ประยุกต์ใช้ มอก.18000 , SA 8000 และกฎหมายความปลอดภัย


1,103 ผู้ชม


ประยุกต์ใช้ มอก.18000 , SA 8000 และกฎหมายความปลอดภัย




จากสถานการณ์ความไม่ปลอดภัย ในการทำงานที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน ได้ออกกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้ เพื่อมุ่งหวังให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุและความไม่ปลอดภัยในการทำงานลดดลง ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้มีการกำหนดมาตรฐาน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัตเหตุในการทำงาน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดียิ่งขึ้น

ไทยมีกฎหมายความปลอดภัยทั้งสิ้น 17 ฉบับ

          มานพ ชาญธวัชชัย นักวิชาการแรงงาน 8 ว. กองตรวจความปลอดภัย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "ก้าวไปสู่สถานประกอบการดีเด่นกับการประยุกต์ใช้กฎหมายความปลอดภัย มอก.18000 และ SA 8000" ซึ่งจัดทำโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครอง
แรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมว่า กฎหมายเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ที่กระทรวง
แรงงานและสวัสดิการสังคมดูแลอยู่ในขณะนี้ เดิมทีเป็นประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 ซึ่งออกข้อกำหนด
เกี่ยวกับมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ทำงานเกิดความปลอดภัย และป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยในการทำงาน ซึ่งบางครั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมาก

          ทั้งนี้ กฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของความปลอดภัยมีทั้งสิ้น 17 ฉบับ เป็นกฎหมายที่ได้กำหนด
มาตรฐานความปลอดภัยกว่า 10 เรื่อง ใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการให้เกิดความปลอดภัยกับสถานประกอบการ โดยกฎหมายนี้ เป็นกฎหมายขั้นต่ำที่กำหนดให้ปฏิบัติตามภายหลังเมื่อมีกฎหมายหลายฉบับ
มากขึ้น ทำให้กฎหมายเปลี่ยนเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่กำหนดให้มีผู้ดูแลเรื่องความผิดและ
บทลงโทษต่าง ๆ รวมทั้งรายละเอียดทางด้านความปลอดภัยที่อยู่ในกระทรวง เรื่องความปลอดภัย
ในการทำงาน ซึ่งขณะนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำลังดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้อยู่

ปรับปรุงกฎหมาย จป. ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

          ปัจจุบันความปลอดภัยในการทำงานนับเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่สร้างขวัญและกำลังใจให้กับ
คนทำงานในทุกสาขาอาชีพซึ่งส่งผลกระทบถึงผลผลิตของงานที่จะเกิดขึ้น แต่ปรากฎว่าสถานการณ์ปัจจุบัน
ของความไม่ปลอดภัยในการทำงานมีความรุนแรงขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายหรือสูญเสียมากขึ้น จึงต้องมี
การปรับปรุงในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและระงับเหตุให้มากขึ้น โดยผลักดันให้กฎหมายเรื่องเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) รวมกับกฎหมายคณะกรรมการความปลอดภัยและสวัสดิภาพแรงงาน เนื่องจากพบว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทั้งระดับพื้นฐาน ระดับวิชาชีพ จนถึงระดับผู้บริหารหรือหัวหน้าความปลอดภัยจะต้องปรับปรุง
และแก้ไขเพื่อเหมาะสม โดยกำหนดผู้แทนที่ให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทำงานได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด รวมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่อีกหลายตำแหน่ง เพื่อจัดระบบงานให้สามารถ
ดำเนินการป้องกันและระงับเหตุต่าง ๆ รวมถึงการประเมินภัยต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยจะต้องสามารถปฏิบัติได้ ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวกำลังดำเนินการอยู่

จัดประกวดสถานประกอบการดีเด่น...ปลูกจิตสำนึกความปลอดภัย

           มานพ ชาญธวัชชัย กล่าวเพิ่มเติมว่าในส่วนของกองตรวจความปลอดภัยเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน โดยมุ่งเน้นวิธีการปฏิบัติที่จะสามารถลดปริมาณการเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย และป้องกันการเกิดเหตุให้มากที่สุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมายที่จะต้องดำเนินการแก้ไขและส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์
และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น จึงได้จัดการประกวดสถานประกอบการดีเด่น โดยสถานประกอบการต่าง ๆ ที่สนใจจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐานหรือข้อกำหนดต่าง ๆ ที่คณะกรรมการกำหนดขึ้น

