ค่าชดเชย และ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม


1,063 ผู้ชม


ค่าชดเชย และ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม




ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 3530/2549       

นายทอม โซเรนเซน

       โจทก์

บริษัทดีเอฟดีเอส ทรานสปอร์ต (ไทย) จำกัด กับพวก

       จำเลย

 

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าชดเชย 3,050,110 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 54,466,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ก่อนวันนัดพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งจำหน่ายคดี

วันนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางสอบคู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับกันว่า สัญญาจ้างที่โจทก์นำมาฟ้องมีข้อตกลงเรื่อง อนุญาโตตุลาการอยู่ในข้อ 12 และทั้งสองฝ่ายยังมิได้ผ่านกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการของประเทศเดนมาร์กจริงตามคำร้องของจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์คัดค้านว่ากรณียังมิได้มีข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้น เพราะโจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และเรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ได้กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาจ้าง จึงไม่จำต้องผ่านกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการและการตกลงให้ไปดำเนินการทางอนุญาตโตตุลาการที่ประเทศเดนมาร์ก ทั้ง ๆ ที่คู่สัญญาอยู่ในประเทศไทย กฎหมายที่จะใช้บังคับเป็นกฎหมายแรงงานของประเทศไทย เป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ และเป็นช่องทางให้มีการหลีกเลี่ยงการนำคดีสู่การพิจารณาของศาลแรงงาน ขอให้ยกคำร้อง

ศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องไต่สวนเรื่องอื่นอีก ให้งดการไต่สวน แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า กรณีเกิดข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งและไม่สามารถยุติลงด้วยการประนีประนอมยอมความระหว่างคู่สัญญาตามความในสัญญาจ้าง ข้อ 12 ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้ว โจทก์จึงต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามข้อสัญญาดังกล่าวเสียก่อน เมื่อโจทก์ยังมิได้ดำเนินการ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาล ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นคนสัญชาติเดนมาร์ก จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย จดทะเบียนและมีสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เข้าทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโดยทำสัญญาจ้างแรงงาน โดยในสัญญามีข้อความระบุว่า "ข้อโต้แย้งซึ่งไม่สามารถยุติลงได้ด้วยการประนีประนอมระหว่างคู่สัญญาให้ได้รับการชี้ขาดและยุติโดยศาลอนุญาโตตุลาการของเดนมาร์ก" ซึ่งไม่ได้ระบุแยกแยะข้อโต้แย้งที่จะให้ระงับโดยศาลอนุญาโตตุลาการของเดนมาร์กไว้ แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้มีการระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยวิธีอนุญาโตตุลาการเฉพาะข้อโต้แย้งที่เกิดจากสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานเท่านั้น คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 บัญญัติไว้ ไม่ใช่การฟ้องเกี่ยวกับสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงไม่ใช่ข้อโต้แย้งตามข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าว โจทก์จึงนำคดีมาสู่ศาลได้โดยไม่ต้องเสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดก่อน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ ไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาล มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่น

พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

 
 

(จรัส พวงมณี - ชวลิต ยอดเณร - พิทยา บุญชู)

 

       ศาลแรงงานกลาง - นายเลิศชัย ภักดีฉนวน

       ศาลอุทธรณ์

 

แหล่งที่มา     (DEKA2000)


อัพเดทล่าสุด