หลักความปลอดภัยในการทำงาน (ทั่วไป)


1,118 ผู้ชม


หลักความปลอดภัยในการทำงาน (ทั่วไป)




การพัฒนาทัศนคติและพฤติกรรมในการทำงานด้วยความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในการประกอบอาชีพ ความปลอดภัยจึงนับได้ว่าเป็นหัวใจของการทำงาน ผู้ที่ปฏิบัติงานได้ดีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยอยู่เสมอ
จากการสำรวจพบว่าผู้ที่ได้รับอันตรายจากการทำงานส่วนใหญ่มักขาดความเอาใจใส่ในเรื่องความปลอดภัย จึงก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตของตนเอง เพื่อนร่วมงานและทรัพย์สิน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจ และปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยโดยเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากอันตรายหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ
- การประสบอันตราย เป็นการที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง หรือการป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่นายจ้าง
- อุบัติเหตุจากการทำงาน หมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิด และมิได้มีการควบคุมไว้ก่อนในที่ทำงาน ซึ่งมีผลให้คนงานเกิดการบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต ตลอดจนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย
สาเหตุของอุบัติเหตุจากการทำงาน
H.W. Heinrich ได้ศึกษาวิจัยว่าสาเหตุของอุบัติเหตุจากการทำงาน สรุปได้ดังนี้
1. จากการกระทำที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Acts) คิดเป็น 85 % ของการเกิดอุบัติเหตุ
2. จากสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Conditions) คิดเป็น 15 % ของการเกิดอุบัติเหตุ
อุบัติเหตุจากการทำงานเป็นเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด อันเป็นผลมาจากการกระทำและ/หรือสภาพที่ไม่ปลอดภัยดังในข้างต้น ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับองค์ประกอบโดยทั่วไปอื่น ๆ ดังนี้
1. ขาดความรู้เกี่ยวกับสภาพอันตราย วิธีการทำงานที่ปลอดภัย หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
มักเกิดกับบุคคลที่เข้าทำงานใหม่ ๆ หรือเข้าทำงานกับเครื่องมือ เครื่องจักร โดยที่ยังไม่มีความคุ้นเคยหรือเข้าใจระบบการทำงาน จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ
- การฝึกอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานยังไม่ดีพอ
- กฎ ระเบียบ แนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยไม่มีผลบังคับใช้อย่างเคร่งครัด
- ไม่ได้วางแผนงานความปลอดภัยไว้เป็นส่วนหนึ่งของงาน
- จุดอันตรายต่าง ๆ ไม่ได้ทำการแก้ไข
- ไม่ได้มีการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม
- ไม่ได้ตระหนักในเรื่องความปลอดภัย
2. ทัศนคติ จิตสำนึก หรือความประมาท
- เกิดจากมีความเชื่อมั่นมากเกินไปเนื่องจากทำงานมานาน
- การละเลยไม่เอาใจใส่หรือมีทัศนคติผิด ๆในเรื่องความปลอดภัย
- อุปกรณ์ป้องกันอันตราย เช่น Safety Guard มีการจัดไว้ให้ แต่ไม่ใช้หรือถอดออก
- ใช้เครื่องมือเครื่องใช้ไม่ถูกต้องกับลักษณะของงานที่ทำ ถึงแม้ว่าจะมีเครื่องมือที่ถูกต้องให้เลือกใช้ได้เหมาะสมก็ตาม
- ใช้วิธีการทำงานที่ไม่ถูกต้อง ลัดขั้นตอน จนทำให้เกิดอันตราย
- พฤติกรรม ท่าทาง การเคลื่อนไหวของร่างกายที่ทำให้เกิดอันตราย เช่น การเดิน การวิ่ง การกระโดด การก้าว การปีนป่าย การหยอกล้อ หรือล้อเล่นในระหว่างการทำงาน ฯลฯ
