การจัดการอาชีวอนามัยความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม


1,328 ผู้ชม


การจัดการอาชีวอนามัยความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม




การจัดการอาชีวอนามัยความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมสำหรับ SMEs


วัตถุประสงค์
1.เพื่อให้มีจิตสำนึกที่ดีในการจัดการอย่างเป็นระบบ สามารถพัฒนาต่อไปได้อย่าง
ต่อเนื่อง
2.เพื่อให้พนักงานมีสุขภาพและอนามัยที่ดีในการทำงาน
3.เพื่อลดอุบัติเหตุในการทำงาน
4.เพื่อให้พนักงานมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น

คำและความหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอาชีวอนามัย
1. จิตสำนึก (Awareness) คำว่าจิตสำนึกมาจากคำว่า จิต + สำนึก ซึ่ง จิต แปลว่า ใจ และสำนึก แปลว่า ความรู้สึก หรือ รู้สึกตัว ดังนั้น คำว่า จิตสำนึก จึงแปลว่า " มีความรู้หรือความตระหนักอยู่ตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน "
2. อาชีวอนามัย (Occupational Health ) คำว่าอาชีวอนามัย มาจากคำว่า อาชีวะ + อนามัย ซึ่ง อาชีวะ แปลว่า ผู้ประกอบอาชีพ ดังนั้น อาชีวะอนามัย จึงแปลว่า " สุขภาพอนามัยความปลอดภัยที่สุขสมบูรณ์ของผู้ประกอบอาชีพ"
3. ความปลอดภัย (Safety) แปลว่า สภาวะที่ปราศจากอันตราย การบาดเจ็บ ความเสี่ยง และความสูญเสีย
การปฏิบัติงานในสถานประกอบการ

สำหรับเจ้าของสถานประกอบการนั้น จะต้องพิจารณาว่า สถานประกอบการของตนเองมีขนาดเล็กใหญ่เพียงใด เช่น ถ้ามีพนักงานเกินกว่า 50 คน และสภาพการทำงานมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายสูงจำเป็นต้องมีห้องพยาบาลไว้ในสถานประกอบการ ก็ควรดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าเป็นสถานประกอบการขนาดเล็กเจ้าของกิจการก็ต้องพิจารณาว่าจะสามารถดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของพนักงานได้อย่างไรบ้างอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามที่กฏหมายกำหนด
พนักงานทุกคนต้องตระหนักถึงความสำคัญของอาชีวอนามัยความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงานอยู่เสมอ เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความปลอดภัยในการทำงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากทุกคนมีโอกาสที่จะประสบอุบัติเหตุตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงต้องระมัดระวังอยู่เสมอ
ประเภทของสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน

1.สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

แสง เสียง อากาศ ความสั่นสะเทือน รังสี เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับงานด้านอาชีวอนามัยทั้งสิ้น เช่น ความดังของเสียง ถ้ามีการทำงานน้อยกว่า 7 ชั่วโมง จะต้องมีความดังของเสียง 91 เดซิเบล (เอ) แต่ถ้าทำงาน 7-8 ชั่วโมง จะต้องมีความดังเสียง 90 เดซิเบล (เอ) และถ้าเกินกว่า 8 ชั่วโมงขึ้นไปก็จะลดลงไปตามลำดับ
2. สิ่งแวดล้อมทางเคมี
สารเคมี ต่าง ๆ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ผลผลิตหรือของเสียที่ต้องการกำจัดโดยทั่วไปสารเคมีดังกล่าวอาจอยู่ในรูปของฝุ่น ละออง ไอสาร ควัน ก๊าซ หรืออาจอยู่ในรูปของเหลว เช่น ตัวทำละลาย กรด ด่าง เป็นต้น
3. สิ่งแวดล้อมทางชีวะภาพ
สิ่งแวดล้อมทางชีวะภาพ หมายถึงสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้น ส่วนสิ่งแวดล้อมทางชีวะภาพที่ไม่มีชีวิตได้แก่ ฝุ่นไม้ ฝุ่นจากฝ้าย
4.สิ่งแวดล้อมทางจิตวิทยาสังคม
สิ่งแวดล้อมข้อนี้หมายถึงเศรษฐกิจในการทำงาน รวมไปถึงการเร่งรีบในการทำงานเพื่อแข่งขันกับเวลา และค่าจ้างแรงงานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดความเครียดในการทำงาน ถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมทางจิตวิทยาสังคมทั้งสิ้น
การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุอาจจะเป็นการเดินตรวจความปลอดภัยของโรงงานหรือสถานที่ประกอบการหรือเป็นการหาวิธีป้องกันการเกิดอันตรายหรือเกิดอุบัติเหตุก่อนที่เหตุการณ์ไม่ดีจะเกิดขึ้น
สถานที่ที่มักเกิดอุบัติเหตุ
1.สถานที่ทำงานใหม่ เช่น การปรับปรุงตึกหรือขยายอาคาร ตลอดจนผู้ที่เข้ามาปฏิบัติงานใหม่ซึ่งยังไม่รู้จักสถานที่ทำงาน หรืออาจมาจากความอยากรู้อยากลองของพนักงานที่อยู่ในช่วงอายุที่เป็นวัยรุ่น และเพศของผู้ปฏิบัติงาน ชาย หญิง ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุในการทำงานได้เช่นกัน
2.บริเวณสำนักงานที่ไม่ใช่โรงงงาน อุบัติเหตุในสถานที่แบบนี้อาจเกิดขึ้นจาก
- การสะดุดล้ม การพลัดตกจากเก้าอี้ การพลัดตกจากที่สูง
- การปวดหลัง ปวดเอว เนื่องจากการยกของที่ไม่ถูกวิธี
- การเดินชนกันเองตามมุมทางเดินที่เป็นมุมอับ
- ห้องที่มีกระจกในที่ทำงาน ถ้ามีกระจกใสบริเวณที่ทำงานควรหาแผ่นป้ายหรือกระดาษที่ดูดีสวยงามไปติดไว้ เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ให้คนเห็นว่า ตรงนั้น คือกระจกไม่สามารถเดินผ่านได้
- การถือของเดินขึ้น-ลงบันใด
- การถูกไฟดูดจากเครื่องใช้ไฟฟ้าในสำนักงาน เช่น ตู้ทำน้ำเย็น

การสูญเสียเนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุ
1.การสูญเสียทางตรง (Direct Cost) หมายถึง การสูญเสียเงินที่ต้องจ่ายไปอันเนื่องจากอุบัติเหตุนั้น เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำขวัญ ค่าทำศพ เป็นต้น
2.ความสูญเสียทางอ้อม (Indirect Cost) หมายถึง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายทางตรงได้แก่ การเสียเวลาการทำงานของพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมปรับปรุงเครื่องจักรตลอดจนชื่อเสียงและภาพพจน์ของสถานประกอบการ
สาเหตุของการสูญเสีย
1.สาเหตุนำ

เกิดจากความผิดพลาดของการจัดการ เนื่องจากไม่มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน ถูกตัดงบประมาณการด้านความปลอดภัย ไม่มีการบังคับให้มีการปฏิบัติงานตามกฎความปลอดภัย ไม่มีการแก้ไขจุดอันตรายต่างๆความบกพร่องทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่นการกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว พนักงานขาดความระมัดระวัง ขาดความตั้งใจในการทำงาน จิตใจอ่อนไหวง่าย ตกใจง่าย หูหนวก สายตาไม่ดี ร่างกายไม่เหมาะสมที่จะทำงานหรือ มีโรคประจำตัว เป็นต้น
2.สาเหตุโดยตรง
สาเหตุโดยตรงมีผลมาจากสาเหตุนำ เช่น เกิดจากการกระทำที่ไม่ปลอดภัย เช่น ความไม่รู้ของพนักงาน ไม่มีความระมัดระวัง เร่งรีบ เผลอเรอ การทำงานลัดขั้นตอน การคาดการณ์ผิด สิ่งเหล่านี้คือความผิดพลาดของพนักงาน วิธีการทำงานไม่ถูกต้อง หรือเกิดจากตัวของพนักงานเอง เกิดจากสถานที่ทำงานไม่ปลอดภัย เช่น อุปกรณ์เครื่องจักรไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร บริเวณที่ทำงานลื่น คับแคบ เป็นต้น
การดำเนินงานด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม
การดำเนินงานด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมมีความสำคัญต่อการดำเนินงานด้าน อาชีวอนามัย และจัดเป็นงานด้านวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งที่ต้องใช้หลักการ และเหตุผลในการดำเนินการ ซึ่งประกอบไปด้วยหลักการที่สำคัญดังต่อไปนี้
1.การตระหนักถึงอันตราย (Recognition)
อันตรายจะเกิดขึ้นได้กับการทำงานทุกชนิด ทุกขั้นตอนในการทำงานจะมีสิ่งคุกคามเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของพนักงานเสมอเพราะพนักงานต้องปฏิบัติงานอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวในการทำงานตลอดเวลาเพราะถ้าสิ่งแวดล้อมดีก็จะมีแนวโน้มว่าจะเกิดความปลอดภัยในการทำงาน โดยปราศจากโรคและอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการทำงาน
2.การประเมินระดับของอันตราย (Evaluation)
ควรมีการตรวจสอบระดับของอันตรายว่ามีระดับมากหรือน้อยเพียงใด และนำเอาค่าที่ได้จากการวัดไปเปรียบเทียบกับมาตรฐาน เพื่อนำผลที่ได้จากการประเมินไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขต่อไป
3.การควบคุมอันตราย (Control)
เป็นการหามาตรการในการควบคุมและป้องกันอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้อยู่ในสภาพปกติ โดยคำนึงถึงปัจจัยประกอบในทุกๆ ด้าน

