มาตรฐานระบบการ จัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย


860 ผู้ชม


มาตรฐานระบบการ จัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย





มาตรฐานระบบการ จัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  บทนำ
มาตรฐานระบบการ จัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
มาตรฐานระบบการ จัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  ขั้นตอนหลักในการจัดทำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
มาตรฐานระบบการ จัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  การนำมาตรฐานไปใช้
มาตรฐานระบบการ จัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  ประโยชน์ที่จะได้รับ
มาตรฐานระบบการ จัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  ใครควรทำ
มาตรฐานระบบการ จัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  จะทำอย่างไร
มาตรฐานระบบการ จัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  การขอการรับรอง
มาตรฐานระบบการ จัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  ขั้นตอนการให้การรับรอง
มาตรฐานระบบการ จัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  ค่าใช้จ่ายในการขอการรับรอง


บทนำ

สภาพสังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น มีการใช้แรงงานที่ต้องเสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น ความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ใช้แรงงานในการทำงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักและใส่ใจตลอดเวลาเพราะผลจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือผลของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น นอกจากจะก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ตนเองแล้ว ยังส่งผลกระทบไปถึง บุตร ภรรยา พ่อแม่พี่น้องอีกด้วย ซึ่งเป็นความสูญเสียที่เกินกว่าที่คาดคิดหรือเรียกกลับคืนมาได้ บางครั้งอุบัติเหตุยังทิ้งร่องรอยของความขมขื่นเอาไว้อีกตลอดชีวิต เช่น ความพิการ ความเจ็บปวดทรมาน บางธุรกิจอุตสาหกรรม อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอาจหมายถึงความสิ้นเนื้อประดาตัวไม่เพียงแต่ขององค์กร ยังมีผลต่อสภาพแวดล้อมและสังคมโดยรอบอีกด้วย เช่น ไฟไหม้ โรงงานระเบิด พนักงานและชุมชนโดยรอบได้รับสารอันตราย ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตได้
กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กำหนดอนุกรมมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (มอก.18000) ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานต่างๆนำไปปฏิบัติ ทั้งนี้มิได้มีจุดมุ่งหมายเพียงการแก้ไขปัญหาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน แต่ยังครอบคลุมถึงแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ และอุบัติเหตุต่างๆต่อผู้ปฏิบัติงาน และสังคมโดยรอบ ทั้งในองค์กรเองและภายนอกองค์กรหรือชุมชนใกล้เคียง
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ตามอนุกรมมาตรฐาน มอก.18000 นอกจากจะกำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานอาชีวอนามัย และความปลอดภัยในองค์กรแล้ว ยังใช้เป็นข้อกำหนดในการตรวจประเมิน เพื่อให้การรับรองระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กรอีกด้วย
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Occupational health and safety management system standards) ตามอนุกรมมาตรฐาน มอก.18000 นี้ กำหนดขึ้นโดยใช้ BS 8800 : Guide to occupational health and safety (OH&S) management systems เป็นแนวทาง และอาศัยหลักการของระบบการจัดการตามอนุกรมมาตรฐาน มอก. 9000/ISO 9000 และมอก. 14000/ISO 14000 เพื่อให้ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเข้ากันได้กับระบบการจัดการอื่นๆ ขององค์กร
อนุกรมมาตรฐาน มอก.18000 แบ่งออกเป็น 2 เล่ม ดังนี้
  1. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัด การอาชีวอนามัยและความปลอดภัย:ข้อกำหนด ตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 18001-2542 (Occupational health and safety management system : specification)
  2. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย:ข้อแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับหลักการระบบและเทคนิคในทางปฏิบัติ ตามมาตรฐานเลขที่มอก. 18004 (Occupational health and safety management systems : general guidelines on principle, systems and supporting techniques)
วัตถุประสงค์ของมาตรฐานนี้ กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดทำระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัยขององค์กรและพัฒนาปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในด้านต่างๆ คือ
  1. ลดความเสี่ยงต่ออันตรายและอุบัติเหตุต่างๆของพนักงานและผู้เกี่ยวข้อง
  2. ปรับปรุงการดำเนินงานของธุรกิจให้เกิดความปลอดภัย
  3. ช่วยสร้างภาพพจน์ความรับผิดชอบขององค์กรต่อพนักงานภายในองค์กร ต่อองค์กรเอง และต่อสังคม

ขั้นตอนหลักในการจัดทำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ขั้นตอนหลักในการจัดทำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
1. การทบทวนสถานะเริ่มต้น
องค์กรจะต้องพิจารณาทบทวนระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่มีอยู่ เพื่อทราบสถานภาพปัจจุบันขององค์กร โดยมีวัตถุประสงค์ในการกำหนดขอบเขตของการนำเอาระบบการจัดการไปใช้และเพื่อใช้ในการวัดผลความก้าวหน้า

2. นโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรจะต้องกำหนดนโยบายและจัดทำเป็นเอกสารพร้อมทั้งลงนามเพื่อแสดงเจตจำนงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย แล้วมอบหมายให้มีการดำเนินการตามนโยบายพร้อมทั้งจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นในการดำเนินการ ต้องให้พนักงานทุกระดับเข้าใจนโยบาย ได้รับการฝึกอบรมที่เหมาะสมและมีความสามารถที่จะปฏิบัติงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบรวมทั้งส่งเสริมให้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบการจัดการ

3. การวางแผน
มีการชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยง รวมทั้งชี้บ่งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อใช้ในการจัดทำแผนงานควบคุมความเสี่ยงการวัดผลและการทบทวนระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยได้อย่างเหมาะสมพร้อมทั้งกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถจัดสรรทรัพยากรได้ถูกต้องทั้งด้านงบประมาณและบุคลากร

4. การนำไปใช้และการปฏิบัติ
องค์กรต้องนำแผนงานที่กำหนดไว้มาปฏิบัติโดยมีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้รับผิดชอบโครงการจัดให้มีการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อให้มีความรู้และความสามารถที่เหมาะสมและจำเป็น จัดทำและควบคุมเอกสารให้มีความทันสมัย มีการประชาสัมพันธ์เพื่อปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนในองค์กรตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกัน ให้ความสำคัญและร่วมมือกันนำไปใช้ปฏิบัติพร้อมทั้งควบคุมการปฏิบัติให้มั่นใจว่ากิจกรรมดำเนินไปด้วยความปลอดภัยและสอดคล้องกับแผนงานที่วางไว้รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมสำหรับกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉินขึ้น

5. การตรวจสอบและแก้ไข
ผู้บริหารขององค์กรต้องกำหนดให้มีการตรวจติดตามผลการปฏิบัติงานเป็นระยะๆโดยการตรวจประเมิน เพื่อวัดผลการปฏิบัติและหาข้อบกพร่องของระบบ แล้วนำไปวิเคราะห์หาสาเหตุและทำการแก้ไข แล้วบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

6. การทบทวนการจัดการ
ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรจะต้องกำหนดให้มีการทบทวนระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จากผลการดำเนินงาน ผลการตรวจประเมินรวมทั้งปัจจัยต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป นำมาปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและกำหนดแผนงานในเชิงป้องกัน
การนำมาตรฐานไปใช้
การนำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยไปใช้ จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ช่วยองค์กรลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ปฏิบัติงานและประการสำคัญคือ ช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุภายในองค์กร ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความห่วงใยขององค์กรที่มีต่อพนักงาน นำไปสู่ความมั่นใจในการทำงาน เสริมสร้างคุณภาพขององค์กร อันก่อให้เกิดความได้เปรียบต่อองค์กรคู่แข่งในตลาดการค้าและเป็นผู้นำในวงการธุรกิจระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยนี้สามารถนำมาใช้ได้กับการจัดการขององค์กรไม่ว่าประเภทหรือขนาดใดๆ การนำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยไปใช้ในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบดังต่อไปนี้
  1. ผู้บริหารระดับสูงมีความมุ่งมั่นและตั้งใจแน่วแน่ในการนำระบบมาใช้และให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง
  2. ทุกคนในองค์กรมีความเข้าใจ ให้ความสำคัญ มีส่วนร่วมและให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง
  3. ได้รับการจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอ
  4. มีการติดตามและปรับปรุงระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง

ประโยชน์ที่จะได้รับ
  1. รักษาและป้องกันชีวิตและทรัพย์สินอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุอันอาจเกิดขึ้นในองค์กร
  2. เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอุบัติเหตุ และภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสียหาย และความสูญเสียทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สิน
  3. ลดรายจ่ายเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนเนื่องจากอุบัติเหตุลดลง
  4. สร้างขวัญและกำลังใจแก่พนักงานให้เกิดความเชื่อมั่นในความปลอดภัยต่อชีวิตการทำงานในองค์กร ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการผลิต
  5. ได้รับเครื่องหมายรับรองฯ โดยองค์กรที่นำมาตรฐาน มอก.18001 ไปปฏิบัติสามารถขอให้หน่วยงานรับรองให้การรับรองระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถนำไปใช้ในการโฆษณา และประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรให้ดียิ่งขึ้นและเป็นที่ยอมรับในสังคม
  6. เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การแข่งขันทางด้านการค้าในตลาดโลก

