย" ให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับการสอนให้พนักงานทำงานเป็น
       
       การทำงานได้ ทำงานเป็น ทำถูกวิธี และทำอย่างปลอดภัย จึงมีความสำคัญยิ่งต่อทุกธุรกิจอุตสาหกรรม
       
       เรื่องที่ต้องทำให้เครื่องจักรหรือสภาพแวดล้อมปลอดภัย จึงต้องดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาพนักงานให้มีจิตสำนึกแห่งความปลอดภัยด้วย
       
       หากเป็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็เท่ากับยืนยันได้ว่า "ความปลอดภัยสามารถได้มาโดยไม่ต้องลงทุน" หรือได้มาฟรีก็ว่าได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความอดทนและต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล
       
       ดังนั้น ความปลอดภัยจึงไม่ใช่เรื่องของ "กำไรขาดทุน แต่เป็นเรื่องของ "ชีวิตคน" ที่มีค่ายิ่งสำหรับเราทุกคนและทุกครอบครัว
       
       ทุกวันนี้ จึงถึงเวลาที่ Smart SMEs จะต้องปรับมุมมองในเรื่องของความปลอดภัยกันใหม่เพื่อจะได้ลดความสูญเสียต่าง ๆ พร้อม ๆ กับการพัฒนาและยกระดับ "คุณภาพชีวิต" ของเราทุกคนให้ดีขึ้น ครับผม !

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์

อัพเดทล่าสุด