ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย


653 ผู้ชม


ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย




กรณีลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอันจะเป็นเหตุให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) นั้น ต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างกระทำโดยตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างหรืออีกนัยหนึ่งลูกจ้างต้องกระทำโดยรู้สำนึกของการกระทำว่าจะเกิดความเสียหายแก่นายจ้าง การที่นาง ศ. เพียงแต่ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างนาง ศ. กับนางสาว ก. ที่นางสาว ก. เป็นบุตรสะใภ้ของนาง ศ. และบุตรชายของนาง ศ. ซึ่งเป็นสามีของนางสาว ก. ทำงานอยู่ในโรงงานอื่นที่โจทก์เห็นว่าเป็นคู่แข่งทางการค้าโดยไม่ปรากฏว่าได้นำความลับของโจทก์ไปเปิดเผยแก่บุคคลภายนอกหรือมีข้อเท็จจริงอื่นใดว่านาง ศ. ได้กระทำการใดที่แสดงถึงความตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ทั้งโจทก์ไม่ได้จัดทำข้อห้ามที่ว่าผู้สมัครเข้าทำงานกับโจทก์จะต้องไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับโรงงานที่เป็นคู่แข่งทางการค้าของโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรปิดประกาศไว้และโจทก์อ้างว่ารับสมัครคนงานใหม่ที่เป็นญาติของคนงานที่ทำในปัจจุบันเพื่อให้คนงานเก่าอธิบายและแจ้งให้คนงานใหม่ทราบถึงกฎข้อบังคับโดยโจทก์ไม่ต้องอธิบายหรือประกาศให้คนงานใหม่ทราบ ก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้ใส่ใจเคร่งครัดใช้กฎข้อบังคับที่อ้างว่ามีอยู่ และตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ก็ไม่ได้ระบุให้การไม่แจ้งความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานให้โจทก์ทราบเป็นความผิดแต่อย่างใด การที่นาง ศ. ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงมิได้เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาที่ 4204/2551


อัพเดทล่าสุด