การป้องกันและควบคุมโรคอันเนื่องมาจากการประกอบอาชีพ

1.การควบคุมที่แหล่งกำเนิด (Sourec) หมายถึง การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต การใช้สารเคมีที่ไม่เป็นพิษ การปิดคลุม แยกกระบวนการผลิตหรือเครื่องจักรที่มีอันตรายมากๆ ออกไปให้ห่างจากตัวพนักงาน
2.การควบคุมที่ทางผ่าน หมายถึง การสร้างระบบปิดกั้นระหว่างแหล่งกำเนิดกับตัวบุคคลหรือตัวพนักงานไม่ให้มาเจอกัน
3.ควบคุมที่ตัวบุคคล หมายถึง การสร้างจิตสำนึกและการใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล ซึ่งมีหลักการใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล ซึ่งมีหลักการใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลดังต่อไปนี้
-เลือกใช้อย่างเหมาะสมกับประเภทและระดับของอันตราย
-ใช้อย่างมีประสิทธิภาพและดูแลรักษาอยู่เสมอ
-คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดจากการสวมใส่
-ถ้ามีแนวทางในการควบคุมที่แหล่งกำเนิดให้แจ้งผู้บังคับบัญชา พร้อมทั้งติดตามความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาที่เราเสนอไปอยู่เสมอ

การใช้ความรู้สึกเป็นเครื่องเตือนภัย
1.สัญลักษณ์ต่างๆ

การส่องสว่าง ถ้าบริเวณใดมีการส่องแสงให้สว่างมากๆ แสดงว่าบริเวณนั้นมีอันตรายมากกว่าบริเวณที่มีแสงสว่างน้อย เช่น ตามสี่แยกต่างๆ
2.การทำให้แตกต่างจากส่วนอื่น
การระบายสีของชิ้นส่วนที่อันตรายด้วยสีอ่อนหรือสีเข้มให้แตกต่างจากส่วนอื่น เช่น สีเหลือง ใช้เตือนอันตราย หรือสีเขียวแสดงว่าปลอดภัย และให้มีการจัดการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
3.อ่านคำแนะนำต่างๆ
ดูคู่มือคำเตือนและคำแนะนำต่างๆ ก่อนใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ทุกครั้ง ให้มั่นใจว่าสามารถควบคุมดูแลเครื่องจักรและอุปกรณ์เหล่านั้นได้
4.การปิดป้ายคำเตือน
ควรปิดป้ายหรือพ่นคำเตือนบนเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตที่เหมาะสม
5.เครื่องหมายหรือสัญญลักษณ์เพื่อความปลอดภัย
ควรมีป้ายเตือนหรือแผ่นโปสเตอร์ที่เกี่ยวกับการเตือนอันตรายเช่นให้ใส่ที่อุดหูในบริเวณนี้ หรือใส่แว่นตานิรภัยในบริเวณนี้ เป็นต้น
6.ไฟสัญญาณ
ควรใช้ไฟกระพริบ หรือไฟสีต่างๆ เพื่อเตือนภัยอันตรายหรือแสดงว่ากำลังเกิดเหตุ ฉุกเฉิน
7.สัญญาณธง
ควรใช้ธงโบกหรือใช้ผ้าผูกเพื่อเตือนอันตราย เช่น ใช้ผ้าแดงผูกที่ท้ายรถหรือท้ายสิ่งของเวลาขับรถที่ต้องบรรทุกสิ่งของที่วางเลยออกมานอกตัวรถ
8.สัญญาณมือ
ควรใช้สัญญาณมือ เพื่อแจ้งหรือบอกเตือนภัยในกรณีที่ไม่มีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แจ้งการเตือนภัยเอาไว้ โดยต้องส่งสัญญาณจากเราไปยังอีกผู้หนึ่ง ให้เขารับรู้ว่าเราต้องการจะสื่อสารอะไรหรือบอกอะไรกับเขา
9.สัญญาณปลุก
ใช้เสียงไซเรน ที่แตกต่างไปจากเดิม หมายถึงเสียงไซเรนที่แตกต่างไปจากเสียงกริ่งที่ใช้บอกเวลาเริ่มงานหรือเลิกงาน หรือใช้เสียงนกหวีดหรือเครื่องมือที่มีเสียงคล้ายๆ กัน
10.ใช้เสียงตะโกนด้วยตัวเอง
เป็นการตะโกนส่งเสียงเพื่อบอกเตือนภัยให้ผู้อื่นรู้ กรณีนี้ต้องใช้หากจำเป็นหรือสามารถใช้ได้ทุกกรณีที่มีเหตุอันตรายเกิดขึ้น
11.ใช้กลิ่น
เช่น กลิ่นก๊าซหุงต้ม เพื่อแสดงให้รู้ว่ากำลังมีอันตรายอยู่เนื่องจากมีก๊าซรั่ว ก๊าซซึม และอันตรายจากสาเหตุอื่น เป็นต้น
12.ใช้ความรู้สึก
จากการสั่นสะเทือน ใช้วิธีการนี้เพื่อบอกเหตุในขณะเครื่องเดินหรือเครื่องเดินไม่สะดวก เพื่อบอกให้รู้ว่าเครื่องกำลังมีปัญหา

