ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์


691 ผู้ชม


ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์




ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 1394/2549       

บริษัท แอร์ อันดามัน จำกัด

       โจทก์

นายสุรเชษฐ วิริยะศิริกุล

       จำเลย

 

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5, 43

ป.พ.พ. มาตรา 150

 

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 5/2547 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 ในส่วนที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยจำนวน 60,561 บาท ให้แก่นางสาวสาวิตรี

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์และนางสาวสาวิตรีตามสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ข้อ 6.1 ที่ว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากพนักงาน (ซึ่งหมายถึงนางสาวสาวิตรีลูกจ้าง) ตั้งครรภ์ให้ถือว่าพนักงานได้บอกเลิกสัญญานี้แล้ว ตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปอย่างเป็นธรรมและคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ถูกเอาเปรียบเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน พระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 43 บัญญัติว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ ข้อตกลงระหว่างโจทก์และนางสาวสาวิตรีตามสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ข้อ 6.1 ที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากนางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ให้ถือว่านางสาวสาวิตรีได้บอกเลิกสัญญาเป็นข้อตกลงที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกับข้อตกลงในเรื่องสภาพการจ้าง การสิ้นสุดสัญญาและการตั้งครรภ์ตามสัญญาดังกล่าวข้อ 2 ข้อ 5.2.2 และข้อ 6 ซึ่งสรุปได้ว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเข้าใจและยอมรับว่าการปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมีลักษณะเป็นการเฉพาะ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัวเกี่ยวกับภาษีที่ใช้ มีบุคลิกภาพที่ดีและสุขภาพสมบูรณ์สามารถปฏิบัติงานบนเครื่องบินขณะทำการบินได้ตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดและไม่ถูกจำกัดทางเวชศาสตร์การบิน ซึ่งจะต้องได้รับการศึกษาอบรม การทดสอบและการตรวจร่างกายตามระยะเวลาที่โจทก์กำหนด พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจำเป็นต้องมีสภาพร่างกายที่พร้อมจะเข้ารับการฝึกอบรมและปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความสามารถและประสบการณ์ในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรกของการปฏิบัติงาน การตั้งครรภ์ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตกลงเงื่อนไขเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ตามข้อ 6.1 ขึ้นเป็นข้อหนึ่งของสัญญาจ้าง ซึ่งข้อ 5.2.2 กำหนดว่า เมื่อนางสาวสาวิตรีได้กระทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ คำสั่งต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ในข้อ 2 กรณีร้ายแรง ให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงและข้อตกลงในข้อ 6.1 ที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากนางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ให้ถือว่านางสาวสาวิตรีได้บอกเลิกสัญญานั้น มีข้อความต่อไปอีกด้วยว่า โดยให้สัญญาสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งวินิจฉัยหรือเมื่อเห็นได้ชัดว่านางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงข้อ 6.1 เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเพราะนางสาวสาวิตรีมีครรภ์ อันขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า ค่าชั่วโมงบินเป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าการปฏิบัติงานบนเครื่องบินเป็นการทำงานในเวลาทำงานปกติของนางสาวสาวิตรี แม้ค่าชั่วโมงบินที่นางสาวสาวิตรีได้รับในแต่ละเดือนจะมีจำนวนไม่แน่นอนและไม่เท่ากัน แต่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างก็จ่ายค่าชั่วโมงบินให้แก่นางสาวสาวิตรีเมื่อมีการปฏิบัติงานบนเครื่องบินในแต่ละเดือนทุกเดือน ตามอัตราที่คำนวณจากเวลาที่ได้ปฏิบัติงานบนเครื่องบิน ค่าชั่วโมงบินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่นางสาวสาวิตรีเป็นการตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมงของวันทำงาน จึงเป็นค่าจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ที่จำเลยนำค่าชั่วโมงบินมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วย จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน.

 
 

(จรัส พวงมณี - วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ - พิทยา บุญชู)

 

       ศาลแรงงานกลาง - นายสมฤกษ์ โรจนสุพจน์

       ศาลอุทธรณ์

 

แหล่งที่มา     (DEKA2000)


อัพเดทล่าสุด