3. สภาวะร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน
- เมื่อยล้า เนื่องจากทำงานตลอดเวลาโดยไม่มีการหยุดพัก
- อ่อนเพลีย เนื่องจากขาดการพักผ่อนแล้วเข้าทำงานหนัก
- มีปัญหาด้านสมรรถภาพการได้ยิน
- มีปัญหาด้านสมรรถภาพการมองเห็น
- มีปัญหาเป็นโรคหัวใจ
- มีสภาพหรือขนาดร่างกายไม่เหมาะกับงาน
4. สภาวะจิตใจของบุคคล
- ขาดความความตั้งใจในการทำงาน
- ขาดความสามารถในการควบคุมอารมณ์ขณะทำงาน
- ตื่นเต้นง่าย ขวัญอ่อน ตกใจง่าย
5. อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักร มีข้อบกพร่องอาจเนื่องจากสาเหตุ เช่น
- ใช้เครื่องมือไม่ถูกขนาด
- ใช้เครื่องมือที่สึกหรอชำรุด ทื่อ หัก
- ใช้เครื่องมือที่ปราศจากด้ามหรือที่จับที่เหมาะสม
- ไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายตามสภาพงาน
- จับตั้งชิ้นงานไม่ได้ขนาด และไม่มั่นคง
- ละเลยต่อการบำรุงรักษา เช่น น้ำมันหล่อลื่นไม่เพียงพอ
6. สภาพของบริเวณปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัย เช่น
- แสงสว่างไม่เพียงพอ
- เสียงดังมากเกินไป
- การระบายอากาศที่ไม่เหมาะสม
- ความสกปรกของพื้นที่ พื้นที่ลื่น
- บริเวณที่คับแคบ
- มีสารเคมี และเชื้อเพลิงในบริเวณการทำงาน
- การจัดวางสิ่งของ ทำให้วัตถุกีดขวาง
การสูญเสียเนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุ
การที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นแต่ละครั้งย่อมหมายถึงการสูญเสียเกิดขึ้นทุกครั้ง ได้แก่ การสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซ่อมแซมเครื่องจักร สูญเสียเวลาปฏิบัติงาน ผลผลิตในภาพรวม เป็นต้น
1.การสูญเสียโดยตรง
- ได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือตาย และอาจทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายด้วย
- ทำให้อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร ตลอดจนทรัพย์สินอื่น ๆ ชำรุดเสียหาย
- การสูญเสียที่คิดเป็นเงินที่นายจ้างหรือรัฐบาลต้องจ่ายโดยตรง ให้แก่ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินทดแทนที่ต้องจ่ายโดยรัฐหรือโรงงาน ค่าทำขวัญ ฯลฯ
2. การสูญเสียโดยทางอ้อม คือ การสูญเสียซึ่งมักจะคิดไม่ถึง หรือไม่ค่อยได้คิดว่าเป็นการสูญเสียเป็นลักษณะการสูญเสียที่แฝงอยู่ไม่ปรากฏเด่นชัด เช่น
- สูญเสียแรงงานของลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บ จะต้องใช้เวลาพักฟื้นจนกว่าจะหาย
- สูญเสียเวลาของลูกจ้างคนอื่น ๆ ซึ่งหยุดทำงานในขณะเกิดอุบัติเหตุ เช่น เนื่องจากความอยากรู้อยากเห็นเข้าไปมุงดู ซักถามเหตุการณ์ด้วยความเห็นใจลูกจ้างผู้บาดเจ็บ ตื่นเต้น หรือช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในการทำปฐมพยาบาลหรือนำส่งโรงพยาบาล
- สูญเสียเวลาของแพทย์หรือพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ในการปฐมพยาบาล
- ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเครื่องจักรกล เครื่องมือ
- ทำให้ปริมาณผลผลิตขาดหายไป ผลิตให้ผู้ใช้ไม่ทันเวลา
- สูญเสียผลกำไรส่วนหนึ่งไป เนื่องจากลูกจ้างบาดเจ็บและเครื่องจักรหยุดทำงาน
- ทำให้คนงานขวัญเสีย เกิดความกลัว ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

ที่มา/ผู้ดำเนินการ :  เอกสารประกอบการบรรยายหัวข้อความปลอดภัยในการทำงาน (Wisanti L.)

อัพเดทล่าสุด