สรอ. รับรอง มอก. 18000 ได้แห่งเดียวในไทย

           สุชาติ จันทร์วิเมลือง บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หรือ มอก. 18000 ว่าเป็นมาตรฐานที่จะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ มีการพัฒนาระบบการจัดการ ลดปริมาณและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ โดยขณะนี้มีองค์กรที่ดำเนินการขอรับรอง มอก. 18000 ประมาณ 100 องค์กร ซึ่งบางส่วนที่ได้รับรองจากสถาบันรับรองมาตรฐาน ISO หรือ สรอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวทีสามารถให้ใบรับรอง มอก. 18000 ได้ เนื่องจาก มอก. 18000 เป็นมาตรฐานที่มีเฉพาะในประเทศไทย

ข้อกำหนดของ มอก. 18000

             ข้อกำหนดของ มอก. 18000 มีแนวทางมาจาก ISO 9000, ISO 14000 ทำให้ข้อกำหนดคล้ายคลึงกัน และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับองค์กรทุกขนาด และทุกสาขาอาชีพ โดยข้อกำหนดของ มอก. 18000 จะมีเรื่อง
ของการควบคุมสถานะเบื้องต้น เพื่อทบทวนประสิทธิภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กร การพิจารณาองค์กรที่ยังไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ครบถ้วน เรื่องนโยบายอาชีวอนามัยเพื่อความปลอดภัยที่องค์กรจะต้องกำหนดนโยบายขึ้นมาให้เหมาะสมกับธุรกิจ

            ข้อกำหนดของ มอก.18000 รวมถึงข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการวางแผน ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักส่วนหนึ่งในระบบการจัดการที่จะต้องพิจารณาถึงการประเมินความเสี่ยงในทุกกิจกรรม กฎหมายที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการกำหนดวิธีการที่จะชี้บ่ง ติดตาม สืบค้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างต่อเนื่องและในแผนการประเมินความเสี่ยงที่มีความเสี่ยงตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไปควรจะนำมาวางแผนการจัดการเพื่อควบคุมความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

          นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรม เพื่อให้เกิดความรู้ ความสามารถ รวมถึงการสื่อสารที่ต้องมีกระบวนการและควบคุมเรื่องเอกสาร เพื่อให้เอกสารมีความทันสมัยเพียงพอต่อการใช้งาน มีข้อกำหนดในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้าง ให้มีกระบวนการควบคุมโดยกำหนดคุณสมบัติเงื่อนไขและข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย ซึ่งเป็นกระบวน
การพิเศษที่เพิ่มขึ้นมา และภายในข้อกำหนดจะมีการควบคุมการปฏิบัติ ซึ่งรวมถึงวัตถุดิบ และ Working System
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องมีระบบในองค์กร

          ปัจจุบันนี้กฎหมายได้บังคับให้มีแผนฉุกเฉิน ที่เน้นเรื่องของกระบวนการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถใช้ได้ในภาวะฉุกเฉิน โดยทำการตรวจสอบหรือทดสอบว่าใช้งานได้จริง เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และต้องมีการเตือนอันตราย โดยติดตั้งป้ายเตือนกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ซึ่งต้องทำด้วยวัสดุที่ได้มาตรฐานและยึดถือเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งการตรวจสอบและแก้ไขข้อบกพร่องที่มาจากระบบและบันทึกระบบการจัดการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย หรือระบบการจัดการที่สำคัญ คือ มีกระบวนการในการรวบรวมระบบที่ดำเนินการผ่านมา ทั้งตัวผู้บริหารและองค์กรด้วย

มอก. 18000 ให้อะไรแก่ผู้ประกอบการ ???