หลักการจัดการของชีวอนามัยที่ดี

1.นำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานไปใช้ และนึกถึงอยู่เสมอขณะปฏิบัติงาน เช่น การทำงานอย่างปลอดภัยกับสารเคมีอันตราย การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน ภัยส่วนบุคคลอย่างถูกต้อง
2.เตือนเพื่อนพนักงานที่ปฏิบัติงานด้วยกัน ทุกๆ ครั้งที่พบเห็นเพื่อนร่วมงานกำลังประมาท และพยายามแก้ไขสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยทันทีที่พบเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีขึ้นอีก
3.ปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ
4.ปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือข้อบังคับขององค์กรในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด
5.มี "สติ" และ "สมาธิ" ในการทำงานอยู่เสมอ
เหตุผลที่ต้องมีการจัดการเรื่องอาชีวอนามัยก็คือ เนื่องจากเรื่องอาชีวอนามัยนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถทำได้อย่างเป็นระบบยั่งยืนและสามารถพัฒนาได้ต่อไป องค์กรสามารถเลือกระบบการจัดการในรูปแบบต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อบริหารจัดการได้ เช่น ระบบการประเมินความเสี่ยง มอก.18001 ระบบตรวจสอบความปลอดภัย ระบบการตรวจสุขภาพพนักงาน ระบบการตรวจติดตามโรคจากโรงงาน ระบบการฝึกอบรม การทำ 5 ส. เป็นต้น
ซึ่งระบบต่างๆ ที่กล่าวมานี้ในแต่ละองค์กรจะต้องเลือกนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงานและกิจกรรมขององค์กรนั้นๆ ตลอดจนต้องให้เหมาะสมกับรูปแบบของการจัดการที่ทำอยู่เดิม แต่สิ่งที่ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในการบริหารการจัดการในเรื่องของอาชีวอนามัยก็คือ การปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหน้าที่ของทั้งผู้ประกอบการและพนักงานทุกคนที่จะต้องรับทราบและปฏิบัติตามรายละเอียดที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ที่มา
อ.สงคราม ตันติถาวรวัฒน์ "การจัดการอาชีวอนามัยความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมสำหรับ
SMEs" SMEs สร้างไทยมั่นคง, สรุปการบรรยายสัมมนาวิชาการระดับชาติ
SMEs FAIR เมื่อวันที่ 11-27 สิงหาคม 2543 ณ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ
อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
คำไข การจัดการ อาชีวอนามัย การปฏิบัติงาน สถานประกอบการ สุขศาสตร์อุตสาหกรรม การประกอบอาชีพ

อัพเดทล่าสุด