ใครควรทำ
ทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการสามารถนำมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยไปใช้ได้ทั้งสิ้น ในแต่ละองค์กรควรจะมีการพิจารณาว่ากิจกรรมที่ปฏิบัติอยู่มีอันตรายอย่างไรบ้าง และอันตรายดังกล่าวมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดแล้วนำมาจัดลำดับตามขนาดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยการประมาณค่าจากโอกาสที่จะเกิดอันตรายและความรุนแรงของความเสียหาย แล้วจึงวางแผนปฏิบัติการควบคุม โดยอาจเปรียบเทียบกับข้อกำหนดตามกฎหมาย รวมทั้งวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องสำหรับกิจกรรมนั้นๆ แล้วกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการในเชิงปริมาณเพื่อความสะดวกในการวัดผลการดำเนินการองค์กรใดที่มีการควบคุมความเสี่ยงของอันตรายอย่างได้ผล ย่อมมีผลให้การทำงานเป็นไปโดยราบรื่น ผู้ปฏิบัติงานมีสุขภาพพลานามัยดี ซึ่งจะมีผลให้งานที่ปฏิบัติมีคุณภาพดี นอกจากนั้นยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายเนื่องจากต้องหยุดการทำงานเนื่องจากอุบัติเหตุ แล้วยังช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น
จะทำอย่างไร
การเตรียมตัวเพื่อขอรับการรับรองระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ในการขอรับการรับรองระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย องค์กรจะต้องจัดทำระบบตามข้อกำหนดในมาตรฐาน มอก. 18001 ซึ่งมีขั้นตอนหลักดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 ศึกษามาตรฐานมอก.18000 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนที่ 2 ประชุมฝ่ายบริหารเพื่อขอการสนับสนุนโครงการในการจัดทำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ขั้นตอนที่ 3 ตั้งคณะกรรมการชี้นำ เพื่อจัดทำระบบและควบคุมดูแลให้เป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้
ขั้นตอนที่ 4 กำหนดนโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัยวางแผนการจัดการระบบ จัดทำวิธีการปฏิบัติ และ คำแนะนำที่จำเป็น
ขั้นตอนที่ 5 ลงมือปฏิบัติตามระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่ได้กำหนดขึ้น
ขั้นตอนที่ 6 ตรวจติดตามระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อตรวจสอบว่าระบบเป็นไปตามแผนและข้อกำหนดของมาตรฐานและได้มีการนำไปใช้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
ขั้นตอนที่ 7 แก้ไขข้อบกพร่องที่พบจากการตรวจติดตามภายในและปรับปรุงระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นขั้น
ขั้นตอนที่ 8 ผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบโครงการดำเนินการทบทวนระบบการจัดการจากผลการดำเนินงานการตรวจติดตามและการตรวจประเมินระบบ รวมทั้งพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ แล้วนำมาปรับนโยบาย แผนงาน เป้าหมาย เพื่อประสิทธิผลของระบบการจัดการ และเพื่อประเมินผล ระบบการจัดการทั้งระบบเพื่อให้แน่ใจว่ามีความพร้อมสำหรับการขอรับรอง
ขั้นตอนที่ 9 ติดต่อหน่วยงานที่ให้การรับรอง และยื่นคำขอ
การขอการรับรอง
องค์กรที่ได้จัดทำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสามารถขอการรับรองได้จากหน่วยรับรองที่ให้บริการการรับรองระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยได้ โดยยื่นคำขอรับการรับรองพร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาที่เกี่ยวข้องตามที่หน่วยรับรองกำหนด
ขั้นตอนการให้การรับรองโดยทั่วไป
ขั้นตอน การขอรับการรับรองระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
  • ยื่นคำขอรับการรับรองระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย พร้อมทั้งเอกสาร
    • เอกสารคู่มือคุณภาพ และที่เกี่ยวข้อง
    • ข้อมูลทั่วไปของผู้ยื่นคำขอ
  • หน่วยรับรองส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อรวบรวมข้อมูล ความพร้อมขององค์กรและรายละเอียดอื่นๆเพื่อกำหนดแผนการตรวจประเมิน
  • การตรวจประเมิน
    • หน่วยรับรองจะตรวจประเมินเอกสารแล้วจัดทำรายงานการตรวจประเมินแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบ พร้อมรายชื่อเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินและกำหนดการตรวจประเมิน
    • หน่วยรับรองจะส่งเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินไปตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการแล้วจัดทำรายงานการตรวจประเมินแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบ
  • สรุปรายงานผลการตรวจประเมินเสนอคณะกรรมการของหน่วยรับรอง พิจารณาให้การรับรอง
  • จัดพิมพ์ใบรับรองระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย
  • ตรวจประเมินเพื่อการติดตามผลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • ตรวจประเมินใหม่ทั้งระบบ (เมื่อครบกำหนด 3 ปี และขอรับรองต่อ)

ค่าใช้จ่ายในการขอรับการรับรอง
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ ดังนี้
  1. ค่าธรรมเนียมในการยื่นคำขอ
  2. ค่าธรรมเนียมในการตรวจประเมิน
  3. ค่าธรรมเนียมใบรับรอง
ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการขอการรับรองขึ้นกับหน่วยรับรองนั้น ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขไว้อย่างไร

อัพเดทล่าสุด