          สุชาติ จันทร์วิเมลือง กล่าวถึงประโยชน์ของ มอก. 18000 ว่า เป็นมาตรฐานที่ช่วยรักษาและป้องกันชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุหรืออุบัติภัย ช่วยลดรายจ่ายทดแทน ซึ่งในปัจจุบันมีกองทุนเงินทดแทนและมีพนักงานเรียกร้องเงินทดแทนค่อนข้างมาก ช่วยให้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยต่าง ๆ เมื่อเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน

          นอกจากนี้ มอก. 18000 ยังช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานขององค์กรในกรณีที่เกิด
เหตุต่าง ๆ ขึ้น และเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร ให้เป็นสถานประกอบการที่ดีในสายตาของ
หน่วยงานราชการ และเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การแข่งขันกับตลาดโลก ซึ่งจะต้องมีใบรับรอง
ต่าง ๆ เพื่อเป็นมาตรฐานการค้าขายในอนาคตด้วย

SA 8000 ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน

          นอกจากนี้ มอก. 18000 ซึ่งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานแล้ว ล่าสุดยังมีมาตรฐาน SA 8000 ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบทางสังคม เน้นสิทธิของแรงงานที่พึงมีพึงได้ในทุกสาขา
อาชีพ ในประเทศไทย มาตรฐาน SA 8000 นี้นับว่าเป็นเรื่องที่ใหม่พอสมควร และยังไม่เป็นที่รู้จักอย่าง
แพร่หลายเหมือน ISO 9000 หรือ ISO 14000 แต่แนวโน้มในอนาคตจะต้องเร่งสร้างความรู้จักให้เกิดขึ้นทุก
สถานประกอบการ เพื่อให้สถานประกอบการของไทยเป็นที่ยอมรับและได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว เพื่อผลประโยชน์ของการดำเนินธุรกิจทางด้านการค้า โดยเฉพาะสถานประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออก

          สุชาดา สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต กล่าวว่า SA 8000 (Social Accountability) แปลว่า มาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคม ซึ่งมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับมาตรฐานการจ้างงานและเงื่อนไขในการจ้างบุคลากรเข้าทำงานในสถานประกอบการ เพื่อพัฒนามาตรฐานที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างเป็นสากล จะเห็นได้ว่าผู้จ้างงานหรือเจ้าของสถานประกอบการจะประสบความสำเร็จ
และมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจได้จากการใช้แรงงานในสถานประกอบการ เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะมีความรับผิดชอบที่ช่วยเอื้อให้กับสังคม เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นประโยชน์กับสถานประกอบการกับลูกค้า ในการที่จะมีสถานผู้ผลิต ผู้จัดส่งสินค้า ที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้สินค้ามีความเป็นมาตรฐานมากขึ้น

          "SA 8000 เกิดจากความพยายามของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ต้องการยกระดับมาตรฐานชีวิตของคน
ทำงานให้มีความสมดุลกันทั้งในแง่ของการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ซึ่งเป็นองค์กร NGO ที่ไม่แสวงหากำไร ปัจจุบันมาตรฐาน SA 8000 ได้รับการยอมรับเทียบเท่ามาตรฐานสากล ISOและมีองค์กรที่เกิดขึ้นเพื่อตรวจรับรองมาตรฐานดังกล่าวเช่นเดียวกับ ISO"

หลักการและคุณลักษณะของ SA 8000

          หลักการของมาตรฐาน SA 8000 มาจากมาตรฐานสากล โดยบางส่วนมีลักษณะคล้ายกับ ISO และมีข้อกำหนดบางประการที่แตกต่างไป ซึ่งต้องมีแรงสนับนุนจากการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้บริหาร เนื่องจากเป็นข้อกำหนดที่กล่าวถึงบทบาทของผู้บริหารที่จะต้องเข้ามาในแง่ของการป้องกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถของนายจ้างที่จะต้องจัดให้มีวิสัยทัศน์การจ้างงานที่ดี เพื่อมิให้เกิดการขัดแย้งด้านแรงงาน นับเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันการเกิดปัญหาแรงงานขึ้น ในสถานประกอบการ ทั้งนี้ SA 8000 เป็นเรื่องของการพัฒนาอย่าง
ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแง่ของการที่ดูแล รักษาภายหลังจากที่ได้รับการรับรองแล้วและต้องมีการตรวจติดตาม
ทุก 6 เดือนเช่นเดียวกัย ISO
ส่วนข้อกำหนดของ SA 8000 จะให้การยอมรับบทบาทหน้าที่ของ NGO และบทบาทขอสหภาพ
แรงงานค่อนข้างสูง ซึ่งสามารถนำไปเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสถานประกอบการ

ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องมีส่วนร่วมในมาตรฐาน SA 8000

           คุณลักษณะที่สำคัญของ SA 8000 คือต้องสามารถตรวจสอบได้ ทั้งการเข้าไปตรวจเยี่ยมหรือสัมภาษณ์ ทั้งบุคคลที่อยู่ในสถานประกอบการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกทั้งยังต้องมีระบบการปฏิบัติที่แน่นอน สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกประเภทธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรม และทุกประเทศ ต้องมีลักษณะของการมีส่วนร่วมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ในสถานประกอบการในเรื่องของการกำหนดและดำเนินการเพื่อให้ได้รับมาตรฐานตัวนี้
อย่างไรก็ตามมาตรฐาน SA 8000 จะไม่ครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรม
เหมืองแร่ การขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล รวมถึงไม่ตรวจสอบสถานที่ทำงานหรือที่พักอาศัยที่ไม่ใช่การจัดหาโดยสถานประกอบการ ตลอดจนแรงงานที่นำงานกลับไปทำที่บ้าน (Home Worker) เป็นต้น

ขอบเขต / ข้อกำหนดของ SA 8000

          SA 8000 เป็นมาตรฐานใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ประเทศไทย เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจต่าง ๆ ให้กับประชาชนและสถานประกอบการ ขอบเขตหรือข้อกำหนดของ SA 8000 เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ควรจะรับทราบ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามแนวทางข้อกำหนดหรือขอบเขตนั้น ๆ
และมุ่งสู่ความเป็นมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยในการทำงาน ขอบเขตหรือข้อกำหนดของ SA 8000 มีดังนี้ คือ

          เรื่องของแรงงานเด็ก มีข้อกำหนดว่าแรงงานเด็ก คือ แรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ (Child Labor) แรงงานที่มีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ คือ Young Worker และผู้ที่เป็นแรงงานในตลาดแรงงาน
ตามปกติ คือ ผู้ที่มีอายุเกินกว่า 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และแรงงานบังคับ (Force Labor) เป็นแรงงานที่ถูก
บังคับให้ทำงาน ไม่สามารถปฏิเสธงานนอกเวลาได้ โดยแรงงานปกติก็อาจจะตกเป็นแรงงานบังคับได้เช่นกัน
รวมถึงเรื่องของ สุขภาพ อนามัยและความปลอดภัย ซึ่งกฎหมายของไทยที่ใช้อยู่ในขณะนี้มีมาตรฐานที่
รับได้ เพียงแต่ต้องนำไปประยุกต์ก่อนที่จะนำไปใช้ เพื่อเทียบเคียงความสอดคล้องกับมาตรฐาน SA 8000

           แรงงานในสถานประกอบการ มีสิทธิ์ที่จะก่อตั้งสมาคม หรือร่วมมือกับสหภาพแรงงานในเรื่องใด
เรื่องหนึ่งได้ และยังมีสิทธิ์ในการเจรจาต่อรองด้วย ส่วนชั่วโมงการทำงาน กำหนดว่าชั่วโมงการทำงานต่อ
สัปดาห์ไม่เกิน 48 ชั่วโมง และชั่วโมงการทำงานนอกเวลา (O.T.) ไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทางด้าน
การจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งนอกเหนือจากการ จ่ายตามอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำ ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม
ในการดำรงชีพของพนักงานหรือคนงานด้วย

             ทั้งนี้ นายจ้างไม่มีสิทธิ์ เลือกปฏิบัติหรือการกีดกัน การจ้างงาน แต่โดยทั่วไป กฎหมายใน
ประเทศไทยไม่ค่อยพบปัญหาที่เกิดจากเรื่องดังกล่าว และยังต้องตระหนักในเรื่อง Management System
ซึ่งเจ้าของสถานประกอบการหรือนายจ้างจะต้องแต่งตั้งผู้แทนของตนเอง เพื่อเป็นคณะกรรมการให้กับ
ลูกจ้างดูแลกระบวนการทำงาน นโยบาย มุมมอง วิสัยทัศน์ รวมไปถึงการฝึกอบรมให้ความรู้ความเข้าใจ
ในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบ Health and Safety ที่จะให้ความคุ้มครองกับแรงงานในสถานประกอบการ โดยที่ผู้แทนจะต้องสามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ของแรงงานได้ รวมถึงต้องรู้จักติดต่อสื่อสาร
กับชุมชน หรือสังคมที่อยู่รอบสถานประกอบการด้วย

           นอกจากนี้ยังมีเรื่องมาตรการทางวินัย ซึ่งมีข้อกำหนดปลีกย่อยออกมาเช่น บทลงโทษในแต่ละสถานประกอบการหรือการพูดจาข่มขู่แรงงาน เป็นต้น

SA 8000 ให้อานิสงส์ทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง

            สุชาดา สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา กล่าวต่อไปว่า SA 8000 เป็นมาตรฐานที่ให้ผลประโยชน์ทั้งสถานประกอบการ นายจ้าง และแรงงานหรือลูกจ้างด้วย ในแง่ของสถานประกอบการหรือนายจ้าง เมื่อพัฒนาสถานประกอบการจนได้รับการรับรองมาตรฐาน SA 8000 แล้วจะเป็นส่วนที่ช่วยเสริมสร้างภาพพจน์ของสถานประกอบการดีขึ้น ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ของฝ่ายจัดการกับ Supplier และลูกค้าต่าง ๆ ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในตัวสินค้าที่ผลิตได้มากขึ้น เนื่องจากคุณภาพชีวิตของลูกจ้างดีขึ้น ส่งผลให้ Productivity ที่ได้มีคุณภาพ SA 8000 สามารถลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ การลาออกของแรงงานได้มาก ที่สำคัญทำให้ภาคการส่งออกของประเทศไทยดำเนินธุรกิจได้สะดวกมากขึ้น ลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อกีดกันทางการค้าได้มาก เพราะขณะนี้ SA 8000 เพ่งเล็งกับธุรกิจการส่งออกมากเป็นพิเศษ

          ในแง่ของประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับแรงงานหรือลูกจ้าง SA 8000 มีส่วนช่วยให้สถานประกอบการ สถานที่ทำงาน และข้อตกลงสภาพการจ้างงานมีการพัฒนาไปสู่ระดับมาตรฐาน ทำให้สถานประกอบการต่าง ๆ มีข้อผูกพันที่จะต้องดูแลและยอมรับในสิทธิของมนุษยชนมากขึ้น แรงงานหรือลูกจ้างในสถานประกอบการจึงได้รับความชอบธรรม สามารถร้องเรียนเพื่อแสวงหาความเป็นธรรมได้มากขึ้น เพราะ SA 8000 สามารถป้องกันมิให้เกิดการกีดกันต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่ออัตราค่าตอบแทน ทั้งยังทำให้ต้องมีเครื่องมือ (Tools) เพื่อฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการ

          เพราะฉะนั้น SA 8000 จึงเป็นช่องทางที่จะทำให้แรงงาน พนักงาน ลูกจ้าง ทั้งหลายในสถานประกอบการมีโอกาสที่ดีขึ้น ทั้งยังทำให้สหภาพแรงงานสามารถพิทักษ์สิทธิ์ของแรงงานได้ดีขึ้นด้วย

          ปัจจุบันสถานการณ์ทางการค้าจะทวีความเข้มข้นและรุนแรงยิ่งขึ้น มาตรฐานความปลอดภัยและอาชีว
อนามัย และ SA 8000 จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสร้างความแข็งแกร่งของสถานประกอบการไทย ซึ่งหากสถานประกอบการของไทยสามารถควบคุมและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยได้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพ
ของการผลิต และเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่เวทีการค้าโลกได้อย่างแน่นอน


อัพเดทล่าสุด